เรือคอร์เวตชั้น Buyan Project 21630 และ Buyan-M Project 21631 เป็นเรือรบขนาดเล็กของกองทัพเรือรัสเซีย ออกแบบมาสำหรับปฏิบัติการในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งเป็นหลัก (เนื่องจากเรือมีขนาดเล็กมากจึงสามารถแล่นเข้าไปในแม่น้ำสายใหญ่ๆได้ด้วย) แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถออกปฏิบัติการในระยะไกลได้ด้วยเช่นกัน รัสเซียมีแผนต่อเรือคอร์เวตตระกูล Buyan ทั้งหมด 15 ลำ เป็นชั้น Buyan จำนวน 3 ลำและ Buyan-M จำนวน 12 ลำ
เรือคอร์เวตชั้น Buyan มีลูกเรือ 29 – 36 นาย ระวางขับน้ำ 500 ตัน มีขนาดยาว 62 เมตร กว้าง 9.6 เมตร สูง 6.57 เมตร มีความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะปฏิบัติการ 2,800 กิโลเมตร ติดอาวุธปืนเรือ A-190-01 ขนาด 100 มิลลิเมตร, ระบบป้องกันระยะประชิด (CIWS) AK-630 จำนวน 2 แท่น, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ 3M47 Gibka จำนวน 1 แท่น (ติด MANPADS ตระกูล Igla ได้ 4 ลูก), จรวดหลายลำกล้อง A-215 Grad-M ขนาด 122 มิลลิเมตร 40 ท่อยิง (ตระกูลเดียวกับ BM-21 Grad), เครื่องยิงลูกระเบิด DP-65 และปืนกลหนัก KPV ขนาด 14.5 มิลลิเมตร 2 กระบอก กองทัพเรือรัสเซียมีเรือคอร์เวตชั้น Buyan ใช้งานอยู่ 3 ลำชื่อ Astrakhan, Volgodonsk และ Makhachkala สังกัดกองเรือแคสเปียน (Caspian Flotilla) ทั้งหมด ต่อที่อู่ต่อเรือ Almaz ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก วางกระดูกงูระหว่างปี ค.ศ.2004 – 2006 ปล่อยลงน้ำระหว่างปี ค.ศ.2005 – 2012 รับมอบเข้าประจำการระหว่างปี ค.ศ.2006 – 2012

(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)
ในปี ค.ศ.2010 รัสเซียได้พัฒนาต่อยอดเรือคอร์เวตชั้น Buyan เป็นชั้น Buyan-M เพื่อให้สามารถทำการยิงจรวดร่อน Kalibr ได้ เรือลำแรกของชั้นชื่อ Grad Sviyazhsk เริ่มวางกระดูกงูในปี ค.ศ.2010 ปล่อยลงน้ำ ค.ศ.2013 และเข้าประจำการในปี ค.ศ.2014 รัสเซียมีแผนจะต่อเรือคอร์เวตชั้น Buyan-M จำนวน 12 ลำสำหรับกองเรือแคสเปียน, กองเรือบอลติก (Baltic Fleet) และกองเรือทะเลดำ (Black Sea Fleet) ต่อที่อู่ต่อเรือ Zelenodolsk ปัจจุบันต่อเสร็จแล้ว 10 ลำ รับมอบเข้าประจำการแล้ว 9 ลำ
เรือคอร์เวตชั้น Buyan-M มีลูกเรือ 52 นาย ระวางขับน้ำ 949 ตัน มีขนาดยาว 75 เมตร กว้าง 11 เมตร สูง 6.57 เมตร มีความเร็วสูงสุด 26 นอต ระยะปฏิบัติการ 4,300 กิโลเมตรที่ความเร็ว 12 นอต ติดอาวุธปืนเรือ A-190-01 ขนาด 100 มิลลิเมตร, ระบบป้องกันระยะประชิด (CIWS) AK-630-M2 จำนวน 2 แท่น (เรือลำสุดท้ายของชั้นชื่อ Stavropol จะติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-M แทน), ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Komar จำนวน 2 แท่น (แต่ละแท่นติด MANPADS ตระกูล Igla ได้ 4 ลูก), ท่อยิงแนวดิ่งสำหรับจรวดร่อน Kalibr หรือ P-800 Oniks จำนวน 8 ท่อยิง, เครื่องยิงลูกระเบิด DP-65 และปืนกลหนัก KPV ขนาด 14.5 มิลลิเมตร 2 กระบอก

(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)
จะเห็นได้ว่าแม้เรือคอร์เวตตระกูล Buyan จะมีขนาดเล็กมาก (ระวางขับน้ำน้อยกว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งหรือ OPV ของกองทัพเรือไทยเสียอีก) แต่กลับติดอาวุธหนัก มีอำนาจการยิงสูงมาก โดยเฉพาะชั้น Buyan-M ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินลึกเข้าไปหลายพันกิโลเมตรด้วยจรวดร่อน Kalibr และสามารถต่อสู้กับเรือรบผิวน้ำด้วยจรวดร่อนต่อต้านเรือรบ P-800 Oniks จนได้รับฉายาเรือรบจิ๋วแต่แจ๋วหรือเล็กพริกขี้หนู อย่างไรก็ตามข้อด้อยของเรือคอร์เวตตระกูล Buyan คือไม่สามารถใช้ในภารกิจต่อต้านเรือดำน้ำ (Anti-submarine warfare หรือ ASW) ได้
สวัสดี
25.11.2021