ไทยควรจัดหารถถัง T-90MS จากรัสเซียมาใช้งานคู่กับ VT-4 จากจีน

ภาพรถถัง T-90M ของรัสเซีย ระหว่างงานสวนสนามวันแห่งชัยชนะ 24 มิถุนายน 2020 รุ่นส่งออกของรถถังรุ่นนี้คือ T-90MS Tagil
(©Fotovlad/123RF.COM)

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดหารถถังรุ่นใหม่จำนวน 200 คันเพื่อทดแทนรถถังเบา M41A3 Walker Bulldog ซึ่งเข้าประจำการในกองทัพบกไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ใช้งานมานานเกือบ 60 ปีแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องปลดประจำการ โดยในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยได้จัดหารถถัง 2 รุ่นสำหรับทดแทน M41 รุ่นแรกคือรถถัง Oplot-M จากยูเครน ซึ่งไทยได้สั่งซื้อจำนวน 1 กองพัน 49 คัน มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาทเมื่อปี ค.ศ.2011 มีกำหนดส่งมอบในปี ค.ศ.2015 แต่ทว่าพอถึงปี ค.ศ.2013 ยูเครนก็ขอเลื่อนกำหนดส่งมอบ อ้างว่ามีปัญหาด้านการเงิน จากนั้นพอเกิดวิกฤตในยูเครน เริ่มตั้งแต่ตอนที่สหรัฐฯสนับสนุนกลุ่มนีโอนาซีให้โค่นล้มรัฐบาลยูเครนของนายยานูโควิชที่มาจากการเลือกตั้ง ตามด้วยเหตุการณ์ในไครเมียและดอนบาส ยูเครนก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างเลื่อนการส่งมอบรถถัง Oplot-M ไปเรื่อยๆ โดยที่ไทยทำอะไรไม่ได้ กว่าไทยจะได้รับมอบรถถัง Oplot-M ครบก็ต้องรอถึงปี ค.ศ.2018 ใช้เวลาถึง 7 ปี ระหว่างนั้นไทยจึงตัดสินใจจัดหารถถัง VT-4 จากจีนอีกรุ่นหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 เป็นต้นมา ทยอยซื้อเป็นล็อตๆละประมาณ 10 – 20 คันเท่าที่มีงบประมาณ ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้ว รถถังที่จะมาทดแทน M41 ที่ยังขาดอยู่ ไทยก็คงจัดหาเป็น VT-4 ทั้งหมดครับ ส่วนรถถัง Oplot-M คงจบที่กองพันเดียว

แม้ในโครงการคัดเลือกรถถังรุ่นใหม่ของไทยทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ผมจะสนับสนุนรถถัง T-90S ของรัสเซียมากกว่า Oplot-M และ VT-4 แต่ผมก็ไม่คัดค้านการจัดหารถถังทั้งสองรุ่น กรณีของ Oplot-M แม้รถถังจะมีขีดความสามารถดี มีข้อด้อยแค่เรื่องอำนาจการยิงเพราะยังใช้กระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่นเก่าจากยุคโซเวียตอยู่ แต่เรื่องความพร้อมของผู้ผลิตก็ต้องเก็บไว้เป็นบทเรียน ตอนนี้ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุงในอนาคตมากกว่า สำหรับรถถัง VT-4 ของจีนนั้นก็มีประสิทธิภาพดี และมีราคาถูกกว่ารถถังรัสเซียพอสมควร ที่สำคัญคือจีนส่งมอบรถถังได้เร็วมาก แต่ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปก็คือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการตั้งโรงงานซ่อมบำรุงยานเกราะของจีนในประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก อย่างไรก็ตามมีประเด็นหนึ่งที่ผมค่อนข้างกังวลคืออิทธิพลของจีนในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแทบทุกวงการ เมื่อไทยจัดหายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่จากจีนอย่างต่อเนื่องทั้งรถถัง VT-4, รถหุ้มเกราะล้อยาง VN-1, รถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก VN-16, เรือดำน้ำ S-26T เป็นต้น ก็เป็นประเด็นที่น่าพิจารณาว่าไทยกำลังพึ่งพาจีนมากเกินไปหรือไม่

ส่วนตัวผมมองว่าไทยควรมีรถถัง 2 รุ่น เพื่อเป็นการถ่วงดุลระหว่างประเทศผู้ผลิต โดยไม่ให้เป็นภาระในการสำรองอะไหล่และกระสุนมากเกินไป ทีนี้เมื่อรถถัง Oplot-M น่าจะจบที่กองพันเดียว ไม่ได้ไปต่อแล้ว เท่ากับว่าขณะนี้รถถังรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังรบหลักของไทยในอนาคตจึงมีเพียง VT-4 ที่น่าจะทยอยจัดหาจนครบประมาณ 150 คัน ทดแทน M41 ที่เหลือทั้งหมดพอดี ตรงจุดนี้หลายคนอาจถามว่าไทยก็มีรถถังรุ่นอื่นๆเช่น M48A5, M60A1 และ M60A3 (นับเฉพาะรถถังหลัก) จากสหรัฐฯใช้งานอยู่นี่นา แต่รถถังทั้งสามรุ่นนี้เก่ามากแล้ว และหนึ่งในนั้นคือรถถัง M48A5 ซึ่งไทยมีใช้งานอยู่ 105 คัน เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 จนถึงปัจจุบันก็ใช้งานมานานกว่า 40 ปีแล้ว ใกล้ถึงกำหนดปลดประจำการ ส่วนตัวผมจึงไม่นับรวมในสมการรถถังรุ่นใหม่ครับ

เมื่อพูดถึงการปลดประจำการรถถัง M48A5 ในอนาคต ผมมองว่าไทยควรใช้โอกาสนี้ในการคัดเลือกแบบรถถังเพิ่มอีก 1 รุ่น เพื่อถ่วงดุลกับรถถังจีน ซึ่งถ้ากำหนดเงื่อนไขไว้ว่ารถถังรุ่นใหม่นี้ต้องใช้กระสุนหรืออะไหล่บางส่วนร่วมกับ Oplot-M หรือ VT-4 ได้ ในกรณีนี้ผมมองว่ารถถัง T-90MS Tagil ผลิตโดยบริษัท Uralvagonzavod ของรัสเซียจะมีความเหมาะสมมากที่สุด

รถถัง T-90MS เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.2011 เป็นรุ่นส่งออกของรถถัง T-90AM และ T-90M Proryv-3 มีน้ำหนัก 48 ตัน ใช้พลประจำรถ 3 นายได้แก่ ผบ.รถถัง พลขับ และพลยิง อาวุธหลักปืนใหญ่ขนาด 125 มิลลิเมตร 2A46M-5 มีระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ สามารถยิงจรวดต่อสู้รถถัง 9M119 Refleks จากในลำกล้องได้ ที่สำคัญคือสามารถใช้กระสุนเจาะเกราะ APFSDS รุ่นใหม่ของรัสเซียคือ 3BM59 Svinets-1 และ 3BM60 Svinets-2 ได้ จึงมีอำนาจการยิงเหนือกว่า Oplot-M อาวุธรองได้แก่ปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตร 2 กระบอก กระบอกหนึ่งเป็นปืนกลร่วมแกน อีกกระบอกหนึ่งติดตั้งบนหลังคาป้อมปืนควบคุมด้วยรีโมท รถถัง T-90MS ใช้ระบบควบคุมการยิง Kalina รุ่นใหม่และมี CITV สำหรับ ผบ.รถถัง มีคุณสมบัติ Hunter Killer เกราะของรถถัง T-90MS ผลิตจากวัสดุคอมโพสิตเสริมด้วยเกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) รุ่น Relikt ซึ่งสามารถป้องกันหัวรบ Tandem HEAT ได้ ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-92S2F ขนาด 1,130 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 500 กิโลเมตร

รถถัง T-90MS เป็นหนึ่งในรถถังที่ทันสมัยที่สุดของรัสเซียในปัจจุบัน เป็นรองเพียงรถถัง T-14 Armata เท่านั้น ขีดความสามารถของ T-90MS โดยภาพรวมใกล้เคียงกับ Oplot-M และ VT-4 แต่จะเหนือกว่า Oplot-M ในเรื่องอำนาจการยิงเพราะใช้กระสุนรุ่นใหม่กว่า (ผมไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกระสุนของจีนมากนักเลยเปรียบเทียบกับ VT-4 ไม่ได้) นอกจากนี้ยังเหนือกว่ารถถังส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านด้วย สามารถใช้ถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคไปได้อีกนาน

นอกเหนือจากขีดความสามารถของรถถัง T-90MS เองแล้ว เรื่องการเมืองระหว่างประเทศเองก็มีความสำคัญ ปัจจุบันรัสเซียมีบทบาทในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้น นอกจากเวียดนามที่เป็นพันธมิตรกันมานานแล้ว ช่วงไม่กี่ปีมานี้ลาวและเมียนมาร์ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น หากลากเส้นเชื่อมสามประเทศนี้ จะดูเหมือนว่ารัสเซียล้อมไทยอยู่ แต่อีกมุมหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียก็กำลังเป็นกันชนระหว่างไทยกับจีนอยู่ สาเหตุสำคัญที่รัสเซียเข้าไปมีบทบาทในประเทศเหล่านี้ก็เพื่อถ่วงดุลจีน ไม่ได้จะเป็นศัตรูกับไทยแต่อย่างใด ผมจึงมองว่าไทยควรพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซียเช่นกัน เพื่อเป็นขั้วอำนาจที่สามถ่วงดุลกับจีนและสหรัฐฯ การจัดหายุทโธปกรณ์จากรัสเซียก็เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ ผมจึงมีความเห็นว่าในอนาคตเมื่อถึงเวลาปลดประจำการรถถัง M48A5 ไทยควรทดแทนรถถังรุ่นนี้ด้วย T-90MS จากรัสเซีย ควบคู่ไปกับการทดแทนรถถังเบา M41 ที่เหลืออยู่ด้วยรถถัง VT-4 จากจีน เพื่อเป็นการถ่วงดุลระหว่างประเทศผู้ผลิต โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป

สวัสดี

22.09.2021

แสดงความคิดเห็น