
(State Department Photo by Ron Przysucha/ Public Domain)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวจาก Al Jazeera และ New York Post รายงานว่าหลังจากซาอุดิอาระเบียถูกกลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) ในเยเมนโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนอย่างต่อเนื่อง จรวดของระบบป้องกันภัยทางอากาศ Patriot ในคลังของซาอุฯก็เริ่มร่อยหรอ ส่งผลให้ล่าสุดซาอุฯส่งคำร้องไปถึงสหรัฐฯ ขอซื้อจรวด Patriot เพิ่มอย่างเร่งด่วน ซาอุฯยังขอให้ประเทศแถบตะวันออกกลางและยุโรปอื่นๆที่มี Patriot ใช้งานอยู่ ช่วยส่งจรวดมาให้ด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน สหรัฐฯก็พึ่งอนุมัติขายจรวดอากาศสู่อากาศ AIM-120 AMRAAM อย่างน้อย 280 ลูกให้ซาอุดิอาระเบีย เพื่อใช้จัดการกับโดรนของกลุ่มฮูตี อ้างอิงจากสื่อ The Drive แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามทางอากาศที่ซาอุฯ กำลังเผชิญอยู่
แม้ปัจจุบันข่าวสงครามเยเมนจะเงียบไปพอสมควร แต่การสู้รบก็ยังไม่สิ้นสุด อยู่ในรูปแบบสงครามกองโจรเป็นหลัก แม้กลุ่มฮูตีจะไม่สามารถขับไล่กองทัพซาอุฯและพันธมิตรออกไปจากเยเมนได้ แต่กลุ่มฮูตีสามารถใช้ขีปนาวุธและโดรนซึ่งมีทั้งแบบโฮมเมดและที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน โจมตีลึกเข้าไปถึงในซาอุดิอาระเบียได้ เฉพาะเดือนที่แล้วเดือนเดียว กลุ่มฮูตีได้ใช้ขีปนาวุธโจมตีซาอุฯถึง 11 ครั้งและใช้โดรนโจมตี 29 ครั้ง ในการโจมตีแต่ละครั้งของกลุ่มฮูตี ต่อให้ไม่สามารถสร้างความเสียหายได้มากเท่าครั้งที่โจมตีโรงกลั่นน้ำมันอารามโก (Aramco) แต่ก็ส่งผลให้ซาอุฯต้องสิ้นเปลืองจรวดที่ทันสมัย ราคาแพงอย่างจรวด Patriot และ AIM-120 ในการสกัด โดยจรวดที่ซาอุฯใช้ลูกหนึ่งนั้นมีราคาถึง 1 ล้านเหรียญ ในขณะที่โดรนโฮมเมดของกลุ่มฮูตีลำหนึ่งราคาแค่ไม่กี่พันเหรียญเท่านั้น นอกจากซาอุฯต้องใช้งบประมาณในการรบมากกว่าแล้ว จรวดที่ซาอุฯใช้ยังต้องจัดหาจากสหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตได้เอง ในขณะที่กลุ่มฮูตีสามารถผลิตขีปนาวุธและโดรนโฮมเมดเองได้ สามารถทดแทนยุทโธปกรณ์ที่สูญเสียไปได้เร็วกว่า ถ้าวันหนึ่งจรวดของซาอุฯหมด ก็จะกลายเป็นเป้านิ่งให้กลุ่มฮูตีถล่มได้ตามใจชอบ เรียกว่าเป็นการรบแบบทอนกำลัง (Attrition warfare)
สวัสดี
13.12.2021