
(Joseph A. Lambach, U.S. Marine Corps)
รถถัง M1A1 Abrams ของสหรัฐฯ พัฒนาต่อยอดมาจากรถถัง M1 Abrams โดยบริษัท General Dynamics เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.1985 และเข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯเมื่อปี ค.ศ.1986 อยู่ในสายการผลิตจนถึงปี ค.ศ.1992 ถูกผลิตออกมามากกว่า 4,800 คัน
รถถัง M1A1 Abrams มีน้ำหนัก 63 ตัน มีความยาว 9.83 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า ส่วนตัวรถมีขนาดยาว 7.92 เมตร กว้าง 3.66 เมตร สูง 2.44 เมตร มีพลประจำรถ 4 นายได้แก่ ผบ.รถถัง พลขับ พลยิง และพลบรรจุ ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 120 มิลลิเมตร รุ่น M256 ซึ่งสหรัฐฯซื้อสิทธิบัตรปืนใหญ่ L/44 จากบริษัท Rheinmetall ของเยอรมนีมาผลิตเอง บรรทุกกระสุน 40 นัด, ปืนกลหนัก M2HB ขนาด 12.7 มิลลิเมตร และปืนกล M240 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร 2 กระบอก กระบอกหนึ่งเป็นปืนกลร่วมแกน อีกกระบอกหนึ่งติดตั้งบนหลังคารถ เกราะของรถถัง M1A1 Abrams ผลิตจากวัสดุคอมโพสิตและมีการเสริมแผ่นเกราะผลิตจากยูเรเนียมที่เสื่อมสภาพแล้วบริเวณด้านหน้าของป้อมปืน ส่งผลให้เกราะมีความหนาขึ้นมาก แต่ก็มีน้ำหนักมากเช่นกัน ระบบขับเคลื่อนของ M1A1 Abrams ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Avco Lycoming (ปัจจุบันคือบริษัท Honeywell) AGT1500 ขนาด 1,500 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 67 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 465 กิโลเมตร เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์มีข้อดีคือสามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลายชนิด เสียงค่อนข้างเบา และมีกำลังสูง สามารถรองรับน้ำหนักที่มากของรถถัง M1A1 Abrams ได้ แต่ก็มีข้อเสียคือต้องการการบำรุงรักษาสูง และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก
ปัจจุบันกองทัพบกสหรัฐฯยังมี M1A1 Abrams ประจำการอยู่ประมาณ 750 คัน ที่เหลือส่วนใหญ่ได้ถูกเก็บเข้าคลังสำรอง หรืออัพเกรดเป็นรถถัง M1A2 Abrams แล้ว ส่วนนาวิกโยธินสหรัฐฯเคยมีรถถัง M1A1 Abrams ใช้งานอยู่ประมาณ 400 คัน ก่อนจะปลดเข้าคลังสำรองไปเมื่อปี ค.ศ.2020
นอกจากสหรัฐฯแล้ว รถถัง M1A1 Abrams ยังมีประจำการในประเทศออสเตรเลีย อียิปต์ อิรัก และโมร็อกโก โดยอียิปต์เป็นลูกค้าต่างประเทศของรถถัง M1A1 Abrams รายใหญ่ที่สุด มีประจำการมากกว่า 1,130 คัน รวมถึงมีสายการผลิตภายในประเทศด้วย อย่างไรก็ตามรถถัง M1A1 Abrams รุ่นส่งออกจะไม่มีแผ่นเกราะยูเรเนียม
สวัสดี
09.08.2021