สมรภูมิเคียฟ ค.ศ.1941 การโอบล้อมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 นาซีเยอรมนีเปิดฉากบุกสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ทหารเยอรมันสามล้านนาย สมทบด้วยกำลังพลจากประเทศในกลุ่มอักษะ (Axis) อีกหลายแสนนายแบ่งกำลังออกเป็นสามกลุ่มกองทัพ กลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) มุ่งหน้าไปเมืองเลนินกราด (Leningrad ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) กลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) มุ่งหน้าไปยังกรุงมอสโก (Moscow) ขณะที่กลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) มุ่งหน้าไปยังยูเครน (Ukraine) อู่ข้าวอู่น้ำของโซเวียต

ในช่วงแรกๆกลุ่มกองทัพภาคใต้ทำการรุกได้ช้ากว่าอีกสองกลุ่มกองทัพพอสมควร เพราะมีแนวป้องกันของโซเวียตชื่อว่าแนวสตาลิน (Stalin Line) ขวางทางอยู่ แนวป้องกันนี้ถูกสร้างขึ้นบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของโซเวียตตั้งแต่ยุค 1920 – 1930 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับแนวมายิโนต์ (Maginot Line) ของฝรั่งเศส และแนวซีกฟรีด (Sirgfried Line) ของเยอรมนี ประกอบด้วยป้อมบังเกอร์คอนกรีตและรังปืนกล กระจายเป็นจุดๆไม่ต่อเนื่องกัน เพราะชายแดนโซเวียตมีความยาวมาก ต่อมาเมื่อโซเวียตทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับเยอรมนี (Molotov–Ribbentrop Pact) ในปี ค.ศ.1939 แบ่งเขตอิทธิพลในโปแลนด์และยุโรปตะวันออกระหว่างกัน โซเวียตก็ถอนทหารและยุทโธปกรณ์จำนวนมากออกจากแนวสตาลินเพื่อไปสร้างแนวป้องกันใหม่ทางตะวันตก แต่ทว่ากองทัพเยอรมันกลับบุกโซเวียตก่อนที่แนวป้องกันดังกล่าวจะสร้างเสร็จ ส่งผลให้ชายแดนโซเวียตเปิดโล่ง โชคดีที่ในยูเครนโซเวียตได้เสริมกำลังกลับเข้ามาที่แนวสตาลินได้ทันเวลาพอดี จึงสามารถชะลอการรุกของกลุ่มกองทัพภาคใต้ไว้ได้บ้าง

ภาพบังเกอร์คอนกรีตในแนวสตาลินของโซเวียต เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1941
(Bundesarchiv, B 145 Bild-F016204-03 / CC-BY-SA 3.0)

วันที่ 7 – 8 กรกฎาคม ค.ศ.1941 กองทัพเยอรมันซึ่งมีกลุ่มยานเกราะที่ 1 (1st Panzer Group) ใต้บังคับบัญชาของพลเอกเอวัลท์ ฟอน ไคลสท์ (Ewald von Kleist) เป็นหัวหอก สามารถเจาะผ่านแนวสตาลินได้บริเวณแคว้นชิโตมีร์ (Zhytomyr) นายพลไคลสท์ต้องการฉวยโอกาสนี้มุ่งหน้าไปยึดกรุงเคียฟ (Kiev) เมืองหลวงของยูเครนทันที แต่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ต้องการให้กลุ่มยานเกราะของนายพลไคลสท์ทำการโอบล้อมทหารโซเวียตที่เหลืออยู่ในแนวสตาลินทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครนจากทางด้านหลัง เพื่อเปิดทางให้หน่วยอื่นๆของกลุ่มกองทัพภาคใต้มากกว่า จึงให้เวลานายพลไคลสท์พยายามยึดกรุงเคียฟแค่ไม่กี่วัน แล้วหลังจากนั้นนายพลไคลสท์ต้องนำกำลังวกกลับมา ระหว่างนี้โซเวียตก็เสริมกำลังพลจำนวนมากเข้ามาที่กรุงเคียฟ เมื่อยานเกราะเยอรมันเปิดฉากเข้าตีในวันที่ 11 กรกฎาคมก็เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง นายพลไคลสท์ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยทหารราบ แต่หน่วยทหารราบเยอรมันยังติดอยู่ที่แนวสตาลิน สุดท้ายการรุกไปยังกรุงเคียฟจึงหยุดชะงักลง

แม้แนวสตาลินจะถูกกองทัพเยอรมันเจาะผ่านเข้ามาได้แล้ว แต่โซเวียตก็ยังไม่ยอมถอนทหารในส่วนอื่นๆของแนวสตาลินออกมา จนกระทั่งทหารราบเยอรมันซึ่งได้รับการสนับสนุนจากปืนใหญ่อัตตาจร Sturmgeschütz III หรือ StuG III สามารถเจาะผ่านแนวสตาลินบริเวณเมืองเลติเชฟ (Letichev) ได้อีกแห่งหนึ่ง โซเวียตถึงเริ่มถอนทหารออกจากแนวสตาลินเพื่อจะสร้างแนวป้องกันใหม่โดยใช้แม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) เป็นปราการธรรมชาติ แต่ไม่ทันกาลเสียแล้ว เพราะหน่วยยานเกราะของนายพลไคลสท์ได้วกลงมาปิดทางหนีไว้พอดี ส่งผลให้กองทัพที่ 6 และกองทัพที่ 12 ของโซเวียตถูกล้อมในวันที่ 3 สิงหาคม ทหารโซเวียตมากกว่า 103,000 นายตกเป็นเชลยศึก หลังจากนั้นกลุ่มยานเกราะที่ 1 ก็ทำการรุกต่อไปทางตะวันออก สามารถยึดเมืองท่าและอู่ต่อเรือสำคัญของโซเวียตที่นิโคลาเยฟ (Nikolaev อีกชื่อหนึ่งคือ Mykolaiv) ได้ ขณะที่หน่วยทหารราบเยอรมันซึ่งมีกองทัพที่ 6 เป็นหัวหอกก็มุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ

กองทัพที่ 6 ของเยอรมันเปิดฉากเข้าตีกรุงเคียฟอย่างรุนแรงจากทางใต้ในวันที่ 4 สิงหาคม แม้กองทัพเยอรมันจะเผชิญการต่อต้านอย่างหนัก แต่ก็สามารถเจาะผ่านแนวป้องกันของโซเวียตเข้ามาถึงบริเวณชานเมืองได้ในวันที่ 7 สิงหาคม กองทัพเยอรมันเชื่อว่าอีกไม่นานกรุงเคียฟก็คงแตก แต่ทว่ากองทัพโซเวียตได้ส่งกองพลน้อยพลร่มที่ 5 ใต้บังคับบัญชาของอเล็กซานเดอร์ โรดิมเซฟ (Aleksandr Rodimtsev) เข้าโจมตีตอบโต้กองทัพเยอรมันอย่างรุนแรงในช่วงกลางคืนวันที่ 9 สิงหาคม โดยที่ฝ่ายเยอรมันไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้กองทัพเยอรมันถูกผลักดันถอยร่นไปเกือบ 2 ไมล์ ปฏิบัติการของพลร่มโซเวียตช่วยซื้อเวลาให้โซเวียตสามารถส่งกำลังเสริมจำนวนมากมาที่กรุงเคียฟได้สำเร็จ และจัดกำลังใหม่เป็นกองทัพที่ 37 ทำการโจมตีตอบโต้จนกองทัพเยอรมันต้องถอยร่นไปจากบริเวณชานเมืองได้สำเร็จ

ความล่าช้าของกลุ่มกองทัพภาคใต้ในการยึดกรุงเคียฟและภาคตะวันออกของยูเครน ส่งผลให้ฮิตเลอร์เป็นกังวล จึงออกคำสั่งให้กลุ่มยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Group) ใต้บังคับบัญชาของพลเอกไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ในสังกัดกลุ่มกองทัพภาคกลาง วกลงใต้ไปช่วยกลุ่มกองทัพภาคใต้ นายพลกูเดเรียนไม่พอใจมาก เพราะขณะนั้นกลุ่มกองทัพภาคกลางสามารถยึดเมืองสโมเลนสค์ (Smolensk) หน้าด่านของกรุงมอสโกได้แล้ว ตัวเขาและนายทหารเยอรมันส่วนใหญ่ต่างต้องการมุ่งหน้าไปยึดกรุงมอสโกซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 400 กิโลเมตรเท่านั้นให้เร็วที่สุด นายพลกูเดเรียนรีบบินไปพบฮิตเลอร์ที่กองบัญชาการในปรัสเซียตะวันออก พยายามหว่านล้อมให้ฮิตเลอร์เปลี่ยนคำสั่งใหม่ โดยระบุว่าถ้ากองทัพเยอรมันเสียเวลาทางใต้มากเกินไป อาจจะไม่สามารถเข้ายึดกรุงมอสโกได้ทันก่อนฤดูหนาว แต่ฮิตเลอร์ไม่สนใจ สุดท้ายกลุ่มกองทัพภาคกลางก็ต้องหยุดการรุกไปยังกรุงมอสโกไว้ชั่วคราว หน่วยยานเกราะของนายพลกูเดเรียนมุ่งหน้าลงใต้ไปยังยูเครน

ภาพพลเอกไฮนซ์ กูเดเรียน ตรวจเยี่ยมหน่วยยานเกราะในแนวหน้า เดือนสิงหาคม ค.ศ.1941
(Bundesarchiv, Bild 183-L19885 / Huschke / CC-BY-SA 3.0)

วันที่ 10 สิงหาคม หน่วยยานเกราะของนายพลกูเดเรียนมาถึงเมืองรอมนี (Romny) ห่างจากกรุงเคียฟไปทางตะวันออกประมาณ 130 กิโลเมตร ถ้านายพลกูเดเรียนทำการรุกต่อไปทางใต้อีกประมาณ 180 กิโลเมตร ก็จะสามารถเชื่อมต่อกับแนวหน้าของกลุ่มกองทัพภาคใต้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ปิดวงล้อมกรุงเคียฟได้ นายทหารโซเวียตในพื้นที่เริ่มรู้ตัวถึงอันตราย จึงขออนุญาตกองบัญชาการโซเวียตถอนทหารในกรุงเคียฟประมาณ 100,000 นาย ไปทางตะวันออกเพื่อป้องกันการถูกล้อมแต่ถูกปฏิเสธ อิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ผู้นำโซเวียตต้องการให้รักษากรุงเคียฟไว้ให้ได้ กองบัญชาการโซเวียตมองว่าในขณะนั้นหน่วยยานเกราะของนายพลไคลสท์ยังอยู่เลยไปทางใต้ ดังนั้นขอแค่สกัดหน่วยยานเกราะของนายพลกูเดเรียนได้ โซเวียตก็จะรักษากรุงเคียฟไว้ได้ ดังนั้นแทนที่จะรีบถอนทหารออก โซเวียตกลับยิ่งเสริมกำลังเข้าไปในกรุงเคียฟมากขึ้นอีก

ขณะที่โซเวียตมัวแต่สนใจหน่วยยานเกราะของนายพลกูเดเรียนอยู่นั้น หน่วยยานเกราะของนายพลไคลสท์ก็เคลื่อนกำลังมาจากทางใต้ แล้วข้ามแม่น้ำนีเปอร์โดยที่หน่วยข่าวกรองโซเวียตไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ทำการรุกมาสมทบกับนายพลกูเดเรียน เมื่อถึงวันที่ 13 สิงหาคม สถานการณ์ของทหารโซเวียตในกรุงเคียฟก็เข้าขั้นวิกฤต นายทหารโซเวียตในพื้นที่ติดต่อกองบัญชาการโซเวียตอีกครั้งหนึ่งเพื่อขออนุญาตถอยทัพ แต่ก็ถูกปฏิเสธ วันรุ่งขึ้นวงล้อมก็ถูกปิด ทหารโซเวียตมากกว่า 532,000 นายตกอยู่ในวงล้อมของกองทัพเยอรมัน พิจารณาจากจำนวนทหารแล้วถือว่าเป็นการโอบล้อมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

กองบัญชาการโซเวียตพึ่งจะอนุญาตให้ทหารในกรุงเคียฟถอยทัพเมื่อเวลาผ่านไปอีกสองวัน แต่คราวนี้นายทหารในพื้นที่กลับเป็นฝ่ายลังเลเสียเอง เพราะกลัวว่าจะไปขัดคำสั่งของสตาลินก่อนหน้านี้ที่ห้ามทิ้งกรุงเคียฟ จึงขอคำยืนยันจากกองบัญชาการโซเวียตอีกครั้ง เมื่อคำยืนยันถูกส่งมาในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 17 สิงหาคม กองทัพโซเวียตจึงเริ่มถอนทหารออกจากกรุงเคียฟ แต่เมื่อถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว กองทัพโซเวียตไม่สามารถตีฝ่าวงล้อมของกองทัพเยอรมันออกไปได้ แล้วค่อยๆถูกโอบล้อมเข้ามาทุกด้าน ทหารโซเวียตเกือบ 500,000 นายตกเป็นเชลยของกองทัพเยอรมัน มีทหารโซเวียตหนีรอดออกจากวงล้อมกรุงเคียฟไปได้ไม่ถึง 20,000 นาย

ภาพทหารยามเยอรมันในกรุงเคียฟ เดือนกันยายน ค.ศ.1941
(Bundesarchiv, Bild 183-L20208 / Schmidt / CC-BY-SA 3.0)

ทหารเยอรมันเคลื่อนพลเข้ากรุงเคียฟในวันที่ 19 สิงหาคม กองโจรโซเวียตซึ่งจัดตั้งโดย NKVD ทำการวางระเบิดหรือเผาทำลายสถานที่สำคัญในเมืองหลายแห่ง เพื่อไม่ให้กองทัพเยอรมันใช้ประโยชน์ได้ กองทัพเยอรมันต้องใช้เวลาหลายวันจึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

หลังกลุ่มกองทัพภาคใต้สามารถยึดครองกรุงเคียฟได้อย่างเด็ดขาดในช่วงต้นเดือนกันยายน ก็ถึงเวลาที่กลุ่มกองทัพภาคกลางจะเริ่มทำการรุกไปยังกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหภาพโซเวียต ชื่อปฏิบัติการไต้ฝุ่น (Operation Typhoon) ศึกตัดสินของแนวรบด้านตะวันออกในปี ค.ศ.1941 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

สวัสดี

09.10.2021

แสดงความคิดเห็น