การใช้กีฬาทหารนานาชาติเพื่อเพิ่มความพรั่งพร้อมของกองทัพ

ภาพพลเอกเซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียระหว่างงานสวนสนามวันแห่งชัยชนะ 9 พฤษภาคม 2018
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

พลเอกเซอร์เกย์ ชอยกู (Sergey Shoigu) รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียได้ให้สัมภาษณ์สื่อดาวแดง Zvezda เกี่ยวกับเป้าหมายและประวัติความเป็นมาของการแข่งขันกีฬาทหารนานาชาติหรือ International Army Games (IAG) มีเนื้อหาบางช่วงน่าสนใจมากครับ พลเอก ชอยกูเล่าว่าเป้าหมายหลักของ IAG คือการเพิ่มความพรั่งพร้อมของกองทัพรัสเซีย เนื่องจากระหว่างการซ้อมรบทดสอบความพรั่งพร้อมโดยไม่แจ้งกำหนดล่วงหน้าในปี ค.ศ.2013 พบว่าหน่วยทหารรัสเซียหลายหน่วยมีความพร้อมรบต่ำ เขาจึงเกืดแนวคิดที่จะจัดการแข่งขันทางทหารขึ้น เพื่อกระตุ้นให้หน่วยทหารต่างๆมีความสนใจฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา เริ่มจากการแข่งขันรถถัง Tank Biathlon ก่อน แล้วค่อยๆขยายไปยังหน่วยทหารและยุทโธปกรณ์ประเภทอื่นๆมากขึ้น โดยในการแข่งขันรอบคัดเลือกภายในกองทัพรัสเซียปีนี้มีกำลังพลเข้าร่วมมากกว่า 459,000 นาย (ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนทหารประจำการของกองทัพรัสเซีย – ผู้เขียน) กำลังพลที่ชนะการแข่งขันภายในกองทัพรัสเซียก็จะได้เป็นตัวแทนลงแข่งระดับนานาชาติ สับเปลี่ยนกันไปทุกปี

จุดเริ่มต้นแนวคิดการจัดการแข่งขัน IAG ที่พลเอกชอยกูให้สัมภาษณ์ไว้ถือว่าน่าสนใจมากครับ เนื่องจากย้อนกลับไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กองทัพบกไทย สมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบกก็มีการริเริ่มจัดการแข่งขันหน่วยทหารทรหด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลเช่นกัน อย่างไรก็ตามการแข่งขันหน่วยทหารทรหดจะมุ่งเน้นไปที่หน่วยทหารขนาดเล็กของทหารราบและทหารม้าเป็นหลัก ประกอบกับไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์มากนัก คนทั่วไปเลยไม่ค่อยได้ทราบข่าวเท่าไหร่

ส่วนตัวผมคิดว่าถ้านำแนวคิดของพลเอกชอยกูมาปรับใช้ในกองทัพไทย จัดการแข่งขันระหว่างหน่วยทหารภายในกองทัพให้ครอบคลุมเหล่าทหารและยุทโธปกรณ์ประเภทต่างๆมากขึ้น พร้อมกับประชาสัมพันธ์หรือถ่ายทอดสดให้คนทั่วไปได้ดู นอกจากจะช่วยเพิ่มความพรี่งพร้อมของกองทัพไทยเองแล้ว ก็ยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพไปในตัวด้วย แม้รูปแบบการแข่งขันอาจจะต้องไปในแนวทางการแข่งกีฬา ให้คนทั่วไปเข้าใจการวัดผลคะแนนได้ไม่ยาก ต่างจากการซ้อมรบก็ตาม กำลังพลที่ชนะการแข่งขันก็อาจได้รับรางวัลเป็นสิทธิพิเศษต่างๆ เช่นได้เงินเดือนและสวัสดิการเพิ่ม มีโอกาสได้ศึกษาในหลักสูตรพิเศษต่างๆของกองทัพหรือไปศึกษาต่อในสถาบันทหารของต่างประเทศ รวมถึงได้เป็นตัวแทนของกองทัพไทยไปแข่งขันในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน IAG หรือการแข่งขันรายการอื่นๆก็ตาม

สวัสดี

22.08.2021

แสดงความคิดเห็น