
(Public Domain)
เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง RPG-29 Vampir (แวมไพร์) เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1989 เป็นเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังตระกูล RPG รุ่นสุดท้ายที่เข้าประจำการก่อนสหภาพโซเวียตจะล่มสลาย ออกแบบมาใช้จัดการกับรถถังรุ่นใหม่ๆของค่าย NATO เช่น M1 Abrams ของสหรัฐฯและ Challenger 1 ของอังกฤษ มีความแม่นยำมากกว่าและระยะยิงไกลกว่า RPG-7
เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง RPG-29 มีขนาดความกว้างปากลำกล้อง 105 มิลลิเมตร ท่อยิงเปล่ามีน้ำหนัก 11.6 กิโลกรัม แต่เมื่อรวมน้ำหนักจรวดและกล้องเล็งด้วยจะมีน้ำหนักรวม 18.8 กิโลกรัม ท่อยิงเมื่อประกอบแล้วจะมีความยาว 1.85 เมตร มีระยะยิงไกลสุด 800 เมตร แต่ระยะยิงหวังผลจะอยู่ที่ประมาณ 500 เมตร มีจรวดให้เลือกใช้ 2 ชนิดคือ TBG-29V ใช้หัวรบเทอร์โมบาริคและ PG-29V ใช้หัวรบ Tandem HEAT
จรวด TBG-29V ใช้หัวรบเทอร์โมบาริค สำหรับทำลายเป้าหมายประเภทสิ่งก่อสร้าง ป้อมสนาม และยานพาหนะที่ไม่ได้หุ้มเกราะหรือมีเกราะบาง
จรวด PG-29V ใช้หัวรบ Tandem HEAT แบบเดียวกับจรวด PG-7VR ของ RPG-7 ใช้ทำลายรถถัง สามารถเจาะเกราะเหล็กกล้า (RHA) หนา 750 มิลลิเมตร หรือในกรณีที่รถถังมีการเสริมเกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) หลังเจาะผ่าน ERA ไปแล้ว จรวดรุ่นนี้ก็ยังสามารถเจาะเกราะเหล็กกล้าหนา 650 มิลลิเมตรได้
หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัสเซียเริ่มโปรโมทเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง RPG-29 ให้ลูกค้าต่างประเทศ โดยการนำไปจัดแสดงในงาน IDEX 1993 ที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามแม้รัสเซียจะเริ่มส่งออก RPG-29 ตั้งแต่ช่วงยุค 90 และในช่วงเวลาเดียวกันก็เกิดการสู้รบขึ้นในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวีย แต่กลับมีข้อมูลการใช้งาน RPG-29 ในช่วงเวลาดังกล่าวน้อยมาก RPG-29 พึ่งจะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายโดยกลุ่มติดอาวุธต่างๆในสงครามเลบานอน ค.ศ.2006 และระหว่างการยึดครองอิรักของชาติตะวันตก
ระหว่างสงครามเลบานอนในปี ค.ศ.2006 ความสูญเสียของอิสราเอลส่วนใหญ่เกิดจากจรวดต่อสู้รถถังเช่น RPG-29 และ Kornet ซึ่งกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ได้รับมาจากซีเรีย ส่งผลให้อิสราเอลถึงกับต้องส่งคณะผู้แทนไปยังกรุงมอสโก นำหลักฐานไปให้รัสเซียดู เพื่อให้รัสเซียควบคุมไม่ให้ซีเรียส่งอาวุธที่จัดหาจากรัสเซียไปให้กลุ่มเฮซบอลเลาะห์
ในปีเดียวกันกับที่เกิดการสู้รบในเลบานอน กลุ่มติดอาวุธในอิรักก็เริ่มใช้งาน RPG-29 แพร่หลายมากขึ้น ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2006 จรวด PG-29V ลูกหนึ่งสามารถเจาะเกราะบริเวณช่วงล่างตัวรถด้านหน้ารถถัง Challenger 2 ของอังกฤษได้ ส่งผลให้พลขับเท้าขาดและพลประจำรถอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามรถถัง Challenger 2 คันดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหายมากนัก
วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.2007 รถถัง M1 Abrams ของสหรัฐฯคันหนึ่งถูกยิงด้วยจรวด PG-29V บริเวณด้านหลัง ส่งผลให้พลประจำรถ 3 นายได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นในวันที่ 5 กันยายนปีเดียวกัน รถถัง M1 Abrams อีกคันหนึ่งก็ถูกยิงด้วยจรวด PG-29V ทางด้านข้างของป้อมปืน ส่งผลให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีพลประจำรถเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ต่อมาในปี ค.ศ.2008 ก็มีรถถัง M1 Abrams อีกหนึ่งคันถูกยิงด้วยจรวด PG-29V ได้รับความเสียหายระหว่างปะทะกับกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะห์ สหรัฐฯจัด RPG-29 เป็นภัยคุกคามสำคัญถึงขนาดสั่งห้ามไม่ให้รัฐบาลอิรักจัดหาเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังรุ่นนี้เพิ่มเติม อ้างว่ากลัวจะตกไปอยู่ในมือผู้ก่อการร้าย
ระหว่างสงครามซีเรียตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 เป็นต้นมาก็มีการใช้งาน RPG-29 เช่นกัน เหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2013 เมื่อกลุ่มกบฏซีเรียใช้ RPG-29 ยิงลงมาจากหลังคาตึกใส่รถถัง T-72 ของฝ่ายรัฐบาล ส่งผลให้กระสุนที่เก็บไว้ในตัวรถติดไฟลุกท่วม พุ่งขึ้นมาจากฝาป้อมเหมือนน้ำพุ
การสู้รบในเลบานอน อิรัก และซีเรีย แสดงให้เห็นถึงพิษสงร้ายกาจของ RPG-29 แม้เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถังรุ่นนี้จะถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงยุค 80 แต่ก็ยังเป็นภัยคุกคามสำคัญของรถถังรุ่นใหม่ๆมาจนถึงปัจจุบัน
สวัสดี
24.09.2021