การซ้อมรบโดยแชร์ยุทโธปกรณ์กัน: ทางเลือกประหยัดงบประมาณ และเพิ่มความร่วมมือทางทหาร

ภาพทหารลาวใช้รถถัง T-72B รุ่นปี 1989 ของรัสเซียในการซ้อมรบร่วม Laros-2021 ที่ประเทศรัสเซีย (Mil.ru)

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในภาคตะวันออกไกลของรัสเซียมีการซ้อมรบร่วมกันระหว่างรัสเซียและลาวชื่อรหัส Laros-2021 มีกำลังพลจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมประมาณ 500 นาย ที่น่าสนใจคือแม้ในการซ้อมรบร่วมครั้งนี้จะมีการใช้อาวุธหนักตั้งแต่ยานเกราะ ไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์โจมตี Ka-52 Alligator และเครื่องบินโจมตี Su-25 Frogfoot แต่ลาวไม่ต้องลงทุนขนอาวุธหนักจากลาวไปถึงรัสเซียแต่อย่างใด โดยทหารลาวได้ใช้รถถัง T-72B รุ่นปี 1989 ของกองทัพรัสเซียในการซ้อมรบ พูดง่ายๆคือทหารลาวไปรัสเซียแต่ตัวแล้วใช้อาวุธที่กองทัพรัสเซียจัดให้

คลิปทหารลาวใช้รถถัง T-72B รุ่นปี 1989 ของรัสเซียในการซ้อมรบร่วม Laros-2021 ที่ประเทศรัสเซีย

การซ้อมรบร่วมระหว่างรัสเซียและลาวครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง หากย้อนกลับไปครั้งที่แล้วคือการซ้อมรบร่วม Laros-2019 ที่จัดขึ้นในประเทศลาว ทหารรัสเซียก็มาแต่ตัวเช่นกัน แล้วใช้รถถัง T-72B1MS White Eagle ของกองทัพลาวในการซ้อมรบ รัสเซียไม่ต้องลงทุนขนอาวุธหนักมาถึงลาวเองแต่อย่างใด

ลาวไม่ใช่ประเทศเดียวที่แชร์อาวุธหนักกับรัสเซียในการซ้อมรบร่วม แม้แต่กองทัพบกอินเดียก็แชร์อาวุธหนักกับกองทัพบกรัสเซียระหว่างการซ้อมรบร่วม Indra เช่นกัน เช่นปีก่อนๆเวลาทหารรัสเซียไปซ้อมรบที่อินเดียก็จะได้ใช้งานรถถัง T-90S Bhishma ของกองทัพอินเดีย หรือล่าสุดในการซ้อมรบร่วม Indra-2021 ซึ่งปีนี้รัสเซียเป็นเจ้าภาพ ทหารอินเดียก็เดินทางมารัสเซียแต่ตัวแล้วใช้รถถัง T-90A Vladimir และรถรบทหารราบ BMP-3 ของรัสเซียในการซ้อมรบ

คลิปทหารอินเดียเรียนรู้การใช้งานรถถัง T-90A และรถรบทหารราบ BMP-3 ระหว่างการซ้อมรบร่วม Indra-2021 ที่ประเทศรัสเซีย

จากตัวอย่างของอินเดียและลาว หลายคนอาจมองว่าสองประเทศนี้ใช้อาวุธค่ายรัสเซียเป็นหลักอยู่แล้ว จึงสามารถแชร์อาวุธหนักกับกองทัพรัสเซีย ซึ่งใช้ยุทโธปกรณ์รุ่นหรือตระกูลเดียวกัน มีข้อแตกต่างแค่ระบบภายในบางอย่างเท่านั้น โดยไม่มีปัญหาติดขัดอะไร แต่ปรากฏว่าระหว่างการซ้อมรบร่วมระหว่างรัสเซียและจีนชื่อรหัส Sibu/Interaction 2021 ซึ่งพึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน ทหารรัสเซียก็ได้ทดลองใช้รถหุ้มเกราะล้อยาง ZBL-08 และรถหุ้มเกราะล้อยางติดปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร ZTL-11 ของจีน ซึ่งกองทัพรัสเซียไม่เคยมีใช้งานมาก่อนในการซ้อมรบเช่นกัน ดังนั้นการแชร์อาวุธหนักในการซ้อมรบร่วมกันจึงไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มประเทศที่ใช้อาวุธแบบเดียวกันแต่อย่างใด

คลิปทหารรัสเซียเรียนรู้การใช้งานรถหุ้มเกราะล้อยางของจีน ระหว่างการซ้อมรบร่วม Sibu/Interaction 2021 ที่ประเทศจีน

ผมคิดว่าแนวทางการแชร์อาวุธหนักในการซ้อมรบนั้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่กองทัพไทย โดยเฉพาะกองทัพบกจะนำมาปฏิบัติได้ เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพไทยไม่ค่อยได้ส่งกำลังพลออกไปฝึกนอกประเทศไกลๆมากนัก กำลังพลที่ส่งไปก็มักจะเป็นหน่วยขนาดเล็กพร้อมอาวุธประจำกายเท่านั้น และสเกลการฝึกก็ไม่ใหญ่นัก อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของงบประมาณ เพราะการลงทุนขนอาวุธหนักเช่นรถถัง ปืนใหญ่ ฯลฯ ไปกลับต่างประเทศต้องใช้งบประมาณไม่น้อย แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คือแทนที่จะต้องขนอาวุธหนักไปเองทั้งหมด เปลี่ยนเป็นการแชร์อาวุธหนักกับกองทัพต่างประเทศ แล้วทั้งสองฝ่ายลงทุนแค่ส่งกำลังพลพร้อมอาวุธประจำกายไปต่างประเทศเท่านั้น ก็จะช่วยให้กองทัพไทยสามารถเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับต่างประเทศได้มากขึ้น โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแต่อย่างใด

ตัวอย่างการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นในอนาคต ไทยอาจจะซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯบนแผ่นดินใหญ่ทวีปอเมริกาเหนือในสเกลที่ใหญ่ขึ้น โดยให้กองทัพสหรัฐฯจัดยุทโธปกรณ์แบบเดียวกับที่ไทยมีใช้งานอยู่เช่นรถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker, รถสายพานลำเลียงพล M113, ปืนใหญ่อัตตาจร M109, รถฮัมวี่ เป็นต้น ให้กองทัพไทยใช้งาน โดยทหารไทยนำอาวุธประจำกายติดตัวไปเท่านั้น เป็นต้น

นอกจากสหรัฐฯแล้ว ถ้าจะนำนโยบายนี้ไปใช้ในการซ้อมรบร่วมกับจีนก็ทำได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อทหารจีนมาไทย ก็อาจให้ทหารจีนใช้งานรถถัง VT-4, รถหุ้มเกราะล้อยาง VN-1, รถสายพานลำเลียงพล Type-85 เป็นต้น แล้วเมื่อไทยส่งทหารไปซ้อมรบที่จีน ก็ให้จีนจัดรถหุ้มเกราะล้อยาง ZBL-08 ให้ เป็นต้น สำหรับรถถังถ้าจีนหวงรถถัง Type-99 ก็อาจใช้รถถัง Type-96B แทนก็ได้ เรียนรู้ไว้ไม่เสียหาย เผื่อในอนาคตอาจขอยืมรถถังจีนไปแข่งรถถัง Tank Biathlon ใน International Army Games ด้วยก็ได้

นอกจากประเทศมหาอำนาจแล้ว นโยบายนี้อาจใช้กับประเทศระดับรองลงมาได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นถ้าไทยจะซ้อมรบร่วมกับยูเครนก็อาจทำได้ โดยให้ทหารยูเครนมาไทยแล้วใช้งานรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3E1 กับรถถัง Oplot-M แล้วในทางกลับกัน ทหารไทยก็อาจไปซ้อมรบที่ยูเครน โดยใช้ BTR-3 ของกองทัพยูเครน และถ้าจะถือโอกาสเรียนรู้การใช้งานรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-4, รถถัง T-64 และรถถัง T-80 ไว้บ้าง ผมก็มองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

สวัสดี

19.08.2021

แสดงความคิดเห็น