ขีดความสามารถระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 ของจีน

ภาพรถฐานยิงระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 ของจีน
(Tyg728/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)

Hong Qi 9 หรือ HQ-9 เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลของจีน มีพื้นฐานมาจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของรัสเซีย เสริมด้วยเทคโนโลยีบางส่วนจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ Patriot ของสหรัฐฯ เข้าประจำการในกองทัพจีนเมื่อปี ค.ศ.1997

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 ระบบหนึ่งประกอบด้วยรถเรดาร์ค้นหาเป้าหมาย Type-305A หรือ Type-305B, เรดาร์ควบคุมการยิง HT-233 และรถฐานยิง 8 คัน แต่ละคันบรรทุกจรวด 4 ลูก ติดตั้งบนแคร่รถบรรทุก 8×8 Taian TA5380

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 รุ่นแรกๆใช้จรวดที่มีพื้นฐานมาจากจรวดตระกูล 5V55 ของ S-300 รุ่นเก่า มีระยะยิง 125 กิโลเมตร ต่อมาจีนได้พัฒนารุ่น HQ-9A และ HQ-9B เข้าประจำการในปี ค.ศ.2001 และ ค.ศ.2006 ตามลำดับ มีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 200 – 250 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับ S-300PMU2 ที่จีนจัดหาจากรัสเซีย แต่ HQ-9 รุ่นใหม่ของจีนมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยกว่า S-300 เพราะพัฒนาขึ้นมาทีหลังห่างกันเกือบ 10 ปี ปัจจุบันจีนกำลังพัฒนา HQ-9C รุ่นใหม่ ซึ่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่าจะมีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 400 กิโลเมตร เป็นไปได้ว่าจีนจะใช้เทคโนโลยีจาก S-400 ที่พึ่งจัดหาจากรัสเซียเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

นอกจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 รุ่นที่มีฐานยิงบนบกแล้ว จีนก็ได้พัฒนา HQ-9 รุ่นติดตั้งบนเรือรบได้แก่ HHQ-9 และ HHQ-9A โดยเรือพิฆาตชั้น Type 052C ลำหนึ่งจะมี HHQ-9A จำนวน 48 ท่อยิง

แม้จีนจะพัฒนาต่อยอดระบบป้องกันภัยทางอากาศ HQ-9 จนมีขีดความสามารถใกล้เคียงกับ S-300 รุ่นใหม่ๆและในอนาคตก็อาจมีขีดความสามารถใกล้เคียงกับ S-400 แต่ HQ-9 รุ่นส่งออกคือ Fang Dun 2000 หรือ FD-2000 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2012 กลับยังคงใช้งานจรวดรุ่นเก่าที่มีระยะยิงเพียง 125 กิโลเมตรอยู่ ปัจจุบันมีลูกค้าต่างประเทศได้แก่เติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน และปากีสถาน (รุ่นของปากีสถานมีชื่อรุ่นว่า HQ-9/P)

สวัสดี

08.11.2021

แสดงความคิดเห็น