เปรียบเทียบรถถัง T-72S ของเมียนมาร์และ T-72B1MS ของลาว

ภาพรถถัง T-72S ของกองทัพเมียนมาร์
(KMK from Myanmar/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรถถังตระกูล T-72 ใช้งานค่อนข้างแพร่หลาย ได้แก่รถถัง PT-91M Pendekar ของมาเลเซีย, รถถัง T-72S ของเมียนมาร์, รถถัง T-90S ของเวียดนาม และรถถัง T-72B1MS White Eagle ของลาว ในบทความนี้ผมจะเปรียบเทียบรถถัง T-72S ของเมียนมาร์และ T-72B1MS ของลาวเป็นกรณีศึกษาครับ

รถถัง T-72S เป็นรุ่นส่งออกของรถถัง T-72B รุ่นปี 1985 ของสหภาพโซเวียต มีระบบป้องกันนิวเคลียร์ ชีวะ เคมี เกรดต่ำกว่ารุ่นที่โซเวียตใช้เอง ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร ซึ่งสามารถยิงจรวดต่อสู้รถถัง 9M119 Svir (AT-11 Sniper) จากในลำกล้องได้ มีการเสริมเกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) รุ่น Kontakt-1 ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-84 ขนาด 840 แรงม้า เมียนมาร์จัดหารถถังรุ่นนี้มาจากยูเครนจำนวน 139 คัน

รถถัง T-72B1MS ของลาว เป็นรุ่นอัพเกรดของรถถัง T-72B1 ของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นรถถัง T-72B รุ่นที่ไม่สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถังจากในลำกล้องได้ การอัพเกรดเน้นไปที่การปรับปรุงระบบภายในตัวรถให้ทันสมัย เช่นติดตั้งกล้องเล็งแบบ PN-72U Sosna-U สำหรับพลยิง, กล้อง CITV สำหรับ ผบ.รถถังรุ่น PKP-72 Falcon’s Eye, ระบบติดตามเป้าหมายอัตโนมัติ, ระบบนำทาง GPS/ GLONASS เป็นต้น ส่วนคุณสมบัติพื้นฐานอื่นๆของรถถัง ทั้งอาวุธ เกราะ ERA รุ่น Kontakt-1 รวมถึงเครื่องยนต์ยังใช้ของเดิม

ภาพรถถัง T-72B1MS White Eagle ของลาว ระหว่างการซ้อมรบร่วมกับรัสเซีย Laros-2019 (Mil.ru)

จะเห็นได้ว่าทั้งรถถัง T-72S ของเมียนมาร์และ T-72B1MS ของลาว ต่างก็เป็นรถถังในตระกูล T-72B ทั้งคู่ คุณสมบัติพื้นฐานแทบไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามรถถัง T-72B1MS ของลาวมีระบบภายในตัวรถที่ทันสมัยกว่า T-72S ของเมียนมาร์มาก ส่งผลให้รถถังลาวได้เปรียบรถถังเมียนมาร์พอสมควร โดยเฉพาะในการรบเวลากลางคืน เนื่องจากรถถัง T-72S ของเมียนมาร์ไม่มีกล้องจับความร้อน (Thermal sight) มีเพียงกล้องอินฟราเรดและกล้องมองกลางคืนเท่านั้น ในขณะที่รถถัง T-72B1MS มีทั้งกล้อง Sosna-U สำหรับพลยิงและ CITV สำหรับ ผบ.รถถัง มีคุณสมบัติ Hunter-Killer เต็มรูปแบบเหมือนรถถังรุ่นใหม่ๆเลยทีเดียว

แม้รถถัง T-72B1MS ของลาวจะมีระบบภายในตัวรถที่ทันสมัยกว่า T-72S ของเมียนมาร์มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าลาวจะได้เปรียบเมียนมาร์ทั้งหมด ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือเรื่องของระบบอาวุธ ซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้ทั้งรถถังเมียนมาร์และลาวจะมีปัญหามาก

ก่อนอื่นผมขอชี้แจงเรื่องการคำนวณความหนาของเกราะรถถังปัจจุบันก่อนนะครับ เนื่องจากเกราะรถถังตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเย็นเป็นต้นมา ไม่ได้ทำจากเหล็กอย่างเดียวแล้ว แต่ทำจากวัสดุผสมคอมโพสิต รวมถึงมีเกราะเสริมประเภทต่างๆเช่น ERA ด้วย นอกจากนี้กระสุนเจาะเกราะก็มีหลายชนิด เช่น HEAT และ APFSDS เป็นต้น เกราะแต่ละแบบก็สามารถป้องกันกระสุนแต่ละชนิดได้แตกต่างกัน ดังนั้นตัวเลขความหนาของเกราะรถถังในปัจจุบันจึงไม่ใช่ความหนาของเกราะจริงๆ แต่เป็นตัวเลขที่มีไว้เปรียบเทียบเท่านั้น

เกราะบริเวณด้านหน้าป้อมปืนของรถถัง T-72B เสริมด้วย ERA รุ่น Kontakt-1 ถ้าใช้ป้องกันกระสุนเจาะเกราะ APFSDS จะมีความหนาประมาณ 520 – 540 มิลลิเมตร (ถ้าใช้ป้องกันกระสุน HEAT ก็จะเป็นอีกตัวเลขหนึ่ง) ส่วนเกราะด้านหน้าตัวรถจะมีความหนาประมาณ 480 – 530 มิลลิเมตร แต่กระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่น 3BM42 Mango ของโซเวียตสามารถเจาะเกราะหนาเพียง 450 มิลลิเมตรที่ระยะ 2 กิโลเมตร ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจเห็นแล้วว่าประสิทธิภาพของกระสุนเจาะเกราะ Mango นั้นไม่เพียงพอเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง T-72B จากระยะไกลได้

ประเด็นนี้สำคัญอย่างไร ? เนื่องจากเมียนมาร์จัดหารถถัง T-72S มาจากยูเครน และปัจจุบันยูเครนยังไม่สามารถพัฒนากระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่นใหม่ได้ เท่ากับว่ารถถังของยูเครนทุกรุ่นรวมถึงรถถัง T-72S ของเมียนมาร์และ Oplot-M ของไทยด้วย มีกระสุนที่ดีที่สุดคือรุ่น Mango นี้เท่านั้น ในขณะเดียวกัน แม้รัสเซียจะมีกระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่นใหม่คือ 3BM59 Svinets-1 ซึ่งสามารถเจาะเกราะหนา 740 มิลลิเมตรได้ แต่เนื่องจากกระสุนรุ่นดังกล่าวมีขนาดยาวมากกว่ากระสุนรุ่นเก่าๆ จึงต้องทำการยิงจากปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตรรุ่น 2A46M5 ที่มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติรุ่นใหม่ ซึ่งมีใช้ในรถถังรุ่นใหม่ๆของรัสเซียเช่น T-72B3, T-80BVM และ T-90M เท่านั้น ปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตรรุ่นเก่าไม่สามารถใช้กระสุนรุ่นนี้ได้ เพราะระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติไม่รองรับ สำหรับรถถัง T-72B1MS ของลาว เท่าที่ผมหาข้อมูลดูก็ยังคงใช้ปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตรรุ่น 2A46M อยู่ จึงเป็นไปได้ว่ารถถังของลาวก็ไม่สามารถใช้กระสุน Svinets-1 ได้เช่นกัน ต้องใช้กระสุน Mango เป็นหลักอยู่

เมื่อทั้งรถถัง T-72S ของเมียนมาร์และ T-72B1MS ของลาว ยังใช้กระสุน Mango เป็นหลักอยู่นั้น เท่ากับว่ารถถังทั้งสองรุ่นต่างก็ยิงกันไม่เข้าจากระยะไกล ต้องเข้ามาในระยะประชิดจึงจะเจาะเกราะของอีกฝ่ายด้วยกระสุนเจาะเกราะ APFSDS ได้ ตรงจุดนี้เองที่เมียนมาร์ได้เปรียบ เพราะถึงแม้กระสุน Mango จะมีประสิทธิภาพต่ำ แต่รถถังเมียนมาร์ยังมีจรวดต่อสู้รถถัง Svir ซึ่งใช้หัวรบ Tandem HEAT สามารถเจาะเกราะ ERA รุ่น Kontakt-1 ได้ ดังนั้นถ้ารถถังเมียนมาร์สามารถตรวจพบรถถังลาวได้ก่อน ก็มีโอกาสที่จะทำลายรถถังของลาวได้จากระยะไกลด้วยจรวดต่อสู้รถถังนั่นเอง

จะเห็นได้ว่ารถถัง T-72S และ T-72B1MS ต่างก็มีจุดเด่น-จุดด้อยของตัวเอง อย่างไรก็ตามโอกาสที่รถถังทั้งสองรุ่นจะได้ปะทะกันในสมรภูมิมีค่อนข้างน้อย เพราะลาวและเมียนมาร์มีความสัมพันธ์ที่ดี นอกจากนี้ทั้งสองประเทศต่างก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนและรัสเซีย ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น ชาติมหาอำนาจทั้งสองก็น่าจะสนับสนุนให้เจรจากันมากกว่า หรือต่อให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน การแพ้ชนะในสมรภูมิก็ไม่ได้ตัดสินกันด้วยประสิทธิภาพของรถถังเพียงอย่างเดียว บทความนี้เพียงแต่ต้องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของรถถัง T-72S และ T-72B1MS เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น

สวัสดี

04.09.2021

แสดงความคิดเห็น