เครื่องบินรบเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ 1

กองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) เป็นเหล่าทัพที่มีบทบาทสำคัญในหลักนิยมสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) และชัยชนะของกองทัพเยอรมัน (Wehrmacht) ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามเครื่องบินรบเยอรมันส่วนใหญ่ได้ถุกพัฒนาขึ้นเพื่อปฏิบัติการทางยุทธวิธีร่วมกับหน่วยรถถังและกองกำลังภาคพื้นดินในแนวหน้าเป็นหลัก ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ระยะไกล ซึ่งขีดจำกัดนี้ก็เริ่มแสดงให้เห็นระหว่างยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษ (Battle of Britain) นอกจากนี้การที่เยอรมนีมีทรัพยากรจำกัด สวนทางกับแนวรบที่ขยายออกไปเรื่อยๆยังส่งผลให้กองทัพอากาศเยอรมันค่อยๆถูกลดทอนกำลังลงจนหายไปจากน่านฟ้าในที่สุด ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักเครื่องบินรบบางรุ่นของกองทัพอากาศเยอรมัน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ตอน

เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109

ภาพเครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109G-6 ของเยอรมนีในปี ค.ศ.1943
(Bundesarchiv, Bild 101I-662-6659-37 / Hebenstreit / CC-BY-SA 3.0)

เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109 ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงต้นถึงกลางทศวรรษ 1930 ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.1935 และเข้าสู่สนามรบจริงครั้งแรกระหว่างสงครามกลางเมืองสเปนในปี ค.ศ.1937 ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น Bf-109 ก็กลายเป็นเครื่องบินขับไล่หลักของกองทัพอากาศเยอรมันจนสิ้นสุดสงคราม ถูกผลิตออกมากกว่า 33,984 ลำ เป็นเครื่องบินรบที่ถูกผลิตออกมามากที่สุดในประวัติศาสตร์

เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109 มีจุดเด่นที่มีขนาดเล็ก มีความเร็วและความคล่องตัวสูง สามารถไต่ระดับและดำดิ่งได้เร็ว นอกจากนี้ยังมีอำนาจการยิงรุนแรงเพราะติดอาวุธทั้งปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตร 2 กระบอกที่จมูกเครื่องบินและปืนกลอากาศขนาด 20 มิลลิเมตร 2 กระบอกที่ปีก จึงมีอำนาจการยิงสูงกว่าเครื่องบินขับไล่ส่วนใหญ่ที่ติดอาวุธแค่ปืนกลเท่านั้น ข้อด้อยของเครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109 คือมีพิสัยบินสั้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากระหว่างยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษ เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 109 ที่ขึ้นบินจากสนามบินในฝรั่งเศส มีเวลาปฏิบัติการเหนือน่านฟ้าทางใต้ของอังกฤษเพียง 30 นาที และต่อมาเมื่อกองทัพอากาศเยอรมันเริ่มทิ้งระเบิดกรุงลอนดอน เครื่องบินขับไล่รุ่นนี้สามารถติดตามไปคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดเหนือน่านฟ้าลอนดอนได้เพียง 10 นาทีก็ต้องรีบกลับฐาน ไม่สามารถปฏิบัติการได้เต็มประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุหนึ่งที่เยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสมรภูมิดังกล่าว

เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 110

ภาพเครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 110 ของเยอรมนี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1940
(Bundesarchiv, Bild 101I-382-0211-011 / Wundshammer, Benno / CC-BY-SA 3.0)

เครื่องบินขับไล่ Messerschmitt Bf 110 เป็นเครื่องบินขับไล่สองเครื่องยนต์ สองที่นั่ง พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 โดยได้รับการสนับสนุนจากแฮร์มัน เกอริง (Hermann Göring) ผู้บัญชาการทหารอากาศของเยอรมนี เข้าประจำการในปี ค.ศ.1937 มีจุดเด่นที่พิสัยบินไกล มีอำนาจการยิงรุนแรงด้วยปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มิลลิเมตร (รุ่นหลังๆสามารถติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรได้ด้วย) จึงสามารถใช้ในภารกิจสนับสนุนภาคพื้นดินได้ แต่มีข้อด้อยคือขาดความคล่องตัว จุดอ่อนข้อนี้แสดงให้เห็นในช่วงยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษ โดยเฉพาะเมื่อกองทัพอากาศเยอรมันเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ให้เครื่องบินขับไล่ต้องบินคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความสูญเสียเครื่องบินทิ้งระเบิด แต่กลับส่งผลให้เครื่องบินขับไล่ต้องสูญเสียความคล่องตัวและความริเริ่มในการไล่ล่าเครื่องบินขับไล่อังกฤษไป โดยเฉพาะเครื่องบินขับไล่ Bf-110 ที่ปกติก็มีความคล่องตัวน้อยกว่าเครื่องบินขับไล่รุ่นอื่นๆอยู่แล้ว ก็ยิ่งเสียเปรียบมากขึ้นไปอีก กลายเป็นเครื่องบินขับไล่คุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ต้องมีเครื่องบินขับไล่รุ่นอื่นมาคุ้มกันอีกต่อหนึ่ง หลังยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษสิ้นสุดลง กองทัพอากาศเยอรมันจึงเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินขับไล่ Bf 110 เป็นเครื่องบินขับไล่กลางคืน ป้องกันเยอรมนีจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรแทน รวมถึงใช้เป็นเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด สนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินในสมรภูมิแอฟริกาเหนือและในแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งเครื่องบินขับไล่ Bf 110 ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและประจำการอยู่ในกองทัพอากาศเยอรมันจนสิ้นสุดสงคราม เครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ถูกผลิตออกมามากกว่า 6,170 ลำ

เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Junkers Ju-87 Stuka

ภาพเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Ju-87 G-1 ติดปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 37 มิลลิเมตรไว้ใต้ปีกทั้งสองข้าง ใช้ในภารกิจต่อสู้รถถัง
(Bundesarchiv, Bild 101I-646-5184-26 / Niermann / CC-BY-SA 3.0)

เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Junkers Ju-87 Stuka ออกแบบโดย Hermann Pohlmann เป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกผลิตออกมามากกว่า 5,700 ลำ ทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1935 และออกรบจริงครั้งแรกในปี ค.ศ.1937 ระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน มีปีกที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงมีการติดตั้งไซเรนไว้เพื่อข่มขวัญข้าศึกเรียกว่าแตรแห่งเจริโค (Jericho trumpets) เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Stuka ประสบความสำเร็จมากในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งช่วงยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษ จุดอ่อนของเครื่องบินรบรุ่นนี้ซึ่งมีความคล่องตัวต่ำถึงปรากฏออกมา เครื่องบินดำทิ้งระเบิด Stuka ถูกเครื่องบินขับไล่อังกฤษยิงตกเป็นจำนวนมากจนต้องถอนตัวจากการรบ

แม้จะประสบความสูญเสียอย่างหนักระหว่างยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษและขีดจำกัดของเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Stuka เริ่มปรากฏออกมา แต่กองทัพเยอรมันก็ยังใช้งานเครื่องบินรบรุ่นนี้ต่อไปจนสิ้นสุดสงคราม โดยเฉพาะในแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Stuka สามารถทำลายรถถังโซเวียตได้หลายพันคัน มีการพัฒนาต่อยอดเครื่องบินดำทิ้งระเบิด Stuka ออกมาหลายรุ่นรวมถึงรุ่นติดปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 37 มิลลิเมตรสำหรับต่อสู้รถถังโดยเฉพาะด้วย

เครื่องบินตอร์ปิโด Fieseler Fi-167

ภาพเครื่องบินตอร์ปิโด Fieseler Fi-167 ของเยอรมนี
(Bundesarchiv, Bild 146-1977-110-06 / CC-BY-SA 3.0)

Fieseler Fi-167 เป็นเครื่องบินตอร์ปิโดปีกสองชั้นที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 เพื่อใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Graf Zeppelin ของกองทัพเรือเยอรมัน มีประสิทธิภาพสูง สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำมากจนเกือบจะขึ้นลงเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นแนวดิ่งได้ แต่สุดท้ายเยอรมนีกลับไม่สามารถต่อเรือบรรทุกเครื่องบินได้ตามแผน โครงการจัดหาเครื่องบินตอร์ปิโด Fi-167 จึงถูกระงับไปด้วยหลังผลิตออกมาเพียง 14 ลำ กองทัพอากาศเยอรมันรับเครื่องบินตอร์ปิโด Fi-167 ที่สร้างเสร็จแล้วไปใช้งานต่อ ก่อนจะขายต่อให้โครเอเชียในปี ค.ศ.1944

เครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111

ภาพเครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He111 ของกองทัพอากาศเยอรมัน
(Bundesarchiv, Bild 101I-647-5211-33 / Wilzek / CC-BY-SA 3.0)

เครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 เป็นหนึ่งในเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง ออกแบบโดยฝาแฝด Siegfried และ Walter Günter ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1935 ระหว่างการพัฒนาได้รับฉายาว่าหมาป่าในชุดแกะ (Wolf in sheep’s clothing) เนื่องจากในขณะนั้นเยอรมนีถูกจำกัดด้วยข้อตกลงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ห้ามไม่ให้พัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิด จึงต้องใช้การพัฒนาเครื่องบินโดยสารเป็นฉากบังหน้า เครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 ประสบความสำเร็จมากในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งช่วงยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษ จุดอ่อนของเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นนี้ที่บริเวณด้านหน้าห้องนักบินมีเพียงกระจกไม่มีเกราะกำบัง รวมถึงมีปืนกลป้องกันตัวน้อยจึงเริ่มปรากฏออกมา แม้เครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 จะเริ่มล้าสมัยแล้วในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เนื่องจากโครงการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ Bomber B ไม่ประสบความสำเร็จ กองทัพอากาศเยอรมันจึงยังคงใช้งานเครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 ต่อไปจนสิ้นสุดสงคราม เมื่อสายการผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 ถูกปิดในปี ค.ศ.1944 ก็มีเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นนี้ผลิตออกมาถึง 6,508 ลำ

เครื่องบินทิ้งระเบิด Dornier Do 17

ภาพเครื่องบินทิ้งระเบิด Dornier Do 17 ของเยอรมนีเหนือน่านฟ้าฝรั่งเศส วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1940
(Bundesarchiv, Bild 101I-341-0456-04 / Folkerts / CC-BY-SA 3.0)

เครื่องบินทิ้งระเบิด Dornier Do 17 ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1930 ออกรบครั้งแรกในสงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ.1937 และต่อมาก็เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดหลักของกองทัพอากาศเยอรมันในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองคู่กับเครื่องบินทิ้งระเบิด Heinkel He 111 โดยเฉพาะในการบุกยุโรปตะวันตกและสหภาพโซเวียต เครื่องบินทิ้งระเบิด Dornier Do 17 มีรูปร่างเรียวยาวจึงได้ฉายาว่าดินสอบิน (Flying Pencil) อย่างไรก็ตามแม้เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นนี้จะประสบความสำเร็จมากในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจุดอ่อนของเครื่องบินทิ้งระเบิด Dornier Do 17 ที่สามารถบรรทุกระเบิดได้น้อยและมีพิสัยบินจำกัดก็เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เยอรมนีจึงปิดสายการผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นนี้ในปี ค.ศ.1942 หลังผลิตออกมาได้ 2,139 ลำ ทดแทนด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด Junkers Ju 88

โปรดติดตามตอนต่อไป

สวัสดี

02.11.2021

แสดงความคิดเห็น