การรุกใหญ่ของกองทัพโซเวียตจากแม่น้ำวิสตูลาไปยังแม่น้ำโอเดอร์

เมื่อการรุกใหญ่ของกองทัพโซเวียตในปฏิบัติการบากราติออน (Operation Bagration) ยุติลงในช่วงปลายปี ค.ศ.1944 แม้กลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) ของเยอรมนีจะถูกทำลายย่อยยับ แต่กองทัพเยอรมันก็ยังรักษาที่มั่นริมฝั่งแม่น้ำวิสตูลา (Vistula River) และภาคตะวันตกของโปแลนด์ รวมถึงกรุงวอร์ซอ (Warsaw) ไว้ได้ กองทัพเยอรมันพยายามฉวยโอกาสขณะที่การรุกของโซเวียตยุติลงชั่วคราวเสริมกำลังมาที่แนวหน้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะขณะนั้นกองทัพโซเวียตอีกกองหนึ่งก็กำลังทำการรุกเข้าไปในแถบคาบสมุทรบอลข่าน ส่งผลให้กองทัพเยอรมันต้องแบ่งกำลังพลไปเสริมกำลังที่ฮังการี นอกจากนี้กำลังพลของกองทัพเยอรมันอีกส่วนหนึ่งยังถูกส่งไปทำการรุกใหญ่ในแถบป่าอาร์เดน (Ardennes) ในเบลเยียมที่เรียกกันว่ายุทธการตอกลิ่มหรือ Battle of the Bulge ด้วย กองทัพเยอรมันแทบไม่มีกำลังสำรองเหลืออยู่แล้ว

ภาพรถถัง King Tiger ของเยอรมนีถูกส่งไปเสริมกำลังที่ฮังการีในเดือนตุลาคม ค.ศ.1944
(Bundesarchiv, Bild 101I-680-8282A-06 / Faupel / CC-BY-SA 3.0)

เมื่อยานเกราะเยอรมันส่วนใหญ่ถูกส่งไปที่แนวรบด้านอื่นๆ ทหารเยอรมันในแนวหน้าริมฝั่งแม่น้ำวิสตูลาก็ต้องหาทางป้องกันที่มั่นด้วยกำลังรบเท่าที่มี ประกอบด้วยทหารราบประมาณ 450,000 นาย ปืนใหญ่ประมาณ 4,100 กระบอก และรถถังประมาณ 1,150 คัน ทหารราบเยอรมันใช้วิธีการขุดสนามเพลาะเป็น 2 แนว เมื่อปืนใหญ่โซเวียตเริ่มระดมยิง ทหารราบเยอรมันก็จะทิ้งสนามเพลาะด้านหน้า แล้วถอยร่นไปตั้งรับในแนวสนามเพลาะที่สองห่างออกไปประมาณ 2 – 3 กิโลเมตรแทน ปล่อยให้กองทัพโซเวียตต้องสิ้นเปลืองกระสุนปืนใหญ่ยิงถล่มแนวสนามเพลาะเปล่าๆ ขณะที่หน่วยยานเกราะเยอรมันและรถถังหนักทั้ง Tiger I และ King Tiger รวมกำลังกันอยู่ในแนวหลัง สำหรับทำการโจมตีตอบโต้กองทัพโซเวียต ปัญหาสำคัญคือกองทัพเยอรมันมีกำลังพลไม่มากพอจะป้องกันพื้นที่ตลอดแนวหน้าได้ และสนามเพลาะของเยอรมันทั้งสองแนวก็อยู่ใกล้กันมากเกินไป อยู่ในระยะยิงของปืนใหญ่โซเวียต

ทางด้านกองทัพโซเวียตทางภาคตะวันออกของโปแลนด์ มีกำลังพลจากแนวหน้าเบลารุสที่ 1 (1st Belorussian Front) ใต้บังคับบัญชาของจอมพลเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov) และแนวหน้ายูเครนที่ 1 (1st Ukrainian Front) ใต้บังคับบัญชาของจอมพลอิวาน โคเนฟ (Ivan Konev) รวมกัน 163 กองพล ประกอบด้วยทหารราบประมาณ 2,203,000 นาย รถถัง 4,529 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร 2,513 คัน ปืนใหญ่ 13,763 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง 4,936 กระบอก จรวดหลายลำกล้อง Katyusha จำนวน 2,198 ระบบ ปืน ค. 14,812 กระบอก และเครื่องบินรบมากกว่า 5,000 ลำ นอกจากกองทัพโซเวียตจะมีกำลังพลและอาวุธหนักมากกว่าฝ่ายเยอรมันหลายเท่าแล้ว ในช่วงเวลานี้กองทัพโซเวียตยังได้รับการสนับสนุนรถบรรทุกจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมากตามโครงการยืม-เช่า (Lend-Lease) ส่งผลให้หน่วยทหารราบโซเวียตมีความคล่องตัวขึ้นมาก

ภาพรถถังโซเวียตในปฏิบัติการรุกจากแม่น้ำวิสตูลาไปยังแม่น้ำโอเดอร์
(T.Bean and W.Fowler, Russian tanks of world war II, Ian Allan 2002)

ช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ.1944 – 1945 มีทหารโซเวียตจากกองพันอาญา (Penal Battalion) หนีทัพไปเข้ากับฝ่ายเยอรมัน กำลังพลในกองพันนี้ประกอบด้วยนักโทษและทหารที่กระทำความผิด มักจะถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจอันตรายในแนวหน้าเพื่อเป็นการลงโทษนั่นเอง ส่งผลให้ทหารบางส่วนเชื่อว่าตนเองจะไม่รอดชีวิตกลับมา จึงตัดสินใจหนีทัพไปเข้ากับฝ่ายเยอรมันแทน และได้แจ้งให้กองทัพเยอรมันรู้ว่ากองทัพโซเวียตกำลังจะเริ่มการรุกใหญ่บริเวณแนวหน้าริมฝั่งแม่น้ำวิสตูลา

แม้กองทัพเยอรมันจะรู้ล่วงหน้าการรุกใหญ่ของกองทัพโซเวียตกำลังใกล้เข้ามา แต่ก็ไม่รู้กำหนดเวลาและสถานที่แน่นอน สาเหตุหนึ่งเพราะกองทัพโซเวียตมักจะเคลื่อนกำลังเฉพาะในเวลากลางคืน และทหารโซเวียตในแนวหน้าจะเปิดเพลงและวิทยุเสียงดัง เพื่อกลบเสียงรถถังและรถบรรทุก

วันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1945 ปืนใหญ่โซเวียตเริ่มเปิดฉากยิงถล่มแนวหน้าของทหารเยอรมัน ทหารราบเยอรมันทิ้งแนวสนามเพลาะแนวแรก ถอยร่นไปยังแนวที่สองตามแผน แต่ทว่าปืนใหญ่โซเวียตได้ทำการยิงถล่มแนวสนามเพลาะที่สองของกองทัพเยอรมันไปพร้อมกันด้วย ไม่ได้เล่นตามแผนที่เยอรมันวางไว้ ส่งผลให้แนวป้องกันของเยอรมันริมฝั่งแม่น้ำวิสตูลาแตก กองทัพเยอรมันรีบส่งหน่วยยานเกราะเข้าโจมตีตอบโต้ รถถัง Tiger I และ King Tiger จำนวน 72 คันทำการโจมตีตอบโต้กองทัพโซเวียต บริเวณหมู่บ้านลิโซฟ (Lisow) แต่ถูกกองพลน้อยรถถังที่ 61 พิทักษ์รัฐ (61st Guard Tank Brigade) ของโซเวียตซุ่มโจมตี ถัดขึ้นไปทางเหนือที่เมืองคิเอลเซ่ (Kielce) กองทัพเยอรมันใช้รถถังและปืนใหญ่อัตตาจรมากกว่า 350 คัน ตอบโต้การรุกของกองทัพรถถังโซเวียต 2 กองทัพ แม้หน่วยยานเกราะเยอรมันจะพยายามต่อสู้อย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากมีกำลังพลน้อยกว่าฝ่ายโซเวียตมาก แถมหน่วยรถถังโซเวียตในปี ค.ศ.1945 ก็ได้รับรถถังรุ่นใหม่มาใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่นรถถัง T-34/85 ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 85 มิลลิเมตร สามารถเจาะเกราะด้านหน้าของรถถัง Tiger I และ Panther ได้ที่ระยะประมาณ 500 เมตร ส่งผลให้หน่วยยานเกราะเยอรมันพ่ายแพ้ไปในที่สุด

เมื่อแนวหน้าของกองทัพเยอรมันริมฝั่งแม่น้ำวิสตูลาแตก กองทัพโซเวียตก็รุกเข้าไปในภาคตะวันตกของโปแลนด์อย่างรวดเร็ว กองทัพโซเวียตยึดกรุงวอร์ซอได้ในวันที่ 17 มกราคม ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม กองทัพโซเวียตก็สามารถปลดปล่อยค่ายกักกันเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ค่ายมรณะใหญ่ที่สุดของนาซี ซึ่งถูกใช้ในการสังหารชาวยิวและนักโทษอื่นๆมากกว่า 1.1 ล้านคน ส่งผลให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี (International Holocaust Remembrance Day)

ภาพเด็กที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพโซเวียต
(USHMM/Belarusian State Archive of Documentary Film and Photography)

กองทัพโซเวียตทำการรุกต่อไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อถึงช่วงสิ้นเดือนมกราคมก็ยึดครองแคว้นไซลีเซีย (Silesia) ซึ่งเป็นแหล่งแร่เหล็กและถ่านหินสำคัญของเยอรมนีได้ นายอัลเบิร์ต ชแปร์ (Albert Speer) รัฐมนตรีกระทรวงสรรพาวุธของเยอรมนีถึงกับเขียนบันทึกข้อความว่าเยอรมนีแพ้สงครามแล้ว เพราะไม่มีทรัพยากรพอจะใช้ทำการรบต่อไปได้ แต่ข้อความดังกล่าวถูกปิดเป็นความลับ

ขณะที่สถานการณ์ของเยอรมนีเข้าขั้นวิกฤต อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ก็ได้แต่งตั้งไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) หัวหน้าหน่วย SS เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพวิสตูลา (Army Group Vistula) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แม้พลเอกไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะเสนาธิการของกองทัพเยอรมัน จะคัดค้านเพราะฮิมม์เลอร์ไม่มีประสบการณ์ในการบัญชาการรบมาก่อน แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่สนใจ ในช่วงเวลานั้นฮิตเลอร์ไม่เชื่อถือบรรดานายทหารระดับสูงของกองทัพเยอรมันอีกต่อไปแล้ว ฮิตเลอร์เชื่อว่ามีแต่สมาชิกพรรคนาซีเท่านั้นที่จะสามารถปลุกใจทหารและประชาชนเยอรมันให้ต่อสู้กับผู้รุกรานได้ เมื่อไม่สามารถคัดค้านการแต่งตั้งฮิมม์เลอร์ได้ กูเดเรียนจึงแต่งตั้งนายพลนายพลวัลเทอร์ เวงกค์ (Walther Wenck) นายทหารที่มีความสามารถเป็นประธานคณะเสนาธิการของกลุ่มกองทัพวิสตูลา คอยช่วยงานฮิมม์เลอร์

กองทัพโซเวียตทำการรุกต่อไปทางตะวันตก มุ่งหน้าไปยังแม่น้ำโอเดอร์ แต่แล้วก็เผชิญกับอุปสรรคสำคัญ 2 แห่ง อุปสรรคแห่งแรกคือเมืองพอซนาน (Poznań) ซึ่งถูกทหารเยอรมันดัดแปลงให้เป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่ง เต็มไปด้วยเครื่องกีดขวางและกับดักรถถัง กองทัพโซเวียตจึงตัดสินใจล้อมเมืองนี้ไว้เฉยๆแล้วมุ่งหน้าต่อไปทางตะวันตก ก่อนจะพบกับแนวป้องกันถัดไปของกองทัพเยอรมันชื่อแนวกำแพงตะวันออก (Ostwall หรือ East Wall)

แนวกำแพงตะวันออกเป็นแนวป้องกันที่กองทัพเยอรมันเริ่มก่อสร้างไว้บริเวณชายแดนติดกับโปแลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1934 ก่อนที่โครงการจะถูกเก็บเข้ากรุไปในปี ค.ศ.1938 เพราะขณะนั้นฮิตเลอร์มองว่าแนวป้องกันนี้ไม่มีความจำเป็น เมื่อถึงปี ค.ศ.1944 ขณะที่กองทัพโซเวียตทำการรุกใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กองทัพเยอรมันจึงเสริมกำลังกลับมาที่แนวกำแพงตะวันออกอีกครั้ง ปัญหาคือในขณะนั้นกองทัพเยอรมันแทบไม่มีกำลังสำรองเหลืออยู่แล้ว จึงมีการเกณฑ์เด็กวัยรุ่นและคนแก่มาจัดตั้งเป็นกองกำลังอาสาสมัคร Volkssturm ส่งเข้าไปอุดช่องว่างในแนวกำแพงตะวันออก โดยให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของสมาชิกระดับสูงของพรรคนาซี แทนที่จะสังกัดกองทัพเยอรมัน เพื่อที่พรรคนาซีจะได้ปลุกใจอาสาสมัคร (ซึ่งจริงๆแล้วถูกเกณฑ์มา) เหล่านี้ให้ต่อสู้จนถึงที่สุด

ภาพพิธีสาบานตนของกองกำลังอาสาสมัคร Volkssturm ในกรุงเบอร์ลิน วันที่ 12 พฤศจิกายน ปี 1944
(Bundesarchiv, Bild 146-1971-033-15 / CC-BY-SA 3.0)

แม้กำลังพลบางส่วนของ Volkssturm จะเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ก็มีอายุมาก สภาพร่างกายไม่เหมาะสมที่จะเป็นทหารแล้ว กำลังพลที่เหลือก็ขาดประสบการณ์และขวัญกำลังใจตกต่ำ อาวุธยุทโธปกรณ์นอกเหนือจากอาวุธต่อสู้รถถังพันเซอร์เฟาส์ (Panzerfaust) ก็ขาดแคลน กำลังพลบางส่วนต้องใช้อาวุธรุ่นเก่าจากสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้แต่เครื่องแบบเฉพาะของหน่วยก็ไม่มี มีแต่ปลอกแขนเท่านั้น ไม่ว่าพรรคนาซีจะพยายามโฆษณาชวนเชื่อปลุกใจ Volkssturm ขนาดไหน แต่เมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพโซเวียตที่มีอาวุธหนักครบครัน กำลังพลในหน่วย Volkssturm จำนวนมากก็ยอมแพ้ ส่งผลให้แนวกำแพงตะวันออกแตก

เมื่อกองทัพโซเวียตบุกผ่านเมืองพอซนานและแนวกำแพงตะวันออกมาได้แล้ว ก็มุ่งหน้าต่อไปยังแม่น้ำโอเดอร์ ห่างจากกรุงเบอร์ลินเพียง 70 กิโลเมตร แต่แล้วการรุกของโซเวียตก็หยุดลงริมฝั่งแม่น้ำโอเดอร์ เมื่อเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงของทหารเยอรมัน ประกอบกับกองทัพโซเวียตจำเป็นต้องกวาดล้างทหารเยอรมันที่ยังเหลืออยู่ในแคว้นไซลีเซียและปรัสเซียตะวันออกก่อน ส่งผลให้การรุกครั้งสุดท้ายไปยังกรุงเบอร์ลินต้องถูกเลื่อนออกไปราวสองเดือน

สวัสดี

11.10.2021

แสดงความคิดเห็น