ปืนใหญ่อัตตาจร FV433 Abbot ของอังกฤษสมัยสงครามเย็น

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร FV433 Abbot ของอังกฤษ
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ช่วงปลายยุค 50 อังกฤษมีแนวคิดจะพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นใหม่ เพื่อทดแทนปืนใหญ่อัตตาจร Sexton ขนาด 25 ปอนด์ (87.6 มิลลิเมตร) จากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนแรกอังกฤษได้พัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 25 ปอนด์โดยใช้แคร่รถถัง Centurion ชื่อรุ่น FV3805 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ภายหลังอังกฤษจึงเปลี่ยนไปพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 105 มิลลิเมตร โดยใช้แคร่รถสายพานตระกูล FV430 แทน ปืนใหญ่อัตตาจร FV433 Abbot จึงถือกำเนิดขึ้น โครงการพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1958 ก่อนจะเข้าประจำการในกองทัพอังกฤษในปี ค.ศ.1965

ปืนใหญ่อัตตาจร Abbot มีน้ำหนัก 16 ตัน มีความยาว 5.8 เมตร เมื่อหันป้อมปืนไปด้านหน้า กว้าง 2.6 เมตร สูง 2.5 เมตร ใช้พลประจำรถ 6 นาย อาวุธหลักได้แก่ปืนใหญ่ L13A1 ขนาด 105 มิลลิเมตร บรรทุกกระสุน 40 นัด มีกระสุนให้เลือกใช้งานหลายชนิดเช่น กระสุนระเบิดแรงสูง กระสุนฟอสฟอรัสขาว กระสุนควัน กระสุนฝึก ฯลฯ ระยะยิงไกลสุด 17.3 กิโลเมตร อัตราการยิงสูงสุด 6 – 8 นัดต่อนาที อาวุธรองได้แก่ปืนกลเบา L4 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร เกราะของปืนใหญ่อัตตาจร Abbot มีความหนาเพียง 10 – 12 มิลลิเมตร ป้องกันได้เพียงกระสุนปืนเล็กและสะเก็ดระเบิด เนื่องจากไม่ได้ออกแบบมาใช้ปะทะกับข้าศึกแบบซึ่งหน้า ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ Rolls-Royce K60 ขนาด 240 แรงม้า ซึ่งสามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลายชนิด มีความเร็วสูงสุด 47 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 480 กิโลเมตร

กองทัพอังกฤษใช้งานปืนใหญ่อัตตาจร Abbot จนถึงปี ค.ศ.1995 ก่อนจะปลดประจำการ แล้วทดแทนด้วยปืนใหญ่อัตตาจร AS-90 นอกจากอังกฤษแล้ว กองทัพอินเดียก็มีปืนใหญ่อัตตาจร Abbot ใช้งานอยู่เช่นกัน แต่กำลังทยอยปลดประจำการ ทดแทนด้วยปืนใหญ่อัตตาจร K9 Thunder จากเกาหลีใต้ ปืนใหญ่อัตตาจร Abbot ไม่เคยถูกใช้งานในสนามรบจริง

สวัสดี

14.09.2021

แสดงความคิดเห็น