BTR-152 รถหุ้มเกราะล้อยางยุค 50 ของสหภาพโซเวียต

ภาพรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-152 ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์รถถัง Kubinka
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตประสบปัญหามีรถกึ่งสายพานและรถบรรทุกไม่พอ สำหรับให้ทหารราบใช้ทำการรุกในแนวหน้าคู่กับรถถังได้ ต้องใช้วิธีติดราวจับให้ทหารราบเกาะไปบนตัวรถและป้อมปืนของรถถังเรียกว่า Tank desant แม้ยุทธวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องความขาดแคลนยานพาหนะได้ แต่ก็ติดปัยหาตรงที่ทหารราบที่นั่งอยู่บนรถถังนั้นไม่มีเกราะป้องกันตัวเลย ต่อมาเมื่อโซเวียตได้รับรถกึ่งสายพาน M3 และรถหุ้มเกราะล้อยาง M3 จากสหรัฐฯมาใช้งานตามโครงการยืม-เช่า (Lend-Lease) ก็เกิดแนวคิดที่จะพัฒนายานเกราะแบบเดียวกันขึ้นมาบ้าง

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1946 โซเวียตเริ่มพัฒนารถหุ้มเกราะล้อยาง 6×6 รุ่นใหม่โดยใช้พื้นฐานจากรถบรรทุก ZiS-123 รถต้นแบบชื่อ BTR-140 คันแรกถูกสร้างขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1947 การทดสอบดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ.1949 ก่อนที่ BTR-140 จะได้รับอนุมัติให้เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1950 ใช้ชื่อเป็นทางการว่า BTR-152

รถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-152 มีน้ำหนัก 9.9 ตัน มีขนาดยาว 6.55 เมตร กว้าง 2.32 เมตร สูง 2.04 เมตร (ไม่รวมอาวุธ) มีพลประจำรถ 2 นายและสามารถบรรทุกทหารได้สูงสุดถึง 17 นาย ติดอาวุธปืนกลเบา SGMB ขนาด 7.62 มิลลิเมตรหรือปืนกลหนัก DShK ขนาด 12.7 มิลลิเมตร 1 กระบอก ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 110 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 550 กิโลเมตร จุดอ่อนของ BTR-152 คือมีเกราะบางและเป็นรถเปิดประทุน ไม่มีหลังคา ส่งผลให้ทหารบนรถมีโอกาสได้รับอันตรายจากอาวุธวิถีโค้งได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถใช้งานในสภาวะสงครามนิวเคลียร์ ชีวะ เคมี (นชค.) ด้วย โซเวียตปิดสายการผลิต BTR-152 ในปี ค.ศ.1959 แล้วพัฒนารถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-60 ขึ้นมาทดแทน

ระหว่างสงครามเย็น โซเวียตได้ส่งรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-152 ให้ชาติพันธมิตรใช้งานอย่างแพร่หลาย จีนก็ได้พัฒนา BTR-152 เวอร์ชันของตัวเองชื่อ Type-56 ออกมาด้วย ปัจจุบันทั้ง BTR-152 และ Type-56 ยังมีใช้งานในหลายประเทศเช่น อังโกลา คิวบา โมซัมบิก นิการากัว ซีเรีย ซูดาน ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ

สวัสดี

24.08.2021

แสดงความคิดเห็น