
(Central Intelligence Agency – CIA / Public Domain)
หลังสหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถานมาได้ประมาณ 6 ปี ในปี ค.ศ.1985 กลุ่มการเมืองในสหรัฐฯหลายกลุ่มเริ่มมองว่าในช่วงที่่ผานมา สำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency หรือ CIA) ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธมูจาฮิดีน (Mujahideen) ไม่เพียงพอ ไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กองทัพโซเวียตได้มากนัก สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่สหรัฐฯต้องการปกปิดปฏิบัติการดังกล่าวเป็นความลับ อาวุธที่กลุ่มมูจาฮิดีนได้รับจึงมักจะเป็นอาวุธค่ายโซเวียต ที่จัดหาจากประเทศที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกับโซเวียตมาก่อนเช่นจีน อียิปต์ หรือไม่ก็จัดหาจากตลาดมืด ซึ่งอาวุธเหล่านี้มักจะล้าสมัยแล้ว หรือได้รับการบำรุงรักษาไม่ดีพอจนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้งาน นอกจากนี้การส่งอาวุธเข้าไปสนับสนุนกลุ่มมูจาฮิดีนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 Hind ของโซเวียตทำการบินลาดตระเวนบริเวณชายแดนอัฟกานิสถานตลอดเวลา แนวคิดที่จะส่งจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า FIM-92 Stinger ของสหรัฐฯให้กลุ่มมูจาฮิดีนจึงถือกำเนิดขึ้น
แนวคิดที่จะส่งจรวด Stinger ให้กลุ่มมูจาฮิดีนส่งผลให้เกิดการถกเถียงขึ้นในรัฐบาลสหรัฐฯของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เนื่องจากถ้าสหรัฐฯส่งจรวด Stinger ให้กลุ่มมูจาฮิดีน เท่ากับสหรัฐฯเปิดหน้าสนับสนุนกลุ่มมูจาฮิดีนเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ อาจส่งผลให้สงครามเย็นตึงเครียดมากขึ้น นอกจากนี้จรวด Stinger ก็เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ พึ่งเข้าประจำการได้ไม่นาน กองทัพสหรัฐฯยังรับมอบเข้าประจำการได้ไม่ครบเลย ถ้าส่งให้กลุ่มมูจาฮิดีนนำไปใช้แล้วถูกทหารโซเวียตยึดได้ ก็มีโอกาสที่เทคโนโลยีทางทหารใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯจะตกไปอยู่ในมือของโซเวียต
นอกจากสหรัฐฯแล้ว รัฐบาลปากีสถานซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มมูจาฮิดีน และเป็นทางผ่านอาวุธที่สหรัฐฯส่งเข้าไปในอัฟกานิสถาน ก็เกิดความลังเลเช่นกัน เนื่องจากเป็นกังวลว่าถ้าปากีสถานเปิดหน้าให้การสนับสนุนกลุ่มมูจาฮิดีนชัดเจนมากเกินไป สหภาพโซเวียตอาจจะบุกปากีสถานก็ได้
แม้รัฐบาลสหรัฐฯและปากีสถานจะลังเล แต่เมื่อสถานการณ์ของกลุ่มมูจาฮิดีนเริ่มเลวร้าย กำลังรบและยุทโธปกรณ์ร่อยหรอลง คนรุ่นใหม่เริ่มไม่อยากเข้าร่วมสงครามศาสนาหรือญิฮาด (Jihad) สุดท้าย CIA และหน่วยข่าวกรองปากีสถานก็สามารถผลักดันให้มีการส่งจรวด Stinger เข้าไปในอัฟกานิสถานได้สำเร็จ โดยรัฐบาลสหรัฐฯอนุมัติให้ทำการส่งท่อยิง Stinger จำนวน 250 ท่อยิงและจรวด 1,000 ลูกให้กลุ่มมูจาฮิดีนในปี ค.ศ.1986
จรวด Stinger ถูกใช้งานครั้งแรกในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1986 โดยกลุ่มมูจาฮิดีนสามารถยิงเฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-24 ของโซเวียตตก 2 ลำ ขณะกำลังลงจอดที่สนามบินจาลาลาบัด (Jalalabad) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ก็มีเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตถูกยิงตกเป็นจำนวนมาก กองทัพอากาศโซเวียตยังสูญเสียเครื่องบินโจมตี Sukhoi Su-25 ไปอีก 4 ลำด้วย การมาถึงของจรวด Stinger ส่งผลให้กลุ่มมูจาฮิดีนมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
กองทัพโซเวียตทำการเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่เพื่อรับมือจรวด Stinger โดยกำหนดให้อากาศยานต้องทำการบินที่เพดานบินสูงกว่า 5 กิโลเมตร และเวลาขึ้นลงสนามบินต้องมีเฮลิคอปเตอร์โจมตีทำการบินคุ้มกันทุกครั้ง โดยเครื่องบินลำเลียงให้ปฏิบัติการได้เฉพาะเวลากลางคืน กองทัพโซเวียตยังส่งสเปซนาซออกไปไล่ล่าทีมจรวด Stinger และสามารถยึดจรวด Stinger ในสภาพสมบูรณ์และเอกสารข้อมูลทางเทคนิคได้จำนวน 8 ชุด วิศวกรโซเวียตได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการอัพเกรดระบบป้องกันตัวของเครื่องบินโจมตี Su-25
สหรัฐฯอ้างว่าจรวด Stinger สามารถยิงเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตตกมากกว่า 250 ลำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้สหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตามตัวเลขของสหรัฐฯนั้นอ้างอิงจากคำกล่าวอ้างของกลุ่มมูจาฮิดีน ซึ่งอาจจะสูงเกินจริง ข้อมูลฝั่งโซเวียตระบุว่ามีเครื่องบินรบถูกยิงตกเพียง 35 ลำและเฮลิคอปเตอร์ 63 ลำ นอกจากนี้นายมิฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียตก็มีแนวคิดที่จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ.1985 ก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะส่งจรวด Stinger ให้กลุ่มมูจาฮิดีนเสียอีก เอกสารรายงานการประชุมของคณะโปลิตบูโรก็ไมไ่ด้กล่าวถึงจรวด Stinger แต่อย่างใด
ไม่ว่าจรวด Stinger จะสามารถยิงเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตตกได้จริงกี่ลำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจรวด Stinger มีผลกระทบต่อปฏิบัติการทางทหารของโซเวียตในอัฟกานิสถาน กองทัพอากาศโซเวียตต้องเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ เช่นการที่เครื่องบินรบของโซเวียตต้องทำการบินที่เพดานบินสูง ส่งผลให้ความแม่นยำในการโจมตีทางอากาศลดลง เป็นต้น
สวัสดี
03.08.2021