กองทัพบกไทยควรทดแทน ถ.เบา Scorpion ด้วยรถรบทหารราบ

ภาพรถถังเบา FV-101 Scorpion
(Megapixie/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

*** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ***

รถถังเบา Scorpion ผลิตในประเทศอังกฤษ เป็นหนึ่งในรถถังที่กองทัพบกไทยใช้งานมานาน เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ประมาณ 150 คัน จนถึงปัจจุบันก็ใช้งานมานานเกิน 40 ปีแล้ว แต่เนื่องจากไทยยังทดแทนรถถังเบา M41A3 Walker Bulldog ผลิตในสหรัฐฯ จำนวน 200 คัน ที่เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ไม่ครบ กำหนดปลดประจำการรถถังเบา Scorpion จึงถูกเลื่อนออกไป และระหว่างนี้ก็มีการอัพเกรดเช่นเปลี่ยนเครื่องยนต์เบนซินเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ติดตั้งระบบควบคุมการยิงรุ่นใหม่ ติดกล้องเล็งในเวลากลางคืนรุ่นใหม่ เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขัดตาทัพระหว่างรอจัดหารถถังรุ่นใหม่มาทดแทนในอนาคต

แม้รถถังเบา Scorpion น่าจะยังใช้งานต่อไปได้ประมาณ 10 ปี แต่ผมก็คิดว่าไทยควรวางแผนเกี่ยวกับการจัดหายานเกราะรุ่นใหม่มาทดแทนรถถังเบารุ่นนี้แต่เนิ่นๆ ผมใช้คำว่ายานเกราะ เพราะผมมองว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องทดแทน Scorpion ด้วยรถถังเบาก็ได้

รถถังเบา Scorpion มีน้ำหนัก 8 ตัน เป็นกำลังรบหลักของหน่วยทหารม้าลาดตระเวน คู่กับรถฮัมวี่และรถสายพานลำเลียงพลเช่น M113 ภารกิจหลักไม่ใช่การปะทะกับข้าศึกแบบซึ่งหน้า แต่เป็นการลาดตระเวนและระวังป้องกัน มีความคล่องตัวสูง และมีอำนาจการยิงพอสมควรด้วยปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตร แต่มีจุดอ่อนคือเกราะบาง เกราะด้านหน้าสามารถป้องกันกระสุนปืนกลหนักขนาด 14.5 มิลลิเมตรได้ ขณะที่เกราะด้านข้างสามารถป้องกันได้เพียงกระสุนขนาด 7.62 มิลลิเมตรและสะเก็ดระเบิด อย่าว่าแต่จะปะทะกับรถถังเลย แค่ดวลกับยานเกราะประเภทอื่นๆแบบซึ่งหน้านานๆก็ไม่สมควรแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบกับภารกิจของหน่วยทหารม้าลาดตระเวน ผมมองว่าถ้าจะทดแทนรถถังเบา Scorpion ด้วยรถถังเบา VT-5 ของจีน (รุ่นส่งออกของ ZTQ-15) ซึ่งติดปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร หุ้มเกราะหนา หรือรถถังเบา Sprut-SDM1 ของรัสเซียซึ่งติดปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตรเท่ากับรถถังหลัก จะเกินความจำเป็นไปมาก

เมื่ออำนาจการยิงของรถถังเบาเท่าที่มีตัวเลือกในปัจจุบันถือว่า overqualified สำหรับภารกิจของทหารม้าลาดตระเวน ผมจึงมองว่าการทดแทนรถถังเบา Scorpion ด้วยรถรบทหารราบที่มีอำนาจการยิงพอๆกันและสามารถบรรทุกทหารราบไปในตัวได้ ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าพิจารณา ตัวเลือกแรกที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือรถรบทหารราบ BMP-3 ของรัสเซีย

ภาพรถรบทหารราบ BMP-3 รุ่นติดเกราะเสริม ในงานแสดงอาวุธ Army-2020
(Nickel nitride/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

รถรบทหารราบ BMP-3 มีน้ำหนัก 18.7 ตัน บนป้อมปืนติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 100 มิลลิเมตร สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถังจากในลำกล้องได้, ปืนใหญ่อัตโนมัติร่วมแกนขนาด 30 มิลลิเมตร และปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตรอีก 1 กระบอก นอกจากนี้ด้านหน้ารถยังมีปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตรอีก 2 กระบอกด้วย เกราะสามารถป้องกันกระสุนปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตรได้ และสามารถติดเกราะเสริมเพิ่มเติมได้ มีความคล่องตัวสูง และมีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก ที่สำคัญรถรบทหารราบ BMP-3 สามารถบรรทุกทหารได้ 7 นาย โดยในจำนวนนี้ 2 นายจะทำหน้าที่เป็นพลปืนกลด้านหน้ารถด้วย

เมื่อเทียบขีดความสามารถกันแล้ว จะเห็นได้ว่ารถรบทหารราบ BMP-3 จะเหนือกว่ารถถังเบา Scorpion พอสมควร ปัญหาจะอยู่ที่จำนวนทหารที่รถรบทหารราบ BMP-3 บรรทุกได้นั้นจะน้อยกว่ารถสายพานลำเลียงที่กองทัพไทยใช้อยู่ทั้ง M113 และ Type-85 วิธีแก้ปัญหาหนึ่งคือจัดการทดแทนทั้งรถถังเบา Scorpion และรถสายพานของหน่วยทหารม้าลาดตระเวน ด้วยรถรบทหารราบ BMP-3 พร้อมกันไปเลย โดยแทนที่จะให้รถรบทหารราบ BMP-3 คันเดียวบรรทุกทหารราบทั้งหมู่ ก็ใช้ 2 คันบรรทุกทหารราบคันละ 1 ชุดยิงแทน นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องจำนวนทหารที่บรรทุกได้แล้วยังเพิ่มอำนาจการยิงให้หน่วยด้วย ปัญหาที่เหลือก็คงจะเป็นตำแหน่งพลปืนกลด้านหน้ารถ 2 นาย ที่อาจต้องหาคนมาเติมต่อไป หรือไม่อย่างนั้นตัวเลือกรถรบทหารราบรุ่นถัดไปที่น่าสนใจก็คือ รถรบทหารพลร่ม BMD-4M จากรัสเซียเช่นกัน

ภาพรถรบทหารพลร่ม BMD-4M ของรัสเซีย
(The Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

รถรบทหารพลร่ม BMD-4M มีน้ำหนัก 13.5 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 100 มิลลิเมตร สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถังจากในลำกล้องได้, ปืนใหญ่อัตโนมัติร่วมแกนขนาด 30 มิลลิเมตร และปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร มีความคล่องตัวสูง และมีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถบรรทุกทหารได้ 6 นาย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักที่ต้องทิ้งร่มจากเครื่องบินลำเลียงได้ ส่งผลให้รถรบทหารพลร่ม BMD-4M มีจุดอ่อนสำคัญคือเกราะบางมาก สามารถป้องกันได้เพียงกระสุนปืนเล็กและสะเก็ดระเบิดเท่านั้น

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างรถรบทหารราบ BMP-3 และรถรบทหารพลร่ม BMD-4M สำหรับประเทศไทยซึ่งไม่ได้มีหน่วยพลร่มขนาดใหญ่แล้ว แน่นอนว่ารถรบทหารราบ BMP-3 มีแต้มต่อเหนือกว่าเห็นๆ โดยเฉพาะเรื่องเกราะป้องกันตัว แต่เมื่อมองข้ามช็อตไปถึงอนาคตตอนที่จะต้องปลดประจำการรถถังเบา Commando Stingray ซึ่งกองทัพบกไทยเป็นผู้ใช้งานเพียงรายเดียวในโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ก็ต้องถือว่ารถรบทหารพลร่ม BMD-4M มีจุดเด่นตรงที่ใช้ตัวรถแบบเดียวกับรถถังเบา Sprut-SDM1 ครับ

เมื่อพิจารณาภารกิจและขีดความสามารถของรถถังเบา Commando Stingray ซึ่งติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร รถถังเบารุ่นนี้มีโอกาสมากกว่าที่จะต้องปะทะกับรถถังฝ่ายตรงข้าม แม้จะต้องเน้นการซุ่มโจมตีก็ตาม เพราะระดับเกราะของรถถังเบายังไงก็ไม่ควรปะทะกับข้าศึกซึ่งหน้าอยู่แล้ว ดังนั้นรถถังเบาที่จะมาทดแทน Commando Stingray ในอนาคตจึงต้องมีอำนาจการยิงสูง ถ้าเลือกทดแทนรถถังเบา Commando Stingray ด้วยรถถังเบา Sprut-SDM1 ควบคู่ไปกับทดแทนรถถังเบา Scorpion ด้วยรถรบทหารพลร่ม BMD-4M ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกในการซ่อมบำรุง เพราะยานเกราะทั้งสองรุ่นใช้ตัวรถแบบเดียวกัน สามารถแชร์อะไหล่กันได้

จากเหตุผลเหล่านี้ผมจึงมองว่า ยานเกราะที่จะมาทดแทนรถถังเบา Scorpion ของกองทัพบกไทยในอนาคต อาจเลือกจัดหาเป็นรถรบทหารราบ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถถังเบาก็ได้ สำหรับรถรบทหารราบที่ส่วนตัวผมเห็นว่าเหมาะสมมีอยู่ 2 รุ่นคือ BMP-3 และ BMD-4M จากรัสเซียทั้งคู่ ถ้าเทียบขีดความสามารถกันตัวต่อตัว BMP-3 ถือว่าเหนือกว่า BMD-4M แต่ถ้ามองไปถึงอนาคต เผื่อกรณีถ้าจะทดแทนรถถังเบา Commando Stingray ด้วยรถถังเบา Sprut-SDM1 รถรบทหารพลร่ม BMD-4M ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะสามารถใช้อะไหล่ร่วมกันได้

สวัสดี

29.08.2021

แสดงความคิดเห็น