
หลังการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1917 กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตได้เริ่มพัฒนาปืนไรเฟิลต่อสู้ของตัวเองขึ้น โดยใช้ต้นแบบจากปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง T-Gewehr M1918 ของเยอรมันมาเปลี่ยนขนาดกระสุนเป็นขนาด 12.7 มิลลิเมตร เหมือนปืนกลหนัก แม้โครงการนี้จะประสบความสำเร็จแต่โซเวียตมองว่าในระยะยาว กระสุนขนาด 12.7 มิลลิเมตรคงไม่เพียงพอเจาะเกราะรถถังรุ่นใหม่ๆได้ โครงการจึงถูกพับไป ต่อมาในปี ค.ศ.1932 โซเวียตเริ่มพัฒนาปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด 37 มิลลิเมตร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในปี ค.ศ.1938 กองทัพโซเวียตหันกลับมาให้ความสนใจปืนไรเฟิลต่อสู้รถถังอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่าในสนามรบจริงมีโอกาสที่ทหารราบจะต้องปะทะกับรถถัง โดยที่หน่วยปืนใหญ่ต่อสู้รถถังอาจเข้าไปสนับสนุนได้ไม่ทันเวลา จึงจำเป็นต้องมีอาวุธต่อสู้รถถังให้ทหารราบนำติดตัวไปได้ เมื่อสหภาพโซเวียตร่วมมือกับเยอรมนีตัดแบ่งโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 กองทัพโซเวียตสามารถยึดปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง Wz.35 ขนาด 7.9 มิลลิเมตรจากโปแลนด์ได้เป็นจำนวนมากและนำไปศึกษา ร่วมกับปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง Panzerbüchse 38 ของเยอรมนี จากนั้นนาย Vasily Degtyaryov วิศวกรและนักออกแบบอาวุธของโซเวียต ก็ได้นำจุดเด่นของปืนไรเฟิลต่อสู้รถถังทั้งสองรุ่นมาพัฒนาปืนไรเฟิลต่อสู้รถถังของโซเวียตชื่อ PTRD-41 เข้าสู่สายการผลิตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1941 หลังเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตไม่นาน นอกจาก PTRD-41 แล้ว กองทัพโซเวียตยังมีปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง PTRS-41 อีกรุ่นหนึ่ง ออกแบบโดย Sergei Gavrilovich Simonov ใช้ระบบกึ่งอัตโนมัติ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะมีความซับซ้อนและราคาแพง ไม่เหมาะกับสถานการณ์ของกองทัพโซเวียตในขณะนั้นที่ต้องการยุทโธปกรณ์ที่มีราคาถูก ผลิตง่าย จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะหาได้
ปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง PTRD-41 มีน้ำหนัก 17.3 กิโลกรัม ใช้กระสุนเจาะเกราะหัวทังสเตนขนาด 14.5 x 114 มิลลิเมตร สามารถเจาะเกราะเหล็กกล้าหนา 40 มิลลิเมตร ที่ระยะ 100 เมตร ในช่วงแรกกองทัพโซเวียตมีความกังวลว่า PTRD-41 จะมีประสิทธิภาพพอจะเจาะเกราะรถถังเยอรมันได้หรือไม่ เนื่องจากโซเวียตเชื่อว่ากองทัพเยอรมันในขณะนั้นใช้งานรถถังหนัก Neubaufahrzeug แต่ปรากฏว่ารถถัง Neubaufahrzeug เป็นเพียงรถถังต้นแบบสำหรับโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น รถถังเยอรมันในปี ค.ศ.1941 ล้วนแต่เป็นรถถังเบาอย่าง Panzer I, Panzer II, Panzer 35(t), Panzer 38(t) และรถถังกลางอย่าง Panzer III และ Panzer IV ซึ่ง PTRD-41 สามารถรับมือได้ แม้แต่รถถัง Panzer V Panther ซึ่งเข้าประจำการในปี ค.ศ.1943 ก็มีจุดอ่อนคือเกราะด้านข้างบางมาก กระสุนของ PTRD-41 สามารถเจาะเข้าได้ จนกองทัพเยอรมันต้องเสริมเกราะด้านข้างให้ในภายหลัง ประสิทธิภาพของ PTRD-41 ที่สามารถรับมือรถถังเยอรมันเกือบทุกรุ่นในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้ปืนไรเฟิลต่อสู้รถถังรุ่นนี้ได้รับความนิยมและถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากกว่า 471,500 กระบอก อย่างไรก็ตามเมื่อถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง PTRD-41 ก็ไม่สามารถเจาะเกราะรถถังหนักรุ่นใหม่ๆของเยอรมันเช่น Tiger I และ King Tiger ได้แล้ว ทหารโซเวียตจึงเปลี่ยนไปเน้นใช้ PTRD-41 ในการทำลายรถหุ้มเกราะและรถกึ่งสายพานที่มีเกราะบางแทน
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตได้ส่งปืนไรเฟิลต่อสู้รถถัง PTRD-41 ให้กองทัพเกาหลีเหนือและจีนใช้งานในสงครามเกาหลี (Korean War) และต่อมาก็ส่งให้กองกำลังเวียดกง (Viet Cong) ใช้งานในสงครามเวียดนาม (Vietnam War) ปัจจุบันปืนไรเฟิลต่อสู้รถถังรุ่นนี้ก็ยังมีใช้งานอยู่โดยกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซีย ระหว่างการสู้รบในดอนบาส ค.ศ.2014 – 2015 แม้จะไม่สามารถเจาะเกราะรถถังรุ่นใหม่ๆได้แล้ว แต่ PTRD-41 ยังสามารถใช้จัดการกับรถหุ้มเกราะล้อยางตระกูล BTR และรถรบทหารราบตระกูล BMP ที่มีเกราะบางได้
สวัสดี
20.10.2021