
(George Chernilevsky/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
แม้ปัจจุบันระบบป้องกันภัยทางอากาศตระกูล S-300 จะได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีขีดความสามารถสูงขึ้นมาก มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่นกองทัพรัสเซียมี S-400 และ S-300V4 รุ่นล่าสุด, จีนมี S-400 และ S-300PMU2, ตุรกีมี S-400, อาเซอร์ไบจานมี S-300PMU2, เวเนซุเอลามี Antey-2500 ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของ S-300VM ขณะที่เวียดนามมี S-300PMU1 เป็นต้น แต่ทว่าประเทศอดีตสหภาพโซเวียตส่วนใหญ่ เช่นเบลารุส อาร์เมเนีย คาซัคสถาน ฯลฯ ล้วนแต่ยังคงใช้งาน S-300PS ตั้งแต่สมัยโซเวียตเป็นกำลังรบหลักอยู่
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300PS หรือชื่อในระบบ NATO คือ SA-10B Grumble B เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1982 (ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าปี ค.ศ.1985) พัฒนาต่อยอดมาจาก S-300PT ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อเพิ่มความอยู่รอดในสนามรบ เมื่อเข้าที่ตั้งยิงแล้ว S-300PS สามารถเตรียมการยิงได้ภายในเวลาเพียง 5 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 30 นาที ระบบหนึ่งมีรถฐานยิงได้สูงสุด 12 คัน รถฐานยิงคันหนึ่งบรรทุกจรวด 4 ลูก ใช้จรวดรุ่น 5V55KD และ 5V55R มีระยะยิง 75 กิโลเมตร
ปัจจุบันหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียบางหน่วยในแถบไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลยังคงใช้งาน S-300PS อยู่ แต่กำลังทยอยทดแทนด้วย S-400 และ S-350 Vityaz เนื่องจากหน่วยทหารเหล่านี้มีความสำคัญในระดับรองลงมา จึงได้รับมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่เป็นลำดับท้ายๆ โดย S-300PS ที่ปลดประจำการแล้ว รัสเซียก็จะมอบให้ประเทศพันธมิตรนำไปใช้งานต่อโดยไม่คิดมูลค่า แต่มีเงื่อนไขว่าประเทศเหล่านั้นจะต้องวางเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมกับรัสเซีย สำหรับประเทศที่ได้รับ S-300PS จากรัสเซียไปใช้งานแล้วประกอบด้วยเบลารุส อาร์เมเนีย และคาซัคสถาน แต่การเจรจาจัดตั้งเครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมกันนั้นกลับยังคาราคาซังอยู่ นอกจากรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน และอาร์เมเนียแล้ว ยูเครนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยังคงใช้งาน S-300PS อยู่
S-300PS ปัจจุบันถือว่าเก่าและล้าสมัยแล้ว ระยะยิงสู้ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลรุ่นใหม่ไม่ได้แล้วเช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศ FK-3 ของจีนซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของ HQ-22 มีระยะยิง 100 กิโลเมตร (รุ่นที่จีนใช้เองมีระยะยิง 170 กิโลเมตร) ขณะที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยกลางรุ่นใหม่ๆก็มีระยะยิงใกล้เคียงกับ S-300PS แล้ว เช่นระบบป้องกันภัยทางอากาศ Buk-M3 ของรัสเซียมีระยะยิง 70 กิโลเมตร การที่ S-300PS ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงยุค 80 ซึ่งขณะนั้นภัยคุกคามหลักมีเพียงเครื่องบินรบ ยังส่งผลให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นนี้มีข้อจำกัดในการรับมือโดรนขนาดเล็กด้วย เห็นได้จากการสู้รบในพื้นที่พิพาทนาร์กอโน-คาราบัคช่วงปลายปี ค.ศ.2020 ซึ่ง S-300PS ของอาร์เมเนียหลายระบบถูกทำลายโดยโดรน IAI Harop และ Bayraktar TB2 ที่อาเซอร์ไบจานจัดหาจากอิสราเอลและตุรกีตามลำดับ
สวัสดี
07.09.2021