เอเชียกลางไม่ให้สหรัฐฯใช้ฐานทัพปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯขอใช้น่านฟ้าปากีสถาน

ภาพโดย ErikaWittlieb จาก Pixabay

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา สื่อ Republic World รายงานว่านายอับดุลอาซิซ คามิลอฟ (Abdulaziz Kamilov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอุสเบกิสถาน แถลงข่าวปฏิเสธรายงานของสื่อหลายสำนักที่ระบุว่าสหรัฐฯจะส่งทหารมาประจำที่อุสเบกิสถาน เพื่อใช้เป็นฐานทัพสำหรับปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน นายคามิลอฟบอกว่าสหรัฐฯไม่มีความจำเป็นต้องส่งทหารมาที่อุสเบกิสถาน และทางอุสเบกิสถานได้แจ้งสหรัฐฯไปแล้วหลายครั้งว่าประเด็นดังกล่าวไม่อาจยอมรับได้

ในวันเดียวกันสื่อ Xinhua ก็รายงานว่านายซาดีร์ ชาปารอฟ (Sadyr Zhaparov) ประธานาธิบดีของคีร์กีซสถานก็ออกมาแถลงข่าว ปฏิเสธไม่ให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพในคีร์กีซสถาน เขาบอกว่าในคีร์กีซสถานมีฐานทัพของรัสเซียแห่งเดียวก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้สหรัฐฯมาตั้งฐานทัพเพิ่มอีก

หลังจากถูกอุสเบกิสถานและคีร์กีซสถานปฏิเสธไม่ให้ตั้งฐานทัพ ล่าสุดมีข่าวจาก CNN รายงานว่าสหรัฐฯกำลังไปเจรจาขอใช้น่านฟ้าปากีสถาน สำหรับปฏิบัติการในอัฟกานิสถานแทน แต่ก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะตกลงกันได้หรือเปล่า เพราะหนึ่งในเงื่อนไขของปากีสถานในการให้สหรัฐฯใช้น่านฟ้าคือ สหรัฐฯจะต้องช่วยปากีสถาน “จัดการ” ความสัมพันธ์กับอินเดีย

เมื่อพูดถึงแสนยานุภาพและปฏิบัติการทางทหาร คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่จำนวนและขีดความสามารถของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ แต่ลืมนึกถึงเรื่องโลจิสติกส์และการส่งกำลังบำรุง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ต่อให้ประเทศหนึ่งมีกำลังพลมากหรือมียุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงแค่ไหน ถ้าไม่สามารถส่งเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการได้ หรือส่งเข้าไปแล้วไม่สามารถส่งกำลังบำรุงได้ตลอดรอดฝั่ง ก็ไม่อาจชนะสงครามได้ ในกรณีนี้ก็เช่นกัน สหรัฐฯอยู่ห่างจากอัฟกานิสถานหลายพันกิโลเมตร เรียกว่าอยู่คนละซีกโลก เมื่อสหรัฐฯถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไปแล้ว ก็จำเป็นต้องหาฐานทัพในประเทศใกล้เคียงเพื่อจะได้ใช้ปฏิบัติการทางทหารหรือการข่าวกรองต่อไปได้

อัฟกานิสถานเป็นประเทศ landlocked ไม่มีทางออกทะเล มีชายแดนติดกับประเทศอิหร่าน เติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน ทาจิกิสถาน จีน อินเดีย และปากีสถาน อย่างไรก็ตามพื้นที่ชายแดนอัฟกานิสถานที่ติดกับอินเดียและจีนนั้นเป็นเพียงติ่งเล็กๆทางทิศตะวันออกเท่านั้น ขณะที่อิหร่านก็ไม่ถูกกับสหรัฐฯ ดังนั้นประเทศที่สหรัฐฯพอจะใช้เป็นฐานสำหรับปฏิบัติการในอัฟกานิสถานได้จึงมีเพียงประเทศอดีตสหภาพโซเวียตและปากีสถานเท่านั้น อย่างไรก็ตามประเทศอดีตสหภาพโซเวียตในเอเชียกลางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย และรัสเซียก็ไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯจะตั้งฐานทัพในประเทศเหล่านี้ แม้ก่อนหน้านี้รัสเซียจะเคยเสนอให้สหรัฐฯใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานปฏิบัติการในอัฟกานิสถานได้ แต่รัสเซียจะยอมให้สหรัฐฯใช้พื้นที่ภายในฐานทัพของรัสเซียเท่านั้น พูดง่ายๆคือสหรัฐฯต้องยอมให้รัสเซียเป็นคนคุมปฏิบัติการนั่นเอง ไม่ให้แยกออกไปตั้งฐานทัพต่างหาก ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐฯยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อสหรัฐฯไม่ยอมรับเงื่อนไขของรัสเซีย รัสเซียก็ไม่ยอมให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพในเอเชียกลาง ทางเลือกของสหรัฐฯในขณะนี้จึงเหลือแค่ปากีสถาน แต่จากเงื่อนไขของปากีสถานที่เห็นได้ชัดว่าต้องการให้สหรัฐฯทิ้งอินเดีย กลับมาสนับสนุนปากีสถานเหมือนเดิม สหรัฐฯไม่น่าจะยอมรับได้ เพราะจะส่งผลกระทบอย่างมากกับยุทธศาสตร์ในการถ่วงดุลจีน

สวัสดี

25.10.2021

แสดงความคิดเห็น