
(U.S. Navy, Office of Public Relations)
สงครามแปซิฟิก (Pacific War) เปิดฉากขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 เมื่อกองทัพเรือญี่ปุ่น (Imperial Japanese Navy – IJN) เปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯที่อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในหมู่เกาะฮาวาย สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ จนสหรัฐฯเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าวันอัปยศ (Day of Infamy) เนื่องในวันครบรอบ 80 ปี การโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เราจะมาทบทวนเหตุการณ์ดังกล่าวกันอีกครั้ง
ญี่ปุ่น จักรวรรดิใหม่
จักรวรรดิญี่ปุ่น (Empire of Japan) ถือกำเนิดขึ้นหลังการปฏิวัติเมจิ (ญี่ปุ่นใช้คำว่าการฟื้นฟูหรือ Meiji Restoration) ในปี ค.ศ.1868 ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นปิดประเทศมานานหลายร้อยปี ค้าขายเฉพาะกับจีนและฮอลันดาเท่านั้น จนกระทั่งถูกพลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี (Matthew Calbraith Perry) ของสหรัฐฯนำเรือดำ (Black Ships) เข้ามาบังคับให้เปิดประเทศ หลังจากนั้นญี่ปุ่นจึงทำการปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่เพื่อให้ทันกับชาติตะวันตก หลังญี่ปุ่นมีความเจริญทัดเทียมกับตะวันตกแล้ว เป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นก็คือการสร้างจักรวรรดิทำนองเดียวกับมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามตอนที่ญี่ปุ่นเริ่มแสวงหาอาณานิคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกได้ถูกชาติมหาอำนาจอื่นๆยึดเป็นอาณานิคมไปหมดแล้ว ถ้าญี่ปุ่นต้องการสร้างจักรวรรดิของตัวเองก็จำเป็นจะต้องท้าทายระเบียบโลกที่มหาอำนาจตะวันตกสถาปนาขึ้น สงครามระหว่างตะวันตกและญี่ปุ่นจึงเริ่มตั้งเค้ามาตั้งแต่ตอนที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศและพัฒนาตัวเองเป็นจักรวรรดิตามแนวตะวันตกนั่นเอง
แสวงหาแหล่งน้ำมัน
ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นหมู่เกาะ มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แหล่งทรัพยากรจากต่างประเทศโดยเฉพาะน้ำมันจึงมีความสำคัญต่อญี่ปุ่นมาก
ช่วงทศวรรษ 1930 ญี่ปุ่นค่อยๆแผ่อิทธิพลเข้าไปในจีน จนกระทั่งเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (Second Sino-Japanese War) ในปี ค.ศ.1937 ต่อมาในปี ค.ศ.1940 ญี่ปุ่นก็เริ่มเข้ามายึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสในคาบสมุทรอินโดจีน (French Indochina) เพื่อตัดเส้นทางขนส่งทรัพยากรของจีนและใช้เป็นฐานเตรียมแผ่อิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐฯ อังกฤษ และฮอลแลนด์มีมาตรการคว่ำบาตร ไม่ค้าขายน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์กับญี่ปุ่น การที่ญี่ปุ่นไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ ส่งผลกระทบอย่างมาก ญี่ปุ่นประมาณการว่าตัวเองมีน้ำมันสำรองเหลือใช้พอแค่ 2 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหยุดชะงัก ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเข้ายึดครองแหล่งทรัพยากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แหล่งทรัพยากรดังกล่าวล้วนถูกชาติตะวันตกยึดครองอยู่ โดยขณะนั้นฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมของสหรัฐฯ พม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ขณะที่อินโดนีเซียเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์ สงครามจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
วางแผนโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์
พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Admiral Isoroku Yamamoto) ผู้บัญชาการกองเรือผสม (Combined Fleet) ของญี่ปุ่นเริ่มวางแผนโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ.1941 เพื่อขจัดภัยคุกคามจากกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงแผนของญี่ปุ่นที่จะเข้ายึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกได้ ยามาโมโตะเคยเป็นทูตทหารเรือในสหรัฐฯ เขารู้ดีว่าในระยะยาวขีดความสามารถอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นไม่อาจสู้กับสหรัฐฯได้ แต่เมื่อญี่ปุ่นจำเป็นต้องเข้าสู่สงครามก็ต้องลงมือปฏิบัติการแบบเฉียบขาด ยามาโมโตะเชื่อว่าการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์จะช่วยซื้อเวลาให้ญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ก่อนจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาในเงื่อนไขที่ได้เปรียบ
ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนก่อนการโจมตี ญี่ปุ่นทำการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับเพิร์ล ฮาร์เบอร์อย่างละเอียด นักบินญี่ปุ่นได้รับการฝึกอย่างหนัก แม้การเตรียมการจะเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ยังคงมีประเด็นถกเถียงในหมู่ผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นทั้งเรื่องการทำสงครามกับสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ของแผนโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (Hirohito) พึ่งจะอนุมัติให้ลงมือปฏิบัติการได้ในวันที่ 5 พฤศจิกายน
วันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.1941 กองเรือคิโด บุไต (Kido Butai) ของญี่ปุ่น ซึ่งมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำ ได้แก่ อาคากิ (Akagi) คากะ (kaga) โซริว (Soryu) ฮิริว (Hiryu) โชคาคุ (Shokaku) และซุยคาคุ (Zuikaku) เป็นศูนย์กลาง ออกจากท่าเรือมุ่งหน้าไปยังเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ปฏิบัติการถูกปิดเป็นความลับสุดยอด มีการระงับการสื่อสารด้วยวิทยุอย่างเคร่งครัด
วันอัปยศ
ช่วงเช้าวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินตอร์ปิโด และเครื่องบินดำทิ้งระเบิดรวม 353 ลำของญี่ปุ่น ขึ้นบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 6 ลำ แบ่งเป็น 2 ระลอก เข้าโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ แม้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯจะคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้าโจมตี แต่คำเตือนถูกส่งมาถึงเพิร์ล ฮาร์เบอร์ช้าเกินไป กองเรือสหรัฐฯจึงไม่ได้เตรียมตัวรับมือ ประกอบกับเป็นวันหยุด กำลังพลส่วนใหญ่กำลังพักผ่อนหรือลาพัก ขณะที่เครื่องบินรบของสหรัฐฯก็จอดเรียงชิดเป็นแถวอยู่ในสนามบิน เพื่อให้ง่ายต่อการป้องกันการก่อวินาศกรรม แต่กลับส่งผลให้กลายเป็นเป้านิ่งจากการโจมตีทางอากาศแทน ขณะที่เครื่องบินรบญี่ปุ่นกำลังใกล้เข้ามา เจ้าหน้าที่เรดาร์ของสหรัฐฯสามารถจับสัญญาณของฝูงบินขนาดใหญ่ได้ แต่กลับเข้าใจไปว่าเป็นฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิด B-17 Flying Fortress ที่บินมาจากแผ่นดินใหญ่ เลยไม่ได้ให้ความสนใจ
การโจมตีของญี่ปุ่นสร้างความเสียหายให้กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯอย่างหนัก เรือประจัญบานของสหรัฐฯจมไป 4 ลำ อีก 4 ลำได้รับความเสียหายอย่างหนัก เรือรบประเภทอื่นๆได้รับความเสียหายอีกหลายลำ รวมถึงมีเครื่องบินรบถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายเกือบ 400 ลำ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,300 ราย ขณะที่ญี่ปุ่นสูญเสียเรือดำน้ำขนาดจิ๋วไป 5 ลำและเครื่องบินรบ 29 ลำเท่านั้น
การโจมตีระลอกสาม กับโอกาสที่เสียไป
แม้การโจมตีทางอากาศสองระลอกของญี่ปุ่นจะสร้างความเสียหายมหาศาลต่อเรือรบของสหรัฐฯ แต่คลังน้ำมัน อู่เรือ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆของฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์กลับไม่ได้รับความเสียหายมากนัก นายทหารญี่ปุ่นบางส่วนจึงต้องการให้ทำการโจมตีระลอกที่สาม เพื่อให้เพิร์ล ฮาร์เบอร์หมดสภาพลงอย่างสิ้นเชิง แต่พลเรือโทชูอิจิ นากุโมะ (Chūichi Nagumo) ผู้บัญชาการกองเรือคิโด บุไตไม่เห็นด้วย เพราะขณะนั้นญี่ปุ่นบรรลุวัตถุประสงค์หลักในการจมเรือรบส่วนใหญ่ของกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯแล้ว นอกจากนี้กองเรือญี่ปุ่นก็อยู่ไกลจากแหล่งส่งกำลังบำรุงมาก และเขาไม่รู้ว่าสหรัฐฯยังเหลือเครื่องบินรบสำหรับใช้ตอบโต้ญี่ปุ่นได้อยู่มากน้อยแค่ไหน จึงไม่ต้องการนำเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งเป็นกำลังรบหลักของญี่ปุ่นไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ญี่ปุ่นจึงพลาดโอกาสในการทำลายฐานทัพเรือสหรัฐฯอย่างเด็ดขาด เป็นสาเหตุหนึ่งที่กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯสามารถฟื้นตัวหลังถูกโจมตีได้ค่อนข้างเร็ว และสามารถใช้เพิร์ล ฮาร์เบอร์เป็นฐานทัพหลักต่อไปได้
เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯที่หายไป
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของญี่ปุ่นที่เข้าโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ คือเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯซึ่งขณะนั้นอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก 2 ลำคือเล็กซิงตัน (USS Lexington CV-2) และเอนเตอร์ไพรส์ (USS Enterprise CV-6) แต่ในวันที่ 7 ธันวาคม เรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำไม่ได้อยู่ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ โดยเล็กซิงตันอยู่ระหว่างลำเลียงเครื่องบินรบไปส่งที่เกาะมิดเวย์ ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินเอนเตอร์ไพรส์พึ่งส่งเครื่องบินรบที่เกาะเวกเสร็จ กำลังอยู่ระหว่างเดินทางกลับมาฮาวายพอดี จริงๆแล้วเอนเตอร์ไพรส์มีกำหนดกลับถึงเพิร์ล ฮาร์เบอร์ในวันที่ 6 ธันวาคม แต่ติดพายุส่งผลให้กำหนดล่าช้าออกไป เอนเตอร์ไพรส์พึ่งมาถึงเพิร์ล ฮาร์เบอร์ หลังญี่ปุ่นถอนกำลังกลับไปแล้วพอดี การที่ญี่ปุ่นไม่สามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯได้ นำไปสู่จุดเปลี่ยนในสงครามแปซิฟิกในที่สุด
สงครามโลกครั้งที่สองขยายออกทั่วโลก
หลังญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ วันรุ่งขึ้นประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ก็แถลงการณ์ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม เยอรมนีและอิตาลีก็ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งก่อนหน้านี้จำกัดอยู่ในทวีปยุโรป แอฟริกาเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติก จึงขยายตัวออกเป็นสงครามโลกอย่างแท้จริง
สวัสดี
07.12.2021