กองทัพไทยกับปัญหายุทโธปกรณ์สูงอายุ

ภาพเครื่องบินขับไล่ Northrop F-5E Tiger II ของกองทัพอากาศไทยที่ฐานทัพอากาศโคราชระหว่างการฝึก Cobra Gold 2000
(Ssgt. Jeffrey Clonkey, USAF)

วันนี้เกิดเหตุเครื่องบินขับไล่ F-5F สังกัดกองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี ของกองทัพอากาศไทย ประสบอุบัติเหตุตกขณะปฏิบัติภารกิจการบินยุทธวิธีประยุกต์ ณ บริเวณสนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ข้อมูลจากโฆษก ทอ. ระบุว่า F-5F ลำนี้เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ผ่านมา 43 ปีแล้ว และเป็นลำที่พึ่งอัพเกรดไปเมื่อไม่นานนี้ด้วย

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุการตกที่แท้จริง ต้องรอผลการสอบสวนอย่างละเอียดก่อน แต่ข่าวนี้ก็แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่ากองทัพไทยกำลังประสบปัญหาที่ผมขอเรียกว่า “ยุทโธปกรณ์สูงอายุ” (ไม่แน่ใจว่าควรใช้คำว่า Aging Military หรือเปล่า) ล้อไปกับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กล่าวคือกองทัพไทยมีอาวุธยุทโธปกรณ์จากยุคสงครามเวียดนามหรือแม้แต่สงครามโลกครั้งที่สองที่เก่ามากแล้วจำนวนมาก บางส่วนก็ถึงกำหนดปลดประจำการแล้ว แต่ไม่สามารถจัดหาของใหม่มาทดแทนได้ทัน อย่างเครื่องบินขับไล่ F-5 ลำที่ตกล่าสุด ก็ผ่านการใช้งานมานานกว่า 43 ปีแล้ว แม้จะยังมีชั่วโมงบินเหลือ ผ่านการอัพเกรดและซ่อมบำรุงตามวงรอบ แต่ก็ถือว่าเก่ามากแล้ว

ขณะที่ไทยต้องอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ F-5 ยืดอายุไปเรื่อยๆ เครื่องบินขับไล่ F-16 ADF ก็ถึงกำหนดทยอยปลดประจำการ และมีแนวโน้มว่าฝูงบิน 102 อาจจะต้องปล่อยว่างไว้ชั่วคราว ส่วนตัวผมค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องกำลังรบที่ลดลง เพราะถึงแม้ในอดีตจะเคยปล่อยฝูงว่างมาก่อน แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้หนักหนามากจริงๆ ในภาวะปกติงบกลาโหมก็ไม่ค่อยเพียงพออยู่แล้ว มีโครงการค้างอยู่จำนวนมาก ตอนนี้ยังจำเป็นต้องโยกงบประมาณนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก ถ้ากำหนดการถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆจนถึงกำหนดที่ F-16A/B และ F-5 ที่เหลือต้องถูกปลดประจำการด้วย แล้วกำลังรบของกองทัพอากาศเหลือแค่เครื่องบินขับไล่ JAS-39 Gripen C/D จำนวน 11 ลำ ไม่ครบฝูง กับเครื่องบินฝึก T-50TH จะเป็นเรื่องใหญ่ ไหนจะเครื่องบินลำเลียงรุ่นใหม่ที่ต้องจัดหามาทดแทน C-130H อีก

ภาพรถถัง M60A1 ของ ทบ.ไทย ระหว่างการฝึก Cobra Gold 2014
(DoD photo by Sgt. Artur Shvartsberg, U.S. Marine Corps/Released)

นอกเหนือจากเครื่องบินรบของกองทัพอากาศแล้ว ยุทโธปกรณ์อื่นๆของกองทัพไทยหลายรายการก็เข้าข่ายมีปัญหายุทโธปกรณ์สูงอายุเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นปืนเล็กยาวที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทดแทน M16A1 และ HK-33 จากยุคสงครามเวียดนาม ที่ใช้งานมานานกว่า 50 ปีแล้วได้หมด หรือในกรณีของรถถัง จนถึงตอนนี้กองทัพบกไทยก็ยังไม่สามารถทดแทนรถถังเบา M41A3 Walker Bulldog จำนวน 200 คันที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ผ่านมา 60 ปีแล้วได้หมด พึ่งจัดหารถถังหลัก Oplot-M จากยูเครนและ VT-4 จากจีนมาได้รุ่นละ 1 กองพันๆ ละ 49 คัน และมีแนวโน้มจะจัดหาได้ช้าลงเรื่อยๆ ตอนที่สั่งซื้อ Oplot-M ในปี ค.ศ.2011 ไทยสามารถสั่งซื้อได้รวดเดียว 49 คัน แต่ตอนจัดหา VT-4 ต้องแบ่งซื้อเป็นล็อตๆละประมาณ 10 คัน เจอโควิดซ้ำเติมเข้าไปในอนาคตน่าจะหนักกว่านี้อีก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าขณะที่ยังทดแทน M41 ไม่หมด กำหนดปลดประจำการรถถังเบา FV-101 Scorpion และรถถังหลัก M48A5 ที่เข้าประจำการในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) และ ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) ตามลำดับก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ขณะที่รถถังตระกูล M60 แม้ไทยจะจัดหามาทีหลัง แต่ก็เป็นรถถังมือสอง ก่อนมาถึงมือไทยก็ถูกสหรัฐฯใช้งานมาสมบุกสมบันพอสมควร ถ้ากำหนดการยืดยาวออกไป สุดท้ายกองทัพบกไทยอาจมีรถถังรอปลดประจำการเกินครึ่งกองทัพ

นอกเหนือจากยุทโธปกรณ์เก่าที่เริ่มถึงกำหนดปลดประจำการ กองทัพไทยยังมีความจำเป็นต้องจัดหายุทโธปกรณ์ประเภทอื่นๆที่ก่อนหน้านี้อาจไม่มีความจำเป็น แต่ปัจจุบันเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นระบบป้องกันภัยทางอากาศ ที่เดิมไทยแทบไม่ให้ความสำคัญเลย หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของไทยหลายหน่วยยังใช้ปืนกลหนัก M2 Browning ขนาด 12.7 มิลลิเมตร หรือแม้แต่ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร M16 จากยุคสงครามโลกครั้งที่สองอยู่เลย ระบบป้องกันภัยทางอากาศอย่าง VL MICA และ KS-1C ก็มีน้อยมากและไม่ครอบคลุม ถ้าฝ่ายตรงข้ามสามารถผ่านเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศมาได้ น่านฟ้าไทยก็แทบจะเปิดโล่ง

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของปัญหายุทโธปกรณ์สูงอายุในกองทัพไทยเท่านั้น ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆ มีแนวโน้มจะใช้เทคโนโลยีระดับสูง มีราคาและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการสูงขึ้นมาก ต่อให้เป็นอาวุธค่ายรัสเซียและจีนก็ตาม การจะจัดหาและใช้งานยุทโธปกรณ์เหล่านี้ให้เต็มอัตราและประสิทธิภาพ อาจส่งผลให้งบกลาโหมของประเทศไทยจำเป็นต้องปรับขึ้นทุกปี แต่เศรษฐกิจไทยกลับเริ่มชะลอตัวมาหลายปีแล้ว ซ้ำเติมด้วยการระบาดของเชื้อโควิด และยังมีระเบิดเวลาเช่นสังคมผู้สูงอายุรออยู่ในอนาคตอีก ถ้าไม่เร่งหาทางแก้ไขปัญหา ในอนาคตกองทัพไทยอาจไม่สามารถรักษาขีดความสามารถกำลังรบในปัจจุบันได้ด้วยซ้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและการถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคในที่สุด อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน การมีกำลังรบที่มีประสิทธิภาพเป็นหลักประกันย่อมดีกว่าไม่มี แต่การรักษาและพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไทย ก็จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย ไม่ควรละเลยด้านใดด้านหนึ่ง เป็นประเด็นที่ต้องหาทางออกร่วมกันต่อไป

สวัสดี

03.12.2021

แสดงความคิดเห็น