
(One half 3544/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 กองทัพอากาศสหรัฐฯได้รับมอบจรวดอากาศสู่พื้น AGM-12 Bullpup เข้าประจำการ จรวดรุ่นนี้มีระยะยิง 7 กิโลเมตร ไกลกว่าระยะยิงของปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ZSU-23-4 Shilka และระบบป้องกันภัยทางอากาศ 9K31 Strela-1 หรือ SA-9 Gaskin ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์หลักที่กองทัพโซเวียตใช้ป้องกันภัยทางอากาศให้หน่วยทหารในแนวหน้าสุดในขณะนั้น กองทัพโซเวียตจึงมีความต้องการระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่ที่มีระยะยิงไกลกว่าเดิม เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามนี้
นอกจากระยะยิงที่ไกลขึ้นแล้ว กองทัพโซเวียตยังต้องการให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่มีความคล่องตัวสูง รวมระบบทุกอย่างทั้งเรดาร์และท่อยิงจรวดไว้ในรถคันเดียวกัน แข่งขันกับสหรัฐฯที่กำลังพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศ MIM-46 Mauler ที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน ปรากฏว่ากระบวนการออกแบบและพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศที่รวมทุกอย่างไว้บนรถคันเดียวนั้นมีความซับซ้อนมาก โครงการของสหรัฐฯไม่ประสบความสำเร็จและถูกยกเลิกไปในที่สุด ขณะที่โครงการของโซเวียตก็ใช้เวลาถึง 10 ปีจึงจะประสบความสำเร็จ ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่ของโซเวียตเข้าประจำการในปี ค.ศ.1971 มีชื่อว่า 9K33 Osa (ภาษารัสเซียอ่านว่า “อะซ่า” เพราะตัว O ไม่เน้นเสียง ชื่อแปลว่าต่อหรือ Wasp) ส่วนชื่อในระบบ NATO คือ SA-8 Gecko (ตุ๊กแก)
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Osa ใช้แคร่รถล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบก BAZ-5937 มีน้ำหนัก 18 ตัน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 2D20B ขนาด 300 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 500 กิโลเมตร สามารถเคลื่อนที่ในน้ำด้วยความเร็ว 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรดาร์มีระยะตรวจจับ 30 กิโลเมตร รถฐานยิง Osa รุ่นแรกๆมีจรวด 9M33 จำนวน 4 ลูก ระยะยิง 10 กิโลเมตร ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการพัฒนาต่อยอดเป็นรุ่น Osa-AK และ Osa-AKM ใช้จรวดรุ่น 9M33M2 และ 9M33M3 ตามลำดับ มีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 15 กิโลเมตร และจำนวนจรวดบนรถฐานยิงเพิ่มขึ้นเป็น 6 ลูก
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Osa ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในสงครามกลางเมืองเลบานอน, สงครามกลางเมืองอังโกลา, สงครามอ่าวเปอร์เซีย, สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย, สงครามซีเรีย, สงครามกลางเมืองเยเมน และกรณีพิพาทนาร์กอโน-คาราบัค
ระหว่างการสู้รบในนาร์กอโน-คาราบัคช่วงปลายปี ค.ศ.2020 ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Osa ของอาร์เมเนีย สามารถยิงเครื่องบินโจมตี Sukhoi Su-25 ของอาเซอร์ไบจานตก แต่ Osa จำนวนมากกลับถูกทำลายโดยโดรน Bayraktar TB2 ผลิตในตุรกี แสดงให้เห็นว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้ไม่เหมาะสำหรับใช้รับมืออากาศยานประเภทโดรน
ปัจจุบันระบบป้องกันภัยทางอากาศ Osa ยังมีประจำการในประเทศแอลจีเรีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส บัลแกเรีย คิวบา เอกวาดอร์ จอร์เจีย กรีซ อินเดีย จอร์แดน ลิเบีย โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน และยูเครน
สวัสดี
11.08.2021