
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)
ช่วงไม่กี่วันมานี้มีข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของอินเดียออกมาครับ โดยมีข่าวจากสื่อ Hindustan Times ผู้บัญชาการทหารอากาศของอินเดียเปิดเผยว่า อินเดียจะได้รับมอบ S-400 จากรัสเซียภายในปีนี้ ขณะที่ Arabian Aerospace ก็รายงานว่าทางบริษัท Almaz-Antey ผู้ผลิตระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียเปิดเผยว่าพลประจำระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของอินเดียชุดแรกได้รับการฝึกเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังทำการฝึกพลประจำระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ชุดที่สอง และรัสเซียจะเริ่มส่งมอบ S-400 ให้อินเดียภายในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ตามกำหนดการ
เมื่ออินเดียกำลังจะได้รับมอบ S-400 จากรัสเซีย ก็หมายความว่าสหรัฐฯจะต้องตัดสินใจในเร็วๆนี้ว่าจะใช้กฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA มาคว่ำบาตรอินเดียหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้ใช้กฎหมายนี้คว่ำบาตรจีนและตุรกีไปแล้ว
กฎหมาย CAATSA เป็นกฎหมายที่ออกโดยสภาคองเกรสในปี ค.ศ.2017 ห้ามไม่ให้ประเทศต่างๆจัดหาอาวุธจากรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ไม่อย่างนั้นจะถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร เป้าหมายทางการเมืองของคองเกรสที่ออกกฎหมายนี้ก็เพื่อขัดขวางประธานาธิบดีสหรัฐฯในขณะนั้นคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ไม่ให้ฟื้นสัมพันธ์กับรัสเซียได้ ขณะที่ทรัมป์ก็วิจารณ์กฎหมายนี้ว่าทำให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯสูญเสียความยืดหยุ่น เพราะถูกบังคับให้ต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเดียว ไม่สามารถใช้เครื่องมืออื่นๆในการเจรจาต่อรองได้ ปัจจุบันมีประเทศที่ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรด้วยกฎหมาย CAATSA แล้ว 2 ประเทศคือจีนที่จัดหา S-400 และเครื่องบินขับไล่ Sukhoi Su-35 จากรัสเซีย กับตุรกีซึ่งจัดหา S-400 จากรัสเซีย (มาตรการคว่ำบาตรตุรกีตามกฎหมาย CAATSA เป็นคนละส่วนกับที่สหรัฐฯไล่ตุรกีออกจากโครงการเครื่องบินขับไล่ F-35 Lightning II) และมีบางประเทศที่ระงับการจัดหาอาวุธจากรัสเซียไว้ชั่วคราว เช่นอินโดนีเซียระงับการจัดหา Su-35, อิรักระงับการจัดหา S-400 และคูเวตระงับการจัดหารถถัง T-90MS เป็นต้น แต่หลายประเทศเช่น เบลารุส เซอร์เบีย อียิปต์ แอลจีเรีย อินเดีย เมียนมาร์ ลาว ฯลฯ ยังคงจัดหาอาวุธจากรัสเซียตามปกติ แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯอย่างซาอุดิอาระเบียก็เพิ่มความร่วมมือทางทหารกับรัสเซียมากขึ้น พึ่งลงนามข้อตกลงไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อ้างอิงจากสื่อ Reuters
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย CAATSA ของสหรัฐฯคือ สหรัฐฯมักจะมุ่งเล่นงานเฉพาะดีลจัดหาอาวุธที่มีมูลค่าสูงและมีการออกข่าวแพร่หลายเท่านั้น โดยเฉพาะการจัดหา S-400 แต่ถ้าเป็นโครงการจัดหาอาวุธจากรัสเซียที่ไม่มีข่าวออกสื่อมากนัก ต่อให้มีมูลค่าสูง หลายโครงการสหรัฐฯก็จะไม่เข้าไปยุ่งหรือแสดงท่าทีแค่พอเป็นพิธี ทั้งที่กฎหมาย CAATSA ไม่มีข้อยกเว้นไว้แต่อย่างใด เช่นในกรณีของอียิปต์ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้จัดหาอาวุธจากรัสเซียจำนวนมาก ทั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ Antey-2500 (รุ่นส่งออกของ S-300VM), เครื่องบินขับไล่ MiG-29, Su-35, เฮลิคอปเตอร์โจมตี Ka-52, รถถัง T-90MS เป็นต้น แม้แต่เรือยกพลขึ้นบกชั้น Mistral ทั้ง 2 ลำที่ฝรั่งเศสเบี้ยวไม่ยอมส่งมอบให้รัสเซีย อียิปต์ก็รับซื้อไว้ ผมมองว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯไม่ต้องการมีปัญหากับอียิปต์และประเทศพันธมิตรอื่นๆด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง (อย่าลืมว่าเป้าหมายที่คองเกรสออกกฎหมาย CAATSA มาเพราะต้องการเตะตัดขาทรัมป์เท่านั้น) เพราะจะส่งผลให้ประเทศเหล่านี้หันไปมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น
แม้สหรัฐฯจะเริ่มรู้ตัวว่ากฎหมาย CAATSA ส่งผลเสียมากกว่าผลดี แต่กรณี S-400 ของอินเดียนั้นมาไกลเกินกว่าจะปิดข่าวเงียบแล้ว เพราะสื่อทั่วโลกทั้งสื่อตะวันตก รัสเซีย และอินเดียต่างรายงานข่าวเกี่ยวกับดีลนี้อย่างต่อเนื่อง และสหรัฐฯก็เคยออกมาแสดงท่าทีข่มขู่อินเดียไว้หลายครั้ง แต่อินเดียไม่สนใจ ที่ผ่านมาสหรัฐฯอาจอ้างได้ว่า S-400 ยังมาไม่ถึงอินเดียเลยยังไม่ใช้กฎหมาย CAATSA แต่เมื่อ S-400 กำลังจะมาถึงอินเดียในเร็วๆนี้ ก็ถึงเวลาที่สหรัฐฯจะต้องตัดสินใจจริงๆเสียทีว่าจะคว่ำบาตรอินเดียหรือไม่
ถ้าประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ใช้อำนาจยกเว้นไม่คว่ำบาตรอินเดีย แม้จะเป็นผลดีต่อสหรัฐฯ ที่มีนโยบายร่วมมือกับอินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นเป็น The Quad เพื่อคานอำนาจจีน รวมถึงช่วยให้ผู้ผลิตอาวุธของสหรัฐฯสามารถขายอาวุธมูลค่าสูงให้อินเดียต่อไปได้ แต่ก็จะส่งผลให้เกิดข้อครหาว่าสหรัฐฯสองมาตรฐาน โดยเฉพาะตุรกีที่ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรไปก่อนหน้านี้ ทั้งที่ตุรกีก็จัดหา S-400 เหมือนกับอินเดีย ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้สหรัฐฯก็ยังไล่กดดันตุรกีเรื่อง S-400 ไม่เลิก เป็นประเด็นตอบโต้กับประธานาธิบดีแอร์โดอัน (Erdogan) ของตุรกีออกข่าวแทบทุกสัปดาห์ ถ้าอยู่ๆสหรัฐฯมายกเว้นไม่คว่ำบาตรอินเดีย ก็จะยิ่งขัดแย้งกับตุรกีหนักขึ้น นอกจากนี้ก็จะเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆเห็นว่ากฎหมาย CAATSA ไม่ศักดิ์สิทธิ์ บางประเทศที่ก่อนหน้านี้ลังเลไม่กล้าซื้อรัสเซียก็อาจจะไม่กลัวสหรัฐฯอีกต่อไป แต่ถ้าสหรัฐฯคว่ำบาตรอินเดีย ก็จะส่งผลเสียต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการคานอำนาจกับจีนมาก การรับมอบ S-400 ของอินเดียและการตัดสินใจของสหรัฐฯที่จะใช้หรือไม่ใช้กฎหมาย CAATSA คว่ำบาตรอินเดีย จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามมาก
สวัสดี
06.10.2021