ส.ว.สหรัฐฯเสนอร่างกฎหมายสนับสนุนงบกลาโหมให้ไต้หวันปีละหลายพันล้านเหรียญ

ภาพโดรน Chung Shyang II ของไต้หวันในปี ค.ศ.2007
(Kliu1/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

สื่อ Sputnik และ Taiwan News รายงานว่าขณะนี้สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯกำลังเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อสนับสนุนงบกลาโหมให้ไต้หวัน โดยนาย Josh Hawley ได้เสนอร่างกฎหมาย Arm Taiwan Act of 2021 กำหนดให้สหรัฐฯสนับสนุนงบกลาโหมปีละ 3,000 ล้านเหรียญ (เกือบ 100,000 ล้านบาท) ระหว่างปี ค.ศ.2023 – 2027 ให้ไต้หวันใช้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และฝึกทหาร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการทำสงครามอสมมาตรกับจีน ขณะที่ ส.ว. จากพรรครีพับลิกันอีกกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยนาย Jim Risch, นาย Mike Crapo, นาย Bill Hagerty, นาย Mitt Romney, นาย John Cornyn และนาย Marco Rubio ได้เสนอร่างกฎหมาย Taiwan Deterrence Act กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯสนับสนุนงบกลาโหมให้ไต้หวันปีละ 2,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 66,500 ล้านบาท) ระหว่างปี ค.ศ.2023 – 2032 เพื่อให้ไต้หวันใช้จัดหายุทโธปกรณ์ รวมถึงสำรองหรือตั้งสายการผลิตกระสุนให้เพียงพอสำหรับใช้งานในเวลาฉุกเฉิน จะได้ไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ส.ว.สหรัฐฯกลุ่มนี้ระบุด้วยว่าไต้หวันเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ มีบทบาทในการเผยแผ่แนวคิดประชาธิปไตย ตอบโต้ภัยคุกคามจากจีน

ส่วนตัวผมมองว่าประเด็นนี้น่าติดตามมากครับ เพราะถึงแม้ปัจจุบันสหรัฐฯจะสนับสนุนงบกลาโหมให้ชาติพันธมิตรหลายประเทศเช่นอิสราเอล อียิปต์ ฯลฯ แต่กรณีของไต้หวันนั้นไม่เหมือนกัน เพราะสหรัฐฯไม่มีความสัมพันธ์ “แบบเป็นทางการ” กับไต้หวันมาตั้งแต่ตอนที่ฟื้นสัมพันธ์กับจีนช่วงยุค 70 แล้ว แม้สหรัฐฯจะมีกฎหมาย Taiwan Relations Act และ Foreign Relations Authorization Act ที่ออกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกำหนดแนวทางดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวันรวมถึงความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวันไว้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวสหรัฐฯทำไว้กับผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการของไต้หวันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่ใช่รัฐบาลไต้หวันที่กรุงไทเป สหรัฐฯจึงเลี่ยงบาลีได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน และท่าทีของสหรัฐฯต่อประเด็นไต้หวันก็คลุมเครือและกำกวมมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิปดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ต่อเนื่องมาจนถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ในปัจจุบัน สหรัฐฯมีท่าทีใกล้ชิดกับไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการขายยุทโธปกรณ์หลายรุ่นให้ไต้หวัน ไปจนถึงการที่ไบเดนหลุดปากเมื่อไม่นานมานี้ว่าสหรัฐฯจะปกป้องไต้หวันถ้าถูกจีนโจมตี ก็ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับไต้หวัน ยิ่งถ้าเกิดร่างกฎหมายสนับสนุนงบกลาโหมให้ไต้หวันที่ ส.ว.สหรัฐฯกำลังเสนออยู่นั้นผ่านขึ้นมา ก็จะยิ่งส่งผลให้สหรัฐฯปฏิเสธได้ยากขึ้นว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีนต่อเนื่องไปเป็นลูกโซ่

เรื่องสถานะของไต้หวันถือเป็นเรื่องใหญ่ครับ กรณีไม่เหมือนซีเรีย ลิเบีย หรือเยเมน ที่เป็นสงครามตัวแทนระหว่างชาติมหาอำนาจแข่งขันแก่งแย่งอิทธิพลกันในประเทศอื่น แต่เรื่องนี้เกี่ยวพันถึงอำนาจอธิปไตยของจีนโดยตรง ดังนั้นจีนถอยไม่ได้ การที่จีนส่งเครื่องบินรบไปบินว่อนเต็มน่านฟ้าแถวช่องแคบไต้หวันอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้ว เรียกว่าจีนมี Red Line ชัดเจน ดังนั้นนักการเมืองสหรัฐฯและไต้หวันควรระมัดระวังในการกำหนดนโยบายแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ให้เหตุการณ์บานปลายถึงขั้นมีการใช้กำลังทหาร สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งสหรัฐฯและจีน รวมถึงอยู่ไม่ไกลจากไต้หวันด้วย ก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรักษาสมดุลระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสองให้ดีครับ

สวัสดี

05.11.2021

แสดงความคิดเห็น