ขีดความสามารถรถถังหลัก M1A2 Abrams ของสหรัฐฯ

ภาพรถถัง M1A2 Abrams ของกองทัพบกสหรัฐฯในอิรัก ค.ศ.2005
(DoD photo By Staff Sgt. Aaron Allmon, U.S. Air Force.)

รถถัง M1A2 Abrams ของสหรัฐฯ พัฒนาต่อยอดมาจากรถถัง M1A1 Abrams เริ่มโครงการในปี ค.ศ.1988 และเข้าประจำการในปี ค.ศ.1992 รูปร่างภายนอกของรถถังทั้งสองรุ่นคล้ายกันมาก ยกเว้นรถถัง M1A2 Abrams จะมีกล้องจับความร้อนสำหรับ ผบ.รถถัง (CITV) ด้วย ความแตกต่างหลักๆจะอยู่ที่ระบบภายในตัวรถ

รถถัง M1A2 Abrams มีน้ำหนัก 69 ตัน มีความยาว 9.83 เมตรเมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า ส่วนตัวรถมีขนาดยาว 7.92 เมตร กว้าง 3.66 เมตร สูง 2.44 เมตร มีพลประจำรถ 4 นายได้แก่ ผบ.รถถัง พลขับ พลยิง และพลบรรจุ อาวุธหลักคือปืนใหญ่ M256 ขนาด 120 มิลลิเมตร ที่สหรัฐฯซื้อสิทธิบัตรปืนใหญ่ L/44 จากบริษัท Rheinmetall ของเยอรมนีมาผลิตเอง บรรทุกกระสุน 40 นัด ส่วนอาวุธรองได้แก่ ปืนกลหนัก M2HB ขนาด 12.7 มิลลิเมตร และปืนกล M240 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร 2 กระบอก กระบอกหนึ่งเป็นปืนกลร่วมแกน อีกกระบอกหนึ่งติดตั้งบนหลังคารถ เกราะผลิตจากวัสดุคอมโพสิตเรียกว่า Chobham และมีการเสริมแผ่นเกราะผลิตจากยูเรเนียมที่เสื่อมสภาพแล้วทางด้านหน้าของรถถัง ส่งผลให้เกราะมีความหนาขึ้นมาก แต่น้ำหนักก็มากขึ้นเช่นกัน ระบบขับเคลื่อนของ M1A2 Abrams ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Honeywell AGT1500 ขนาด 1,500 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 67 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 425 กิโลเมตร ข้อดีของเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์คือใช้เชื้อเพลิงได้หลายชนิด เสียงค่อนข้างเบา และมีกำลังสูง สามารถรองรับน้ำหนักที่มากของรถถัง M1A2 Abrams ได้ แต่ข้อเสียคือสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก และต้องการการบำรุงรักษาสูง

กองทัพบกสหรัฐฯจัดหารถถัง M1A2 Abrams เข้าประจำการมากกว่า 1,500 คัน โดยในจำนวนนี้ประมาณ 1,000 คัน อัพเกรดมาจากรถถัง M1 Abrams และ M1A1 Abrams รุ่นเก่า ปัจจุบันสายการผลิตรถถัง M1A2 Abrams ถูกปิดไปแล้ว แต่สหรัฐฯยังคงอัพเกรดรถถังรุ่นนี้เพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ และมีแผนจะใช้งานต่อไปอย่างน้อยถึงปี ค.ศ.2050 เลยทีเดียว

ลูกค้าต่างประเทศของรถถัง M1A2 Abrams ได้แก่คูเวตมีใช้งานอยู่ 218 คัน และซาอุดิอาระเบียมีใช้งานอยู่ 457 คัน โดยรถถัง M1A2 Abrams รุ่นส่งออกนั้นจะไม่มีแผ่นเกราะยูเรเนียม

สวัสดี

20.08.2021

คลิปรถถัง M1A2 Abrams ของสหรัฐฯ

แสดงความคิดเห็น