ขีดความสามารถระบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk-M3 Viking ของรัสเซีย

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk-M3 ของรัสเซียในงานแสดงอาวุธ Army-2018
(Nickel nitride/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk-M3 ของรัสเซีย ผลิตโดยบริษัท Almaz-Antey เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศตระกูล Buk รุ่นใหม่ล่าสุด เริ่มพัฒนาในปี ค.ศ.1990 แต่ถูกระงับไว้ชั่วคราว เนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและปัญหาเศรษฐกิจของรัสเซียในช่วงยุค 90 กว่ารัสเซียจะปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้งก็ต้องรอถึงปี ค.ศ.2007 Buk-M3 พึ่งจะได้เข้าประจำการในกองทัพรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.2016 และต่อมาในปี ค.ศ.2018 ก็มีการเปิดตัวรุ่นส่งออกชื่อ Viking

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk-M3 เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยกลาง ออกแบบมาใช้จัดการเป้าหมายทั้งเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธพิสัยใกล้ จรวดร่อน ฯลฯ สามารถติดตามเป้าหมายได้พร้อมกัน 36 เป้าหมาย และสามารถปฏิบัติการภายใต้สภาวะสงครามอิเล็กทรอนิกส์ได้ (ป้องกันการถูกแจมจากฝ่ายตรงข้าม) รถฐานยิงแบบมีเรดาร์ควบคุมการยิงในตัวจะบรรทุกจรวด 6 ลูก ส่วนรถฐานยิงแบบไม่มีเรดาร์ในตัวจะบรรทุกจรวด 12 ลูก ปกติจะใช้งานคู่กัน Buk-M3 รุ่นที่รัสเซียใช้เองมีระยะยิง 70 กิโลเมตร

Buk-M3 รุ่นส่งออกมีชื่อว่า Viking มีระยะยิง 65 กิโลเมตร สั้นกว่ารุ่นที่รัสเซียใช้เอง อย่างไรก็ตามระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้มีจุดเด่นตรงที่สามารถใช้งานร่วมกับรถฐานยิงของระบบป้องกันภัยทางอากาศ Antey-2500 (รุ่นส่งออกของ S-300VM) ได้ ส่งผลให้ระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 130 กิโลเมตร ประเด็นนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะจริงๆแล้วจรวดของ Antey-2500 มีระยะยิง 200 กิโลเมตร แต่เมื่อนำมาใช้กับ Viking แล้วระยะยิงลดเหลือ 130 กิโลเมตร น่าจะเกิดจากข้อจำกัดเรื่องระยะตรวจจับเรดาร์ของ Viking นั่นเอง ดังนั้นรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมที่สุดก็คงเป็นการวางกำลัง Antey-2500 และ Viking ร่วมกันเป็นเครือข่าย คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สวัสดี

19.08.2021

คลิประบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk-M3 และ Buk-M2 ของรัสเซีย

แสดงความคิดเห็น