ปืนต่อสู้อากาศยาน ZU-23-2 ขนาด 23 มิลลิเมตร ของสหภาพโซเวียต

ภาพปืนต่อสู้อากาศ ZU-23-2 ในพิพิธภัณฑ์ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Public Domain)

ZU-23-2 เป็นปืนต่อสู้อากาศยานลากจูงขนาด 23 มิลลิเมตร 2 ลำกล้อง ที่สหภาพโซเวียตพัฒนาขึ้นช่วงปลายยุค 50 และเข้าประจำการในปี ค.ศ.1960 เป็นยุทโธปกรณ์ที่ถูกใช้งานแพร่หลายมากที่สุดรุ่นหนึ่ง สหภาพโซเวียตผลิตปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นนี้ออกมามากกว่า 140,000 กระบอก นอกจากนี้ยังถูกผลิตภายใต้สิทธิบัตรในประเทศบัลแกเรีย โปแลนด์ อียิปต์ และจีน

ปืนต่อสู้อากาศยาน ZU-23-2 มีน้ำหนัก 950 กิโลกรัม มีขนาดยาว 4.57 เมตร กว้าง 2.88 เมตร สูง 1.22 เมตร มีขนาดความกว้างปากลำกล้อง 23 มิลลิเมตร ใช้กระสุนขนาด 23 x 152 มิลลิเมตร มีอัตราการยิงสูงสุด 2 ลำกล้องรวมกันมากกว่า 2,000 นัดต่อนาที แต่ปกติจะทำการยิงเป็นชุด ที่อัตราการยิงไม่เกิน 400 นัดต่อนาที เพื่อไม่ให้ลำกล้องร้อนเกินไป สามารถทำการยิงเป้าหมายอากาศยานที่ระยะยิงไกลสุดประมาณ 2.5 กิโลเมตร แต่ถ้าใช้กับเป้าหมายภาคพื้นดินจะมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเตรียมการยิงเพียง 30 วินาที ใช้พลประจำปืน 5 นาย

ZU-23-2 ถูกใช้งานในสนามรบจริงครั้งแรกในสงครามเวียดนาม โดยโซเวียตได้ส่ง ZU-23-2 พร้อมปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นอื่นๆเช่นปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มิลลิเมตร M1939 (61-K) ให้เวียดนามเหนือจำนวนมาก ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีเครื่องบินรบของสหรัฐฯถูก ZU-23-2 ยิงตกกี่ลำ แต่พิจารณาจากข้อมูลสถิติว่ากองทัพอากาศสหรัฐฯสูญเสียเครื่องบินรบไปมากกว่า 2,000 ลำในสงครามเวียดนาม (ถ้ารวมอากาศยานทุกประเภทของทุกเหล่าทัพ สหรัฐฯจะสูญเสียอากาศยานไปในสงครามเวียดนามมากกว่า 10,000 ลำ) โดยความสูญเสียเครื่องบินรบของสหรัฐฯมากกว่า 80% เกิดจากการถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงตก ขณะพยายามบินต่ำเพื่อหลบเรดาร์ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-75 Dvina (SA-2 Guideline) จึงมีความเป็นไปได้ว่ามีเครื่องบินรบสหรัฐฯหลายร้อยลำที่อาจจะถูก ZU-23-2 ยิงตก

นอกจากเวียดนามเหนือแล้ว โซเวียตก็ได้ส่ง ZU-23-2 ให้กลุ่มประเทศอาหรับใช้ในสงครามกับอิสราเอลด้วย อิสราเอลสามารถยึดปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นนี้ได้เป็นจำนวนมาก

ระหว่างปฏิบัติการของโซเวียตในอัฟกานิสถาน โซเวียตพบว่าการติดตั้ง ZU-23-2 บนรถบรรทุก, รถสายพานลำเลียงพล MT-LB หรือรถสายพานลำเลียงพลร่ม BTR-D มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้งานแบบลากจูง เพราะช่วยเพิ่มความคล่องตัว สามารถทำการยิงขณะเคลื่อนที่ได้ ช่วยให้การคุ้มกันขบวนคอนวอยจากการซุ่มโจมตีของกลุ่มมูจาฮิดีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ก็ได้มอบ ZU-23-2 ไว้ให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของอัฟกานิสถานใช้งานจำนวนมาก แต่เมื่อรัฐบาลล่มสลายลง ปืนต่อสู้อากาศยานเหล่านี้ก็ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มตาลีบัน และพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance) ใช้สู้รบกันเอง จนกระทั่งสหรัฐฯบุกอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.2001

ZU-23-2 ยังถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในแทบทุกสมรภูมิตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามเชชเนีย สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย สงครามลิเบีย สงครามซีเรีย การสู้รบในดอนบาส ฯลฯ

ปัจจุบันกองทัพรัสเซียยังคงใช้งาน ZU-23-2 อยู่ โดยมักจะติดตั้งบนรถบรรทุก นอกจากรัสเซียแล้ว ปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นนี้ยังมีประจำการในกองทัพประเทศต่างๆมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เช่นอัฟกานิสถาน แอลจีเรีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน บัลแกเรีย เบลารุส เวเนซุเอลา อียิปต์ กรีซ ซิมบับเว อินเดีย อิรัก อิหร่าน เลบานอน ลิเบีย โมซัมบิก เปรู โปแลนด์ ซีเรีย ซูดาน ยูเครน เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม ฯลฯ

สวัสดี

01.08.2021

คลิปพลร่มยูเครนฝึกใช้งานปืนต่อสู้อากาศยาน ZU-23-2

แสดงความคิดเห็น