รถถัง PT-91M Pendekar ของมาเลเซีย

ภาพรถถัง PT-91M Pendekar ของมาเลเซีย
(Mjabb/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

วันที่ 11 เมษายน ค.ศ.2003 มาเลเซียเซ็นสัญญาจัดหารถถัง PT-91M Pendekar จำนวน 48 คันจากประเทศโปแลนด์ รถถังรุ่นนี้ใช้พลประจำรถ 3 นาย ได้แก่ ผบ.รถถัง พลขับ และพลยิง มีน้ำหนัก 45.3 ตัน เป็นรุ่นอัพเกรดของ PT-91 Twardy ของกองทัพโปแลนด์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากรถถัง T-72M1 ที่สหภาพโซเวียตถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โปแลนด์ในสมัยสงครามเย็นอีกทีหนึ่ง เนื่องจาก PT-91M เป็นรุ่นอัพเกรดสำหรับกองทัพมาเลเซียโดยเฉพาะ ผู้ผลิตคือบริษัท Bumar-Labedy จึงทำการผลิตรถถังคันต้นแบบขึ้นมาก่อนในปี ค.ศ.2005 ทำการทดสอบในโปแลนด์ ก่อนจะส่งไปเปิดตัวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียในปีเดียวกัน เมื่อผลการทดสอบเป็นที่พอใจแล้ว โปแลนด์จึงเริ่มผลิต PT-91M รุ่นใช้งานจริงส่งมอบให้มาเลเซียระหว่างปี ค.ศ.2007 – 2009

อาวุธหลักของรถถัง PT-91M คือปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร 2A46MS มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ บรรทุกกระสุน 42 นัด แม้จะเป็นปืนใหญ่รุ่นใหม่ แต่เนื่องจากโปแลนด์ยังไม่สามารถพัฒนากระสุนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพน่าพอใจได้ จึงยังต้องใช้กระสุนรุ่นเก่าจากยุค 80 รวมถึงกระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่น 3BM42 Mango อยู่ ส่วนอาวุธรองได้แก่ปืนกลร่วมแกน FN MAG ขนาด 7.62 มิลลิเมตร และปืนกลหนัก M2HB ขนาด 12.7 มิลลิเมตร

รถถัง PT-91M ใช้ระบบควบคุมการยิง Sagem Savan-15 สำหรับพลยิงและ Sagem VIGY-15 สำหรับ ผบ.รถถัง มีกล้องจับความร้อน (Thermal sight) ทั้งคู่ ส่งผลให้รถถังของมาเลเซียมีขีดความสามารถในการรบเวลากลางคืนมากกว่า PT-91 ของกองทัพโปแลนด์ซึ่ง ผบ.รถถัง ยังคงใช้กล้องอินฟราเรดอยู่

ระบบป้องกันตัวของรถถัง PT-91M ประกอบด้วยเกราะผลิตจากเหล็กและวัสดุผสมคอมโพสิต เสริมด้วยเกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) รุ่น ERAWA ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า Kontakt-1 พอสมควร แต่ยังด้อยกว่า Kontakt-5 นอกจากนี้ยังมีระบบ OBRA-3 สำหรับแจ้งเตือนเมื่อรถถังถูกเล็งเป้าด้วยเลเซอร์ด้วย

รถถัง PT-91M ใช้เครื่องยนต์ดีเซล S-1000 ขนาด 1,000 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 480 กิโลเมตร

สวัสดี

06.09.2021

แสดงความคิดเห็น