
ผมสนับสนุนให้กองทัพไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทหารนานาชาติหรือ International Army Games ซึ่งกระทรวงกลาโหมรัสเซียเป็นผู้ริเริ่มจัดขึ้นมาหลายปีแล้ว ไม่ใช่เพราะว่าผมอวยรัสเซีย และไม่ใช่เพราะการแข่งขันนี้จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไทยมากกว่าการแข่งขันหรือการซ้อมรบทางทหารทุกรายการทั่วโลก ทั้งที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่านี่เป็นการแข่งขันกีฬาหรือ Game ไม่ใช่การซ้อมรบ แต่ผมสนับสนุนให้กองทัพไทยเข้าร่วมการแข่งขันนี้เพื่อประชาสัมพันธ์กองทัพไทยในระดับโลก เพราะการแข่งขัน International Army Games ได้พัฒนาขยายตัวไปมาก มีประเทศต่างๆเข้าร่วมประมาณ 40 ประเทศ มีการแข่งขันประเภทต่างๆมากกว่า 30 รายการ หลายรายการมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกตลอดการแข่งขัน คนทั่วโลกจะได้เห็นกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมการแข่งขันได้แสดงขีดความสามารถให้เห็นกับตา ไม่ได้เป็นเพียงสรุปข่าวต้นชั่วโมงหรือเรื่องเล่าให้เฉพาะคนที่สนใจด้านการทหารไปขุดคุ้ยมาเล่าสู่กันฟังในกลุ่มปิดลับเท่านั้น แต่เมื่อผมได้ลองคิดดูอีกที บางทีสิ่งสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่การประชาสัมพันธ์กองทัพไทยให้ต่างชาติดู แต่เป็นการนำชัยชนะกลับมาให้คนไทยต่างหาก
เมื่อเอ่ยชื่อกองทัพของประเทศมหาอำนาจทางทหารระดับแนวหน้าเช่นสหรัฐฯ รัสเซีย จีน อิสราเอล ตุรกี ฯลฯ เราจะนึกถึงอะไร ? กองทัพที่มีกำลังพลจำนวนมากและมีขีดความสามารถสูง ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มาคู่กับชื่อกองทัพประเทศเหล่านี้คือชัยชนะ เมื่อเราได้ยินข่าวกองทัพประเทศเหล่านี้ออกปฏิบัติการ เราเชื่อว่ากองทัพของประเทศเหล่านี้จะสามารถมีชัยชนะเหนือฝ่ายตรงข้ามได้อย่างรวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด แบบที่ฝรั่งเรียกว่า Shock and Awe ซึ่งที่ผ่านมากองทัพประเทศเหล่านี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง อาจจะมีข้อยกเว้นแค่กองทัพจีนที่ไม่ได้ออกรบจริงมานานแล้วตั้งแต่สมัยสงครามสั่งสอนเวียดนามในปี ค.ศ.1979 ผมเชื่อว่าการที่คนจำนวนมากทั่วโลกนิยมชมชอบกองทัพประเทศเหล่านี้ เพราะต้องการมีส่วนร่วมในชัยชนะดังกล่าวด้วย
สำหรับกองทัพไทย แม้ในสมรภูมิ เราจะมีชัยชนะเหนือเมียนมาร์ในการสู้รบที่เนิน 9631 ในปี ค.ศ.2001 และการปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาในปี ค.ศ.2011 แต่ทั้งสองเหตุการณ์ก็ผ่านมานานมากแล้ว และคนทั่วไป แทบไม่มีใครรู้รายละเอียดลึกๆเกี่ยวกับสมรภูมิดังกล่าวเลย ถ้าเป็นประวัติศาสตร์การรบของกองทัพไทยในอดีต เช่นในสงครามอินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามลับในลาว ฯลฯ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยมีค่าไม่ต่างจากวงเวียนรถติดแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯเท่านั้น

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการทบทวนการนำเสนอความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกองทัพไทยใหม่ ที่สำคัญนอกจากการนำเสนอประวัติศาสตร์การรบในอดีตแล้ว การหาโอกาสคว้าชัยชนะใหม่ๆมาให้คนไทยก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพไทยได้ เมื่อประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามกับประเทศไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแล้ว การเข้าร่วมการแข่งขันทางทหารกับกองทัพของต่างประเทศก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการคว้าชัยชนะดังกล่าว ทำนองเดียวกับนักกีฬาไทยที่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก International Army Games สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
แม้กองทัพไทยจะมียุทโธปกรณ์ค่ายรัสเซียและจีนใช้งานอยู่เป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม และเมียนมาร์ แต่ประเทศที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรายการต่างๆก็มียุทโธปกรณ์ให้ยืมใช้งานอยู่แล้ว และการเรียนรู้เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์เหล่านี้ไว้บ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ที่สำคัญการแข่งขันหลายรายการก็ไม่ได้ใช้ยุทโธปกรณ์ระดับสูงแต่อย่างใด ใช้เพียงอาวุธประจำกายอย่างปืนเล็กยาวตระกูล AK, ระเบิดมือ, เครื่องยิงจรวด RPG-7, จรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า Igla-S เป็นต้น ซึ่งกองทัพไทยก็มีใช้งานอยู่ กองทัพไทยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมการแข่งขันให้ได้รับชัยชนะในทุกรายการก็ได้ แต่สามารถเลือกโฟกัสไปที่รายการที่เราถนัดไม่กี่รายการ แล้วทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด พร้อมกับจัดการประชาสัมพันธ์ให้แพร่หลาย ต่อให้เป็นการแข่งขันรายการเล็กๆ มีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมไม่มาก แต่อย่าลืมว่าคู่แข่งเรามีรัสเซียและจีนรวมอยู่ด้วยแน่นอน ถ้าเราสามารถทำผลงานได้ดีในระดับเดียวกับกองทัพประเทศมหาอำนาจ ผมเชื่อว่าจะไม่มีใครกังขาขีดความสามารถของกองทัพไทยอีก และคนไทยจะภูมิใจกับชัยชนะดังกล่าวครับ
การแข่งขัน International Army Games 2021 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 สิงหาคมถึงวันที่ 4 กันยายนนี้ จะให้กองทัพไทยเข้าร่วมการแข่งขันภายในปีนี้คงไม่ทันแล้ว แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เก็บข้อมูลและเตรียมตัวฝึกซ้อมสำหรับการแข่งขันในปีต่อๆไป
สวัสดี
16.07.2021
หมายเหตุ: ในปีหลังๆกระทรวงกลาโหมรัสเซียไม่ได้ทำคลิปไฮไลท์การแข่งขันแบบรวมทุกรายการแล้ว แต่จะทำเป็นวิดีโอสรุปการแข่งขันทั้งหมดความยาวประมาณครึ่งชั่วโมงแทน เข้าใจว่าสาเหตุหนึ่งมาจาก International Army Games ได้ขยายไปมาก จนไม่สามารถคัดเลือกเนื้อหาเพียงบางส่วนมาทำคลิปไฮไลท์ความยาวประมาณ 5 นาทีได้