
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
M10 หรือที่หลายคนนิยมเรียกว่า Wolverine เป็นหนึ่งในยานเกราะล่ารถถังที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหรัฐฯในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าสู่สายการผลิตในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1942 ถูกผลิตออกมา 6,706 คัน
ตามหลักนิยมของกองทัพสหรัฐฯตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รถถังจะถูกใช้ในภารกิจสนับสนุนทหารราบเป็นหลัก ในขณะที่การต่อสู้รถถังจะเป็นหน้าที่ของยานเกราะล่ารถถัง (Tank Destroyer หรือ TD) ในช่วงแรกๆสหรัฐฯได้พัฒนายานเกราะล่ารถถังโดยการนำปืนใหญ่ต่อสู้รถถังติดตั้งบนแคร่รถกึ่งสายพาน M3 และรถบรรทุก Ford แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กองทัพเยอรมันก็ได้พัฒนายานเกราะล่ารถถังขึ้นมาหลายรุ่น โดยการนำแคร่รถถังมาดัดแปลง ส่งผลให้สหรัฐฯเกิดแนวคิดที่จะดัดแปลงแคร่รถถังกลาง M4 Sherman เป็นยานเกราะล่ารถถังบ้าง ยานเกราะล่ารถถัง M10 จึงถือกำเนิดขึ้น
ยานเกราะล่ารถถัง M10 ใช้พลประจำรถ 4 นายได้แก่ ผบ.รถ พลขับ พลยิง และพลบรรจุ มีน้ำหนัก 29.6 ตัน ใช้แคร่รถถัง M4 Sherman ติดอาวุธปืนใหญ่ M7 ขนาด 76.2 มิลลิเมตร และปืนกลหนัก M2HB ขนาด 12.7 มิลลิเมตร ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล General Motors 6046 ขนาด 375 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 300 กิโลเมตร มีความคล่องตัวสูง แต่ก็แลกมาด้วยการมีเกราะบาง จุดอ่อนอีกข้อของ M10 คือป้อมปืนไม่มีหลังคา ส่งผลให้พลประจำรถมีโอกาสได้รับอันตรายจากสะเก็ดระเบิด กระสุนปืนใหญ่ ปืน ค. รวมถึงการโจมตีของทหารราบได้
ยานเกราะล่ารถถัง M10 เข้าสู่สนามรบครั้งแรกในตูนิเซีย ช่วงต้นปี ค.ศ.1943 สามารถรับมือรถถังเยอรมันส่วนใหญ่ในขณะนั้น รวมถึงรถถัง Panzer IV รุ่นติดปืนใหญ่ 75 มิลลิเมตรลำกล้องยาวได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงปี ค.ศ.1944 M10 ก็ไม่สามารถรับมือรถถัง Tiger I และ Panther ได้อีกต่อไป สหรัฐฯเริ่มทดแทน M10 ด้วยยานเกราะล่ารถถัง M18 Hellcat และ M36 ขณะที่อังกฤษซึ่งได้รับมอบ M10 ไปใช้งานมากกว่า 1,600 คันตามโครงการยืม-เช่า (Lend-Lease) ก็ทำการอัพเกรด M10 โดยเปลี่ยนปืนใหญ่เป็นขนาด 17 ปอนด์ แบบเดียวกับรถถัง Firefly เพื่อให้มีอำนาจการยิงสูงขึ้น นอกจากอังกฤษแล้ว กองทัพฝรั่งเศสเสรี (Free French Army) และกองทัพโซเวียตก็ได้รับ M10 ไปใช้งานจำนวนหนึ่งเช่นกัน
สวัสดี
17.10.2021