
(One half 3544/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ในช่วงต้นสงครามเย็น ก่อนหน้าที่อาวุธประเภทจรวดและขีปนาวุธจะถูกพัฒนาขึ้นมาใช้งานอย่างแพร่หลาย อาวุธนิวเคลียร์นอกจากระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินแล้ว ก็มีเพียงปืนใหญ่ขนาดยักษ์ที่ยิงกระสุนนิวเคลียร์เท่านั้น โดยในปี ค.ศ.1953 สหรัฐฯประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงปืนใหญ่นิวเคลียร์ M65 Atomic Annie ขนาด 280 มิลลิเมตร ระยะยิงประมาณ 30 กิโลเมตร ที่สนามทดสอบในรัฐเนวาดา ส่งผลให้สหภาพโซเวียตตัดสินใจพัฒนาอาวุธชนิดเดียวกันออกมาบ้าง โดยมอบหมายให้โรงงาน Kirov ในเมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) เป็นผู้ดำเนินการ ปืนใหญ่อัตตาจรยักษ์ 2B1 Oka จึงถือกำเนิดขึ้น
ปืนใหญ่อัตตาจร 2B1 Oka คันต้นแบบถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1957 ตั้งชื่อตามแม่น้ำ Oka ในภาคกลางของรัสเซีย ใช้ปืนใหญ่ขนาด 420 มิลลิเมตร ความยาวลำกล้อง 20 เมตร ติดตั้งบนแคร่รถถังหนัก T-10 ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล V12-5 ขนาด 700 แรงม้า ปืนใหญ่อัตตาจร 2B1 Oka มีน้ำหนัก 55.3 ตัน กระสุนลูกหนึ่งหนัก 750 กิโลกรัม ระยะยิง 45 กิโลเมตร
แม้ตามสเปกกระดาษปืนใหญ่อัตตาจร 2B1 Oka จะมีประสิทธิภาพสูง แต่ผลการทดสอบกลับพบว่าปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้มีปัญหามาก หนึ่งในนั้นคือตัวปืนใหญ่ขนาด 420 มิลลิเมตรนั้นมีน้ำหนักมากเกินไป เมื่อทำการยิงจะมีแรงสะท้อนรุนแรงมากจนตัวรถและเกียร์ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
โครงการพัฒนาปืนใหญ่อัตตาจร 2B1 Oka ดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ.1960 ถึงตอนนั้นแนวคิดการพัฒนาขีปนาวุธได้เข้ามาแทนที่แนวคิดการใช้ปืนใหญ่ขนาดยักษ์จากยุคสงครามโลกแล้ว ส่งผลให้โซเวียตตัดสินใจยกเลิกโครงการนี้ แล้วหันไปเน้นพัฒนาขีปนาวุธเช่น 2K6 Luna แทน ปืนใหญ่อัตตาจร 2B1 Oka จึงไม่มีโอกาสแจ้งเกิด
สวัสดี
11.11.2021