วิธีเดียวที่สหรัฐฯจะช่วยรัฐบาลอัฟกันได้คือต้องทุ่มกำลังเต็มรูปแบบกลับเข้าไปในอัฟกานิสถาน

ภาพโดย ErikaWittlieb จาก Pixabay

หลังสหรัฐฯและ NATO เริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไปได้ไม่กี่เดือน กลุ่มตาลีบันก็สามารถทำการรุกคืบเข้ายึดพื้นที่ต่างๆภายในอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็ว และปัจจุบันก็สามารถยึดครองเมืองสำคัญๆได้เกือบทั้งหมด เหลือเพียงเมืองหลวงคือกรุงคาบูลเท่านั้น ที่ยังอยู่ในมือของรัฐบาลอัฟกัน แต่จุดจบก็อาจจะมาถึงในไม่ช้า เมื่อกลุ่มตาลีบันค่อยๆรุกเข้ามาประชิดกรุงคาบูลมากขึ้นทุกที ขณะที่สหรัฐฯและพันธมิตรก็เร่งส่งทหารประมาณ 3,000 นายกลับเข้าไปในกรุงคาบูล เพื่ออพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตและพลเรือนของตนเองที่เหลืออยู่ออกมา คำถามที่เกิดขึ้นคือสหรัฐฯและรัฐบาลอัฟกันจะยังมีโอกาสพลิกสถานการณ์กลับมาเอาชนะกลุ่มตาลีบันได้หรือไม่

ก่อนอื่นผมอยากจะขอเปรียบเทียบสถานการณ์ของรัฐบาลอัฟกันในปัจจุบัน กับสถานการณ์ของรัฐบาลซีเรียในปี ค.ศ.2015 ก่อนที่กองทัพอากาศรัสเซียจะเริ่มปฏิบัติการในซีเรีย ถ้าจำกันได้ขณะนั้นกลุ่มรัฐอิสลามหรือ IS สามารถยึดครองพื้นที่บริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของซีเรียได้เกือบทั้งหมด ขณะที่เมืองสำคัญทางภาคตะวันตกหลายแห่งก็อยู่ในมือของกลุ่มกบฏและเครือข่ายอัลกออิดะห์ กองทัพรัฐบาลซีเรีย (Syrian Arab Army – SAA) ถูกผลักดันถอยร่นไปทางตะวันตกจนแทบจะตกทะเลเมดิเตอเรเนียนอยู่แล้ว มีการสู้รบในพื้นที่หลายแห่งในกรุงดามัสกัส ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) เกือบจะพบจุดจบแบบเดียวกับมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) แห่งลิเบีย ซีเรียเกือบจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวแบบเดียวลิเบีย แต่แล้ววันที่ 30 กันยายน ค.ศ.2015 กองทัพอากาศรัสเซียก็เริ่มปฏิบัติการทางอากาศในซีเรีย โดยใช้ฐานทัพอากาศ Hmeymim ในจังหวัดลาตาเกีย (Latakia) เป็นศูนย์กลางของปฏิบัติการ ปัจจุบันรัฐบาลซีเรียยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง ขณะที่กองทัพซีเรียก็สามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกลับคืนมาได้

แม้กองทัพอากาศรัสเซียจะมีบทบาทสำคัญในการพลิกสถานการณ์ให้กองทัพรัฐบาลซีเรีย แต่ลำพังยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเช่นเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด Su-34, เฮลิคอปเตอร์โจมตี Mi-28 Havoc, เฮลิคอปเตอร์โจมตี Ka-52 Alligator, จรวดร่อน Kalibr ฯลฯ จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าไม่มีกำลังรบภาคพื้นดินทั้งทหารซีเรีย กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ กลุ่มติดอาวุธอื่นๆที่อิหร่านให้การสนับสนุน รวมถึงสเปซนาซและทหารรับจ้างวากเนอร์ (Wagner) ของรัสเซีย เป็นกำลังหลักในการรุกรบยึดพื้นที่ต่างๆที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมา พูดง่ายๆคือแม้กำลังทางอากาศจะมีความสำคัญ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันก็คือทหารราบหรือ Boots on the ground

แม้สหรัฐฯจะทำการโจมตีทางอากาศกลุ่มตาลีบันมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ใช้อากาศยานทั้งเครื่องบินกันชิป AC-130, เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52, เครื่องบินขับไล่ F-15 และโดรน แต่กลับไม่สามารถชะลอการรุกของตาลีบันได้เลย สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่มีกำลังรบภาคพื้นดินที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง

ในทางทฤษฎี กองทัพอัฟกันมีกำลังพลมากกว่า 300,000 นาย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณ อาวุธยุทโธปกรณ์ และการฝึกยุทธวิธีต่างๆจากสหรัฐฯและ NATO ในขณะที่กลุ่มตาลีบันมีกำลังรบประมาณ 60,000 นายเท่านั้น ดูผิวเผินกองทัพอัฟกันนั้นมีกำลังรบเหนือกว่าตาลีบันมาก น่าจะเอาชนะตาลีบันได้ไม่ยาก แต่ทว่ากำลังรบของกองทัพอัฟกันจำนวนมากมีอยู่แค่ในกระดาษเท่านั้น ทหารอัฟกันจำนวนมากไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่เป็นทหารอัฟกันทิพย์ที่ถูกแต่งตัวเลขขึ้นมาเพื่อจะได้เบิกจ่ายงบประมาณออกมาเท่านั้น รัฐบาลและกองทัพอัฟกันมีการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร ทหารชั้นผู้น้อยจำนวนมากไม่ได้รับเงินเดือน ไม่มีขวัญกำลังใจสู้รบ ประกอบกับสังคมอัฟกานิสถานโดยพื้นฐานนั้นเป็นสังคมชนเผ่า ทหารอัฟกันจำนวนมากมีความจงรักภักดีต่อเผ่าหรือหมู่บ้านของตนมากกว่ารัฐบาลกลางที่กรุงคาบูลอยู่แล้ว ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ทหารอัฟกันจำนวนมากหนีทัพหรือไม่ก็ย้ายข้างไปเข้ากับตาลีบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตาลีบันสามารถยึดพื้นที่ได้เร็วมาก เหมือนไม่มีการต่อต้านเลย ดังนั้นต่อให้สหรัฐฯโจมตีทางอากาศตาลีบันหนักแค่ไหน เมื่อไม่มีกำลังรบภาคพื้นดินไว้ยึดพื้นที่แล้วก็ไม่มีประโยชน์

เมื่อไม่สามารถพึ่งพากองทัพอัฟกันได้ วิธีการเดียวที่จะหยุดกลุ่มตาลีบันได้คือต้องส่ง Boots on the ground จากภายนอกเข้าไป ซึ่งกำลังรบภาคพื้นดินในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่หน่วยรบพิเศษไม่กี่พันนาย แต่ต้องมีทหารราบอย่างน้อยหลายหมื่นนาย หรือถ้าจำเป็นก็อาจต้องใช้ถึงหลักแสนนาย พร้อมอาวุธหนักเต็มรูปแบบทั้งยานเกราะ รถถัง ปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้อง เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขับไล่ ฯลฯ ทำนองเดียวกับตอนที่สหรัฐฯบุกอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.2001 และตอนบุกอิรักปี ค.ศ.2003 เลยทีเดียว พูดง่ายๆคือเป็นการเริ่มต้นใหม่หรือ Set Zero กันเลยทีเดียว ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจและขวัญกำลังใจของคนอเมริกันในปัจจุบัน สหรัฐฯไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติการดังกล่าวได้

เมื่อไม่มีกำลังรบภาคพื้นดินที่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีอะไรจะหยุดตาลีบันไม่ให้ยึดกรุงคาบูลได้แล้ว ผมคิดว่าตอนนี้ทุกฝ่ายควรเตรียมตัวดูเหตุการณ์กรุงไซ่ง่อนแตก 2.0 ในช่วงเวลาใกล้วันครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 9/11 ได้แล้วล่ะครับ

สวัสดี

15.08.2021

แสดงความคิดเห็น