
ช่วงปลายปี ค.ศ.2018 ถึงต้นปี ค.ศ.2019 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับหน่วยยานเกราะของลาว กระทรวงกลาโหมรัสเซียและลาวได้มีการเพิ่มความร่วมมือด้านการทหาร และสื่อดาวแดง Zvezda ซึ่งเป็นสื่อในสังกัดกระทรวงกลาโหมรัสเซียก็ได้มาทำสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับหน่วยยานเกราะของลาวซึ่งยังคงมีรถถัง T-34/85 ของสหภาพโซเวียตจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองจำนวน 30 คันประจำการอยู่ เมื่อคนรัสเซียซึ่งให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์มหาสงครามรักชาติ (The Great Patriotic War) ได้ดูสกู๊ปข่าวดังกล่าว ก็แสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันว่ารัสเซียควรขอรถถังชุดดังกล่าวกลับมายังรัสเซีย แลกกับรถถังรุ่นใหม่เช่นรถถัง T-72 ให้กองทัพลาวไปใช้งาน แม้ความจริงแล้วรถถัง T-34/85 ของลาวจะเป็นรุ่นที่ผลิตในเชโกสโลวาเกียในช่วงยุค 50 ไม่ใช่ของแท้จากยุคสงครามโลกก็ตาม
หลังสื่อ Zvezda เผยแพร่สกู๊ปข่าวดังกล่าวไม่นาน ก็มีข่าวว่าลาวได้รับมอบรถถัง T-72B1MS White Eagle (อินทรีขาว) จากรัสเซีย และต่อมาในช่วงต้นปี ค.ศ.2019 ก็มีข่าวว่าลาวได้ส่งมอบรถถัง T-34/85 ทั้ง 30 คันให้รัสเซีย ซึ่งต่อมารัสเซียก็ได้นำไปใช้ในการสวนสนามวันแห่งชัยชนะ (Victory Day) ที่จัตุรัสแดง กรุงมอสโก และในเมืองสำคัญต่างๆ
รถถัง T-72B1MS เปิดตัวครั้งแรกในงานนิทรรศการ Engineer Technologies ในปี ค.ศ.2012 เกิดจากการนำรถถัง T-72B จากยุคโซเวียต มาปรับปรุงระบบภายในตัวรถให้ทันสมัยขึ้น เช่นติดตั้งกล้องเล็งแบบ PN-72U Sosna-U สำหรับพลยิง, กล้อง CITV สำหรับ ผบ.รถถังรุ่น PKP-72 Falcon’s Eye, ระบบติดตามเป้าหมายอัตโนมัติ, ระบบนำทาง GPS/ GLONASS เป็นต้น ส่งผลให้รถถังรุ่นนี้มีระบบภายในที่ทันสมัยกว่ารถถัง T-72B3M รุ่นล่าสุดที่กองทัพรัสเซียใช้เองเสียอีก (รถถัง T-72B3M ไม่มี CITV และระบบนำทาง พลประจำรถต้องใช้สมาร์ทโฟนไม่ก็ดูแผนที่ในการนำทาง)
แม้รถถัง T-72B1MS จะมีระบบภายในตัวรถที่ทันสมัย แต่คุณสมบัติอื่นๆไม่ต่างจากรถถัง T-72B และ T-72B1 รุ่นเก่ามากนัก รถถังรุ่นนี้มีน้ำหนัก 47.3 ตัน มีพลประจำรถ 3 นายได้แก่ ผบ.รถถัง พลขับ และพลยิง ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ, ปืนกลร่วมแกน PKT ขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนัก Kord ขนาด 12.7 มิลลิเมตร เกราะ ERA ยังคงใช้รุ่น Kontakt-1 และระบบขับเคลื่อนก็ยังคงใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-84MS ขนาด 840 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กล่าวโดยสรุป รถถัง T-72B1MS เป็นการนำรถถัง T-72B1 มาอัพเกรดระบบภายในตัวรถให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น แต่คุณสมบัติอื่นๆรวมถึงระบบป้องกันตัวยังเหมือนเดิม ส่งผลให้มีราคาถูก เป็นตัวเลือกสำหรับประเทศที่มีงบประมาณค่อนข้างน้อย ในขณะที่รถถัง T-72B3M จะมีการอัพเกรดทั้งระบบภายในตัวรถและระบบป้องกันตัว ส่งผลให้มีราคาแพงกว่า แต่ก็พัฒนาไปไม่สุดเช่นกันเพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณของรัสเซีย ซึ่งต้องการใช้รถถัง T-72B3M สำหรับขัดตาทัพรอรถถัง T-14 Armata เท่านั้น จริงๆแล้วรถถัง T-72 รุ่นอัพเกรดที่ทันสมัยที่สุดคือรถถัง T-72B2 Rogatka ซึ่งไม่มีโอกาสแจ้งเกิด เพราะราคาแพงเกินไป
อย่างไรก็ตามแม้รถถัง T-72B1MS จะมีดีแค่ระบบภายในตัวรถเท่านั้น แต่รถถังรุ่นนี้ก็ช่วยให้หน่วยยานเกราะของลาว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงรถถัง T-54/55 เท่านั้น มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างมาก และได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศอื่นๆบนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย เมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งต่างก็มีรถถังที่ติดปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตรใช้งานอยู่ คือรถถัง Oplot-M, VT-4, T-72S, T-90S และ PT-91M Pendekar เหลือเพียงกัมพูชาที่ยังคงใช้รถถัง T-55 ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 100 มิลลิเมตรอยู่
สวัสดี
14.08.2021