สมรภูมิเบอร์ลิน ชัยชนะของโซเวียต และจุดจบของจักรวรรดิไรซ์ที่สาม

ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 กองทัพโซเวียตทำการรุกจากแม่น้ำวิสตูลาไปยังแม่น้ำโอเดอร์ (Vistula–Oder offensive) เป็นระยะทางไกลกว่า 400 กิโลเมตร ก่อนจะหยุดอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีประมาณ 70 กิโลเมตรเท่านั้น แม้กองทัพโซเวียตจะหยุดการรุกไปยังกรุงเบอร์ลินไว้ชั่วคราวเพื่อพักเสริมกำลัง แต่ในพื้นที่อื่นๆ กองทัพโซเวียตก็ยังทำการรุกคืบอย่างต่อเนื่อง สามารถยึดครองกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี หนึ่งในประเทศฝ่ายอักษะได้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กองทัพเยอรมันพยายามโจมตีตอบโต้เพื่อยึดแหล่งน้ำมันในฮังการีคืนแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม กองทัพโซเวียตก็บุกเข้าไปในออสเตรีย และสามารถยึดกรุงเวียนนาได้ในวันที่ 13 เมษายน

ช่วงปลายเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 กองทัพสัมพันธมิตรตะวันตกข้ามแม่น้ำไรน์ แล้วทำการรุกเข้าไปในเยอรมนีอย่างรวดเร็ว โดยที่กองทัพเยอรมันแทบไม่ต่อต้านเลย แม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะตกลงกันระหว่างการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference) ว่าจะยกกรุงเบอร์ลินให้อยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียตหลังสงครามสิ้นสุดสุดลง แต่อิโอซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ผู้นำโซเวียตรู้สึกกังวลว่าถ้าเส้นทางเข้าสู่เบอร์ลินจากทิศตะวันตกเปิดโล่ง กองทัพสหรัฐฯและอังกฤษก็อาจฉวยโอกาสนี้ บุกยึดกรุงเบอร์ลินตัดหน้าโซเวียตแล้วนำมาใช้เป็นประเด็นต่อรองทางการเมือง สตาลินจึงเรียกจอมพลเกออร์กี ชูคอฟ (Georgy Zhukov) ผู้บัญชาการแนวหน้าเบลารุสที่ 1 (1st Belorussian Front) และจอมพลอิวาน โคเนฟ (Ivan Konev) ผู้บัญชาการแนวหน้ายูเครนที่ 1 (1st Ukrainian Front) มาหารือเรื่องนี้ที่กรุงมอสโก จอมพลทั้งสองต่างเห็นพ้องกันว่ากองทัพโซเวียตจะต้องรีบบุกยึดกรุงเบอร์ลินให้ได้ก่อนฝ่ายตะวันตก

ภาพจอมพลเกออร์กี ชูคอฟ จากปกนิตยสาร Life ปี 1944 – 1945
(Public Domain)
ภาพจอมพลอิวาน โคเนฟ
(Public Domain)

ในการบุกยึดกรุงเบอร์ลิน กองบัญชาการสูงสุดของโซเวียต (สตาฟก้า – Stavka) วางแผนจะใช้กำลังพลจากแนวหน้าเบลารุสที่ 1 ของจอมพลชูคอฟ, แนวหน้าเบลารุสที่ 2 ของจอมพลคอนสแตนติน โรคอสซอฟสกี (Konstantin Rokossovsky) และแนวหน้ายูเครนที่ 1 ของจอมพลโคเนฟ ประกอบด้วยทหารราบมากกว่า 2,500,000 นาย รถถังและปืนใหญ่อัตตาจร 6,250 คัน ปืนใหญ่ 41,000 กระบอก จรวดหลายลำกล้อง Katyusha จำนวน 3,255 ระบบ ยานยนต์ชนิดอื่นๆ 95,000 คัน และเครื่องบินรบ 7,500 ลำ โดยแนวหน้าเบลารุสที่ 1 ของจอมพลชูคอฟจะเป็นหัวหอกหลักในการรุกเข้าสู่ใจกลางกรุงเบอร์ลินจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ เจาะผ่านแนวป้องกันของกองทัพเยอรมันที่เนินซีโลว์ (Seelow Heights) ขณะเดียวกันจอมพลชูคอฟก็จะแบ่งกำลังพลส่วนหนึ่งรุกไปโอบล้อมกรุงเบอร์ลินทางทิศเหนือและตะวันตก นอกจากจะเป็นการปิดทางหนีของทหารเยอรมัน แล้ว ยังเป็นการขัดขวางไม่ให้ทหารอังกฤษและสหรัฐฯเข้าสู่กรุงเบอร์ลินด้วย ทางด้านแนวหน้ายูเครนที่ 1 ของจอมพลโคเนฟก็จะทำการรุกจากทางตะวันออกเฉียงใต้ โอบล้อมกรุงเบอร์ลินทางทิศใต้และตะวันตก ส่วนแนวหน้าเบลารุสที่ 2 ของจอมพลโรคอสซอฟสกี ซึ่งกำลังสู้รบติดพันอยู่ในปรัสเซียตะวันออก จะตามมาสมทบภายหลังแล้วทำการรุกเข้าไปยังภาคเหนือของเยอรมนีและพื้นที่ทางทิศตะวันตกของกรุงเบอร์ลิน จะเห็นได้ว่าตามแผนการนี้ จอมพลชูคอฟจะได้ผลงานในบุกยึดกรุงเบอร์ลินไปคนเดียว ส่งผลให้จอมพลโคเนฟไม่พอใจมาก เพราะนายทหารโซเวียตต่างก็ต้องการผลงานในการบุกยึดกรุงเบอร์ลิน จอมพลโคเนฟจึงให้คณะเสนาธิการของแนวหน้ายูเครนที่ 1 วางแผนสำรองไว้ เผื่อกรณีที่จอมพลชูคอฟไม่สามารถบุกเข้ากรุงเบอร์ลินจากทางตะวันออกเฉียงเหนือได้ จอมพลโคเนฟก็จะบุกเข้ากรุงเบอร์ลินจากทางตะวันออกเฉียงใต้แทน

ทางด้านกองทัพเยอรมันมีกำลังพลอยู่ในพื้นที่รอบกรุงเบอร์ลิน ประกอบด้วยทหารราบประมาณ 766,000 นาย รถถังและปืนใหญ่อัตตาจรประมาณ 1,500 คัน ปืนใหญ่ประมาณ 9,000 กระบอก และเครื่องบินรบประมาณ 2,000 ลำ แม้กองทัพเยอรมันจะยังมียานเกราะและเครื่องบินรบเหลืออยู่มากพอสมควร แต่ก็ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะขาดแคลนน้ำมัน เครื่องบินรบเยอรมันจำนวนมากถูกจอดกราวน์ ขณะที่รถถังที่เคลื่อนที่ไม่ได้ก็ถูกนำไปดัดแปลงเป็นบังเกอร์

ภาพกองกำลังอาสาสมัคร Volkssturm ถืออาวุธต่อสู้รถถัง Panzerfaust ในกรุงเบอร์ลิน เดือนมีนาคม ค.ศ.1945
(Bundesarchiv, Bild 183-J31320 / CC-BY-SA 3.0)

การป้องกันพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเบอร์ลินอยู่ในความรับผิดชอบของพลเอกก็อตฮาร์ด ไฮน์ริซี (Gotthard Heinrici) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพวิสตูลา (Army Group Vistula) แทนที่ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ในวันที่ 20 มีนาคม ร่วมกับกองทัพที่ 9 ของพลเอกธีโอดอร์ บุสเซ่อ (Theodor Busse) นายพลไฮน์ริซีเป็นนายทหารที่ชำนาญการตั้งรับ เขามองว่าการสร้างแนวป้องกันที่ริมฝั่งแม่น้ำโอเดอร์นั้นไร้ประโยชน์เพราะคงจะถูกปืนใหญ่โซเวียตถล่มราบคาบไปตั้งแต่ต้น ดังนั้นเขาจึงให้ทหารช่างทำการเสริมแนวป้องกันชั้นถัดมาที่เนินซีโลว์แทน เมื่อปืนใหญ่โซเวียตเริ่มระดมยิง เขาก็จะให้ทหารเยอรมันถอยร่นมาตั้งรับที่เนินซีโลว์ แม้แผนการนี้จะเหมาะสมกับสถานการณ์ของกองทัพเยอรมันในขณะนั้น แต่นายพลไฮน์ริซีก็ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) มีคำสั่งให้ทหารเยอรมันรักษาพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ห้ามถอยแม้แต่ก้าวเดียว และนายทหารเยอรมันที่กล้าโต้แย้งฮิตเลอร์ก็เหลือน้อยลงทุกที ก่อนหน้านั้นไม่นานพลเอกไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ก็พึ่งถูกปลดจากตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการ เพราะขัดแย้งกับฮิตเลอร์ โดยพลเอกฮานส์ เคร็บ (Hans Krebs) ขึ้นมารับตำแหน่งแทน

เวลาตีสาม วันที่ 16 เมษายน ปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องของโซเวียตมากกว่า 7,000 กระบอก เปิดฉากยิงถล่มแนวหน้าของกองทัพเยอรมันบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโอเดอร์ หลังการระดมยิงสิ้นสุดลง ทหารโซเวียตก็เปิดไฟฉายส่องเป้าขนาดใหญ่ 150 ดวง ฉายไปทางที่มั่นของทหารเยอรมัน ตั้งใจจะให้ทหารเยอรมันตาพร่า แต่หารู้ไม่ว่าทหารเยอรมันส่วนใหญ่ได้ถอยร่นจากพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโอเดอร์ไปยังแนวป้องกันชั้นที่สองที่เนินซีโลว์ก่อนหน้านั้นแล้ว ส่งผลให้การระดมปืนใหญ่ของโซเวียตไม่สามารถสร้างความเสียหายให้ฝ่ายเยอรมันได้มากนัก นอกจากนี้แสงจากไฟฉายส่องเป้าของโซเวียตก็ไม่สามารถส่องผ่านหมอกหนายามเช้าและควันจากกระสุนปืนใหญ่ไปถึงแนวของทหารเยอรมันได้ แถมยังช่วยให้ทหารเยอรมันมองเห็นทหารโซเวียตง่ายขึ้นด้วยซ้ำ กองทัพโซเวียตเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง ไม่สามารถฝ่าแนวป้องกันของเยอรมันที่เนินซีโลว์ไปได้ การสู้รบดุเดือดดำเนินไปถึงช่วงบ่าย จอมพลชูคอฟระดมเครื่องบินรบมากกว่า 800 ลำ เข้ามาสนับสนุนทหารที่แนวหน้า พร้อมกับส่งรถถังที่สำรองไว้ทั้งหมดเข้าสู่สนามรบ ส่งผลให้รถถัง ปืนใหญ่อัตตาจร รถบรรทุก และยานพาหนะอื่นๆของโซเวียตจำนวนมากเข้ามาแออัดกันอยู่ที่แนวหน้า เป็นเป้าหมายอย่างดีของปืนใหญ่เยอรมัน

ภาพปืนใหญ่โซเวียตระดมยิงถล่มที่มั่นเยอรมันบริเวณเนินซีโลว์ในเดือนเมษายน ค.ศ.1945
(Bundesarchiv, Bild 183-E0406-0022-012 / CC-BY-SA 3.0)

ขณะที่แนวหน้าเบลารุสที่ 1 ของจอมพลชูคอฟติดอยู่ที่เนินซีโลว์ แนวหน้ายูเครนที่ 1 ของจอมพลโคเนฟก็ทำการรุกจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลินฝ่าแนวป้องกันของเยอรมันเข้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะกองทัพเยอรมันวางกำลังไว้ทางด้านนี้ไม่มากนัก เมื่อจอมพลโคเนฟทราบข่าวว่าการรุกของจอมพลชูคอฟกำลังติดขัด ก็ฉวยโอกาสติดต่อสตาลินในช่วงเย็นวันที่ 17 เมษายน เสนอจะส่งรถถังไปช่วยจอมพลชูคอฟ เมื่อสตาลินอนุมัติ จอมพลโคเนฟก็ออกคำสั่งให้กองทัพรถถังของแนวหน้ายูเครนที่ 1 วกขึ้นไปทางกรุงเบอร์ลินทันทีตามแผนที่เขาเตรียมสำรองไว้ แต่ทว่าสุดท้ายจอมพลโคเนฟก็ไม่อาจรุกเข้าเบอร์ลินได้ก่อนจอมพลชูคอฟ เพราะเจออุปสรรคคือแนวป้องกันของกองทัพเยอรมันที่ซอสเซน (Zossen) ทางใต้ของกรุงเบอร์ลิน

เมื่อแนวหน้าเบลารุสที่ 1 ของจอมพลชูคอฟตีฝ่าแนวป้องกันของเยอรมันที่เนินซีโลว์ได้ในวันที่ 19 เมษายน เขารีบออกคำสั่งให้พลเอกเซมยอน บอกดานอฟ (Semyon Bogdanov) ผู้บัญชาการกองทัพรถถังที่ 2 พิทักษ์รัฐ (2nd Guards Tank Army) รีบบุกเข้ากรุงเบอร์ลินให้ได้เป็นหน่วยแรก ซึ่งบอกดานอฟก็ทำได้สำเร็จเมื่อนายทหารในสังกัดของเขาคือเซมยอน คริโวเชน (Semyon Krivoshein) ผู้บัญชาการกองทัพน้อยยานเกราะที่ 1 (1st Mechanized Corps) บุกถึงชานกรุงเบอร์ลินในวันที่ 21 เมษายน ส่งผลให้คริโวเชนได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์วีรชนแห่งสหภาพโซเวียต (Hero of the Soviet Union)

วันที่ 20 เมษายน เป็นวันเกิดครบรอบ 56 ปีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สถานการณ์ของกองทัพเยอรมันในกรุงเบอร์ลินกำลังวิกฤต กองทัพโซเวียตเริ่มเข้าประชิดเมืองได้แล้วใช้ปืนใหญ่ระดมยิงถล่มกรุงเบอร์ลินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำลังรบหลักของฝ่ายเยอรมันทั้งกองทัพที่ 9 และกองทัพยานเกราะที่ 4 (4th Panzer Army) ถูกล้อมอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน ไม่สามารถถอยร่นกลับมาช่วยป้องกันเมืองได้ สมาชิกระดับสูงของพรรคนาซีที่มาอวยพรวันเกิดให้ฮิตเลอร์ต่างพากันขอให้เขาออกจากกรุงเบอร์ลินแต่ถูกปฏิเสธ ฮิตเลอร์ออกคำสั่งให้พลโทเฟลิกซ์ ชไตเนอร์ (Felix Steiner) นำกองกำลังเฉพาะกิจชไตเนอร์ (Army Detachment Steiner) โจมตีกองทัพโซเวียตจากทางเหนือ พร้อมกับให้กองทัพที่ 12 ของพลเอกวัลเทอร์ เวงกค์ (Walther Wenck) เคลื่อนพลมาสนับสนุนจากทางทิศตะวันตก แต่ทั้งนายพลชไตเนอร์และนายพลเวงกค์ก็ไม่สามารถกอบกู้กรุงเบอร์ลินได้ นายพลชไตเนอร์มีกำลังพลน้อยเกินไป ไม่สามารถปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กองทัพโซเวียตได้ ขณะที่นายพลเวงกค์ก็ทำได้เพียงแค่เคลื่อนกำลังเข้ามาใกล้กรุงเบอร์ลิน แล้วช่วยเปิดวงล้อมของโซเวียต เพื่ออพยพพลเมืองออกไปให้มากที่สุดเท่านั้น ก่อนที่จะถูกกองทัพโซเวียตผลักดันให้ต้องถอยทัพไปในที่สุด เมื่อฮิตเลอร์ทราบข่าวก็โกรธมาก กล่าวหาฝ่ายเสนาธิการว่าเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้ทั้งหมด ก่อนจะยอมรับว่าเยอรมนีแพ้สงครามแล้ว แต่ฮิตเลอร์ยังยืนยันว่าจะอยู่ในบังเกอร์ที่กรุงเบอร์ลินจนวินาทีสุดท้าย

ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งพลเอกเฮลมุท ไวท์ลิง (Helmuth Weidling) เป็นผู้บัญชาการป้องกันกรุงเบอร์ลิน ขณะนั้นกองทัพเยอรมันมีทหารเหลืออยู่ในกรุงเบอร์ลินประมาณ 45,000 นาย และมีกำลังตำรวจ, ยุวชนฮิตเลอร์ และอาสาสมัคร Volkssturm อีกประมาณ 40,000 นาย มีทหารเยอรมันจากภายนอกกรุงเบอร์ลินฝ่าวงล้อมโซเวียตเข้ามาในเมืองได้น้อยมาก หลักๆมีเพียงอาสาสมัครชาวฝรั่งเศสในหน่วย SS Charlemagne เท่านั้น นายพลไวท์ลิงแบ่งพื้นที่กรุงเบอร์ลินออกเป็น 8 โซนเรียงตามตัวอักษร A ถึง H แต่ละโซนรับผิดชอบโดยนายทหารยศพันเอกหรือนายพล ฮิตเลอร์ยังได้แต่งตั้งให้วิลเฮล์ม โมนเคอ (Wilhelm Mohnke) เป็นผู้บัญชาการป้องกันพื้นที่ที่ทำการรัฐบาล มีกำลังพลประมาณ 2,000 นาย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กองทัพโซเวียตก็เริ่มบุกเข้ามาในตัวเมืองเบอร์ลิน การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด แม้ทหารเยอรมันจะพยายามต่อต้านอย่างเหนียวแน่น แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งทหารโซเวียตที่มีกำลังพลและประสบการณ์มากกว่าได้ กำลังพลฝ่ายเบอรมันจำนวนมากเป็นอาสาสมัคร Volssturm และยุวชนฮิตเลอร์ที่ขาดประสบการณ์ ในขณะที่ทหารโซเวียตจำนวนมากเป็นทหารผ่านศึกผ่านสมรภูมิสำคัญๆเช่นสตาลินกราดมาแล้ว แม้ทหารเยอรมันจะมีอาวุธต่อสู้รถถัง Panzerfaust ที่สามารถเจาะเกราะรถถังโซเวียตได้ทุกรุ่น แต่ Panzerfaust มีจุดอ่อนคือมีระยะยิงหวังผลสั้นมากเพียง 60 เมตรเท่านั้น กองทัพโซเวียตจึงคิดยุทธวิธีใหม่มารับมืออาวุธต่อสู้รถถังรุ่นนี้โดยใช้ทหารราบบุกนำหน้า แล้วรถถังค่อยแล่นตามมาห่างจากแนวทหารราบประมาณ 30 เมตร ส่งผลให้ทหารเยอรมันที่ซุ่มอยู่ตามอาคารต่างๆต้องปะทะกับทหารราบโซเวียตก่อน เปิดเผยตำแหน่งให้รถถังโซเวียตรู้ จากนั้นรถถังโซเวียตก็จะระดมยิงใส่ที่มั่นของทหารเยอรมันจากระยะห่างตั้งแต่ 150 เมตรขึ้นไป โดยที่ทหารเยอรมันไม่สามารถใช้ Panzerfaust ยิงตอบโต้ได้

ภาพรถถังและปืนใหญ่อัตตาจรโซเวียตในกรุงเบอร์ลิน
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

วันที่ 26 เมษายน กองทัพโซเวียตเริ่มโจมตีพื้นที่ใจกลางกรุงเบอร์ลิน โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่บริเวณที่ทำการรัฐบาลและรัฐสภาไรช์สตาก (Reichs­tag) แม้ไรช์สตากจะไม่ได้ถูกใช้งานมานานแล้ว และศูนย์กลางของรัฐบาลเยอรมันในขณะนั้นได้ถูกย้ายลงไปอยู่ในบังเกอร์ใต้ดินของฮิตเลอร์ แต่กองทัพโซเวียตไม่รู้เกี่ยวกับบังเกอร์ของฮิตเลอร์ และมองว่ารัฐสภาไรช์สตากยังมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์

เช้าวันที่ 29 เมษายน กองทัพโซเวียตเริ่มข้ามสะพานมอลท์เคอ (Moltke) ไม่ไกลจากรัฐสภาไรช์สตาก แต่การรุกคืบหน้าไปช้ามาก เพราะติดอุปสรรคตรงที่ตัวสะพานได้รับความเสียหาย ส่งผลให้อาวุธหนักเช่นปืนใหญ่ไม่สามารถข้ามมาสนับสนุนทหารราบได้ นอกจากนี้ยังถูกระดมยิงจากปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 128 มิลลิเมตรของเยอรมันบนหอคอยต่อสู้อากาศยาน (Flak tower) บริเวณสวนสัตว์เบอร์ลินด้วย ในวันเดียวกันนี้ฮิตเลอร์เขียนพินัยกรรมทางการเมือง แต่งตั้งให้จอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz) เป็นผู้นำเยอรมันคนใหม่ และให้นายโจเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเขียนพินัยกรรมเสร็จแล้ว ฮิตเลอร์ก็เข้าพิธีแต่งงานกับอีวา เบราน์ (Eva Braun)

วันที่ 30 เมษายน ทหารโซเวียตซ่อมแซมสะพานมอลท์เคอจนใช้งานได้ แล้วสนธิกำลังกันเข้าโจมตีรัฐสภาไรช์สตาก สนับสนุนด้วยอาวุธหนักทั้งรถถังและปืนใหญ่ การสู้รบในตัวอาคารเป็นไปอย่างดุเดือด ห้องต่อห้อง ทหารโซเวียตต้องใช้เวลาถึงสองวันกว่าจะกวาดล้างทหารเยอรมันออกไปได้หมด เกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปักธงโซเวียตเหนือรัฐสภาไรช์สตากคือ เช่นเดียวกับการปักธงชาติสหรัฐฯเหนือยอดเขาซูริบาชิบนเกาะอิโวจิมา ภาพถ่ายการปักธงเหนือรัฐสภาไรช์สตากที่เราคุ้นเคยนั้นจริงๆแล้วเป็นการปักธงผืนที่สองและเป็นการจัดฉากถ่ายภาพ ความจริงแล้วทหารโซเวียตสามารถปักธงผืนแรกเหนือรัฐสภาไรช์สตากได้ตั้งแต่เวลา 22.40 น. ของวันที่ 30 เมษายน แต่เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลากลางคืน มีแสงสว่างไม่พอสำหรับถ่ายรูป ประกอบกับการสู้รบในตัวอาคารยังดำเนินไปอย่างดุเดือด ทหารเยอรมันสามารถลดธงโซเวียตผืนดังกล่าวลงมาได้ในวันรุ่งขึ้น เมื่อทหารโซเวียตยึดรัฐสภาไรช์สตากได้อย่างเด็ดขาดในวันที่ 2 พฤษภาคม จึงมีการจัดฉากถ่ายภาพการปักธงใหม่โดยช่างภาพเยฟเกนี ฮาลเดย์ (Yevgeny Khaldei)

ภาพทหารโซเวียตปักธงเหนือรัฐสภาไรช์สตาก วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1945 โดย เยฟเกนี ฮาลเดย์
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

ฮิตเลอร์และภรรยาฆ่าตัวตายเวลาประมาณ 15.30 น. ของวันที่ 30 เมษายน ร่างของทั้งคู่ถูกนำไปเผาทำลายไม่ไกลจากทางออกฉุกเฉินของบังเกอร์

วันที่ 1 พฤษภาคม พลเอกฮานส์ เคร็บ ประธานคณะเสนาธิการเยอรมันขอเจรจากับพลเอกวาซีลี ชุยคอฟ (Vasily Chuikov) เพื่อขอสงบศึก รวมถึงแจ้งข่าวว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้ว แต่นายพลชุยคอฟยืนกรานว่าเยอรมนีต้องยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น หลังการเจรจาล้มเหลว เกิบเบิลส์ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการยอมแพ้ ก็วางยาพิษลูกๆทั้ง 6 คนก่อนที่เขาและภรรยาจะฆ่าตัวตายตาม ส่วนนายพลเคร็บส์เองก็ยิงตัวตายในวันรุ่งขึ้น ภาระในการประกาศยอมแพ้ตกอยู่กับนายพลไวท์ลิง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ทหารเยอรมันที่เหลืออยู่ต่างพยายามตีฝ่าวงล้อมกองทัพโซเวียตออกไปทางตะวันตกเพื่อไปยอมแพ้ต่อกองทัพสหรัฐฯอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเอลเบอ (Elbe)

วันที่ 2 พฤษภาคม นายพลไวท์ลิงประกาศให้ทหารเยอรมันในกรุงเบอร์ลินยอมแพ้ ทหารเยอรมันที่เหลืออยู่ก็ทยอยวางอาวุธ

วันที่ 7 พฤษภาคม พลเอกอัลเฟรด โยเดิล (Alfred Jodl) เป็นผู้แทนกองทัพเยอรมันลงนามยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่รัฐบาลใหม่ของเยอรมนีจะลงนามในสนธิสัญญายอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขอีกฉบับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น ชาติตะวันตกจึงกำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคมเป็นวันแห่งชัยชนะในยุโรป (Victory in Europe Day หรือ VE Day) อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตมองว่านายทหารโซเวียตที่ลงนามในสนธิสัญญายอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของกองทัพเยอรมันฉบับแรกนั้นไม่มีอำนาจลงนาม จึงไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว และจัดให้มีการลงนามใหม่อีกครั้ง โดยให้จอมพลวิลเฮล์ม ไคเทล (Wilhelm Keitel) ของเยอรมนีลงนามยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อจอมพลชูคอฟที่กรุงเบอร์ลิน เวลาประมาณ 22.34 น. ของวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคมในกรุงมอสโก รัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตจึงกำหนดให้วันที่ 9 พฤษภาคมเป็นวันแห่งชัยชนะ (Victory Day) เป็นการปิดฉากมหาสงครามรักชาติ (The Great Patriotic War) และสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป มีการจัดงานสวนสนามฉลองชัยชนะที่จัตุรัสแดง กรุงมอสโกในวันที่ 24 มิถุนายน

สวัสดี

14.10.2021

แสดงความคิดเห็น