มีแฟนเพจ Facebook การทูตและการทหาร Military & Diplomacy ท่านหนึ่งส่งคำถามเข้ามาหลังไมค์ ว่าเหตุใดในสงครามโลกครั้งที่สอง เสือรถถัง (Panzer ace) ของฝ่ายเยอรมันส่วนใหญ่ ถึงนิยมใช้รถถังหนัก Tiger I มากกว่ารถถังกลาง Panzer V Panther ทั้งที่ขีดความสามารถของรถถัง Panther ไม่ได้ด้อยไปกว่า Tiger I เลย คุณสมบัติบางด้านเช่นเกราะด้านหน้าของ Panther อาจดีกว่า Tiger I ด้วยซ้ำ ?
ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะถ้าเราพิจารณารายชื่อเสือรถถังเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็จะเห็นว่าเสือรถถัง Panther ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็จะมีแค่ แอร์นส์ บาร์กมานน์ (Ernst Barkmann) เพียงคนเดียว ในขณะที่เสือรถถัง Tiger I และ King Tiger จะมีทั้ง มิคาเอล วิทท์มานน์ (Michael Wittmann), ออตโต คาริอุส (Otto Carius), คูร์ท คนิสเปล (Kurt Knispel) เป็นต้น เหตุใดเสือรถถัง Tiger I จึงมีจำนวนมากกว่า ทั้งที่ขีดความสามารถของรถถัง Panther และ Tiger I แทบไม่แตกต่างกัน แถมรถถัง Panther ยังถูกผลิตออกมามากกว่า Tiger I หลายเท่าด้วย ก่อนอื่นเราจะมาดูประวัติความเป็นมาของรถถังทั้งสองรุ่นอย่างคร่าวๆก่อนครับ

(Bundesarchiv, Bild 183-J14953 / CC-BY-SA 3.0)
รถถัง Tiger I เป็นรถถังหนัก เข้าประจำการในปี ค.ศ.1942 มีน้ำหนัก 57 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 88 มิลลิเมตร สามารถเจาะเกราะรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรเกือบทุกรุ่นได้จากระยะไกล หุ้มเกราะหนา ออกแบบมาใช้เป็นหัวหอก เจาะแนวหน้าของข้าศึก เพื่อเปิดทางให้รถถังเบาและรถถังกลางเคลื่อนที่เข้าไปโอบล้อมข้าศึกตามยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkreig) ต่อไป โดยรถถัง Tiger I (และต่อมาก็ King Tiger) จะจัดกำลังเป็นกองพันยานเกราะหนัก (schwere Panzerabteilung) แยกออกมาจากกองพลยานเกราะ (Panzer division) ปกติ แม้รถถัง Tiger I จะมีความซับซ้อนและต้องการการบำรุงรักษามาก แต่ถ้าใช้งานถูกต้องตามที่ออกแบบมา คือใช้รุกรบเจาะแนวเป็นระยะสั้นๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสงคราม กองทัพเยอรมันกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ ภารกิจหลักของรถถัง Tiger I ได้เปลี่ยนจากการเจาะแนวข้าศึกกลายเป็นการเคลื่อนกำลังไปมา เพื่ออุดรอยรั่วในแนวหน้าของกองทัพเยอรมัน สักดหัวหอกของข้าศึกโดยแทบไม่มีเวลาหยุดพัก การซ่อมบำรุงเลยกลายเป็นปัญหาขึ้นมา รถถัง Tiger I อยู่ในสายการผลิตจนถึงปี ค.ศ.1944 ถูกผลิตออกมาเพียง 1,347 คัน
รถถัง Panther แม้จะมีคุณสมบัติหลายอย่างที่สามารถจัดให้เป็นรถถังหนักได้ แต่กองทัพเยอรมันใช้งานรถถังรุ่นนี้ในเสมือนเป็นรถถังกลาง จึงจัดให้เป็นรถถังกลางตามวิธีการใช้ เข้าประจำการในปี ค.ศ.1943 ได้รับอิทธิพลในการออกแบบมาจากรถถัง T-34 ของสหภาพโซเวียต จึงมีเกราะลาดเอียง มีน้ำหนัก 44.8 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรลำกล้องยาว สามารถเจาะเกราะรถถังส่วนใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรได้จากระยะไกล รถถัง Panther มีราคาไม่แพง สามารถผลิตได้ง่าย (ตามมาตรฐานของเยอรมัน) อยู่ในสายการผลิตจนสิ้นสุดสงคราม ถูกผลิตออกมามากกว่า 6,000 คัน

(Bundesarchiv, Bild 183-H26258 / CC-BY-SA 3.0)
จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของรถถัง Tiger I และ Panther แทบไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือวิธีการใช้ รถถัง Tiger I จะจัดกำลังเป็นกองพันยานเกราะหนัก แยกหน่วยออกมาต่างหาก เป็นหัวหอกในการเข้าปะทะกับข้าศึกตลอดเวลา ทั้งในการโจมตีและป้องกัน ผลที่ตามมาคือพลรถถังฝีมือดีของเยอรมันจะได้รับการคัดเลือกเข้าไปอยู่ในกองพันยานเกราะหนักเป็นหลัก และกำลังพลเหล่านี้ก็จะได้รับรถถัง Tiger I ไปใช้งาน ถ้าเราย้อนไปดูรายชื่อเสือรถถังเยอรมันก็จะพบว่าเกือบทั้งหมดจะมาจากกองพันยานเกราะหนักทั้งของกองทัพบกและหน่วย SS นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเสือรถถังเยอรมันส่วนใหญ่จึงใช้รถถัง Tiger I มากกว่ารถถัง Panther ซึ่งเป็นรถถังสำหรับกองพลยานเกราะปกตินั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงกลางถึงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เสือรถถังเยอรมันส่วนใหญ่จะใช้รถถัง Tiger I เป็นหลัก ก็ไม่ได้หมายความว่าแต้มสังหารของเสือรถถังเหล่านี้จะมาจากรถถัง Tiger I เท่านั้น เพราะก่อนหน้าที่เสือรถถังเหล่านี้จะได้ใช้รถถัง Tiger I จะต้องแสดงฝีมือในการใช้รถถังหรือยานเกราะรุ่นอื่นๆมาก่อน เช่น มิคาเอล วิทท์มานน์ เคยใช้ปืนใหญ่อัตตาจร Sturmgeschütz III หรือ StuG III ในขณะที่ออตโต คาริอุสก็เคยใช้รถถังเบา Panzer 38(t) และหลังจากใช้งานรถถัง Tiger I ได้ระยะหนึ่งก็เปลี่ยนไปใช้ยานเกราะล่ารถถัง Jagdtiger เป็นต้น
สวัสดี
17.10.2021