ฟริตซ์ คลินเกนเบิร์ก นายทหารเยอรมันที่ยึดเมืองหลวงยูโกสลาเวียได้ด้วยทหารสิบนาย

ภาพถ่ายฟริตซ์ คลินเกนเบิร์กวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1943 (Bundesarchiv, Bild 101III-Weyer-024-05A / Weyer / CC-BY-SA 3.0)

ในสงคราม เมืองหลวงถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มีความสำคัญระดับสูงสุด ได้รับการป้องกันอย่างแน่นหนา การบุกยึดเมืองหลวงฝ่ายตรงข้ามมักจะต้องใช้กำลังพลจำนวนมากและมีการสู้รบอย่างดุเดือด ตัวอย่างเช่นสมรภูมิมอสโกและกรุงเบอร์ลินในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทว่านายทหารเยอรมันนายหนึ่งชื่อฟริตซ์ คลินเกนเบิร์ก (Fritz Klingenberg) แห่งหน่วยเอสเอส กลับสามารถยึดครองกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของยูโกสลาเวีย พร้อมกับข่มขวัญทหารยูโกสลาฟนับพันนายให้ยอมจำนนได้โดยใช้กำลังพลเพียง 10 นายเท่านั้น ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักทหารเยอรมันนายนี้กัน

ช่วงปลายปี ค.ศ.1940 อิตาลีพยายามบุกกรีซโดยใช้แอลเบเนียเป็นฐานทัพ การสู้รบยืดเยื้อไปถึงช่วงต้นปี ค.ศ.1941 ก่อนที่อิตาลีจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกกรีซผลักดันถอยร่นกลับเข้าไปในแอลเบเนีย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนีซึ่งขณะนั้นกำลังเตรียมการบุกสหภาพโซเวียตตามปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) จึงตัดสินใจเข้าแทรกแซง โดยเลื่อนกำหนดการบุกโซเวียตออกไปก่อน เป้าหมายของเยอรมนีนอกจากเพื่อช่วยเหลืออิตาลี กอบกู้เกียรติภูมิของฝ่ายอักษะ (Axis) แล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้อังกฤษซึ่งให้การสนับสนุนกรีซอยู่ ใช้กรีซเป็นฐานทัพโจมตีบ่อน้ำมันของโรมาเนีย แหล่งเชื้อเพลิงสำคัญของกองทัพเยอรมันด้วย

อย่างไรก็ตามก่อนจะบุกกรีซได้ ประเทศเพื่อนบ้านของกรีซต้องยินยอมให้กองทัพเยอรมันเคลื่อนผ่านก่อน ฮังการี โรมาเนีย และบัลแกเรียตกลงเข้าร่วมฝ่ายอักษะ เหลือเพียงยูโกสลาเวียเท่านั้น ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1941 ฮิตเลอร์สามารถกดดันให้เจ้าชายพอล (Prince Paul of Yugoslavia) ผู้สำเร็จราชการของยูโกสลาเวียตกลงเข้าร่วมฝ่ายอักษะได้สำเร็จ แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้ชาวเซิร์บ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของยูโกสลาเวีย ส่งผลให้เกิดการรัฐประหารโค่นล้มเจ้าชายพอลในวันที่ 27 มีนาคม

การโค่นล้มเจ้าชายพอลส่งผลให้ฮิตเลอร์โกรธมาก เขาเรียกประชุมคณะนายทหารก่อนจะออกคำสั่งให้กองทัพเยอรมันบุกยูโกสลาเวียพร้อมกันจากทุกทิศทาง กำหนดเริ่มปฏิบัติการวันที่ 6 เมษายน หนึ่งในกำลังรบที่จะเป็นหัวหอกของกองทัพเยอรมันคือกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ดาส ไรช์ (2nd SS Panzer Division Das Reich) ซึ่งฟริตซ์ คลินเกนเบิร์กสังกัดอยู่

ภาพฟริตซ์ คลินเกนเบิร์กให้สัมภาษณ์โฆษณาชวนเชื่อในกรุงเบลเกรด เดือนเมษายน ค.ศ.1941 (Public Domain)

ฟริตซ์ คลินเกนเบิร์ก เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1912 ที่ Rövershagen ทางเหนือของเยอรมนี หลังเรียนจบชั้นมัธยม เขาก็เข้าศึกษาต่อในสาขาวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรอสตอค (University of Rostock) แต่ก่อนที่เขาจะสำเร็จการศึกษา ก็ตัดสินใจลาออกไปเข้าร่วมกับหน่วยเอสเอส (SS – Schutzstaffel) เสียก่อนในปี ค.ศ.1934 หลังสำเร็จการฝึกแล้ว คลินเกนเบิร์กก็ได้เข้าสังกัดหน่วยเอสเอส สตานดาร์เตอ เยอรมาเนีย (SS-Standarte Germania) ซึ่งต่อมาจะถูกยกระดับขึ้นเป็นกองพลยานเกราะ เอสเอส ที่ 2 ดาส ไรช์

เมื่อกองทัพเยอรมันบุกยูโกสลาเวีย คลินเกนเบิร์กมียศเป็น Hauptsturmführer (หน่วยเอสเอสมีชื่อเรียกยศของตัวเอง แตกต่างจากกองทัพเยอรมัน) หรือเทียบเท่ายศร้อยเอก ในวันที่ 12 เมษายน เขาได้รับมอบหมายภารกิจให้นำกองร้อยของเขาบุกเข้ายึดสะพานข้ามแม่น้ำดานูบ ทางเหนือของกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของยูโกสลาเวีย เพื่อเปิดทางให้หน่วยยานเกราะเยอรมันที่จะแล่นติดตามมาเข้าเมืองได้โดยสะดวก

เวลา 8 โมงเช้า วันที่ 12 เมษายน หน่วยของร้อยเอกคลินเกนเบิร์กมาถึงเมืองพานเซโว (Pancevo) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเบลเกรด แต่กลับพบว่าสะพานข้ามแม่น้ำทามิส (Tamis) ได้ถูกระเบิดทำลายไปแล้ว เขาจึงนำกองร้อยข้ามแม่น้ำด้วยเรือประมง พร้อมกับนำรถจักรยานยนต์จำนวนหนึ่งไปด้วย พวกเขามาถึงสะพานข้ามแม่น้ำดานูบทางเหนือของกรุงเบลเกรดเวลา 11.30 น. แต่สะพานดังกล่าวได้ถูกระเบิดทำลายไปแล้วเช่นกัน ร้อยเอกคลินเกนเบิร์กออกคำสั่งให้ทหารซ่อมแซมเรือยนต์ลำหนึ่งจนสามารถใช้งานได้ในเวลา 15.30 น. จากนั้นเขาก็นำกำลังพล 10 นาย (ข้อมูลบางแหล่งระบุว่ามีเพียง 5 – 6 นาย) พร้อมปืนกล 2 กระบอกและปืนกลมือ 5 กระบอก ข้ามแม่น้ำดานูบ แม้จะเจออุปสรรคหลายอย่างระหว่างการข้ามแม่น้ำ แต่พวกเขาก็มาถึงปลายสะพานทางใต้ได้ในเวลา 16.30 น.

แม้จะมีทหารเยอรมันข้ามแม่น้ำมาได้น้อยมาก แต่ร้อยเอกคลินเกนเบิร์กก็ตัดสินใจฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้รักษาสะพานไว้เท่านั้น แล้วนำกำลังพล 10 นายเข้ากรุงเบลเกรดทันที ระหว่างทางเขาสามารถจับทหารยูโกสลาฟเป็นเชลยได้หลายนายพร้อมกับยึดยานพาหนะได้หลายคัน ทหารเยอรมันใช้ยานพาหนะที่ยึดได้ขับตรงเข้าไปที่กระทรวงกลาโหมยูโกสลาเวีย แต่กลับพบว่าอาคารกระทรวงกลาโหมได้ถูกทำลายไปแล้วและถูกทิ้งร้าง ร้อยเอกคลินเกนเบิร์กจึงส่งเชลยเป็นพลนำสารออกไปตามหาและเชิญผู้ว่ากรุงเบลเกรดมาพบเขา ขณะเดียวกันเขาก็มุ่งหน้าไปที่สถานทูตเยอรมันแล้วชักธงชาติขึ้น เมื่อผู้ว่าเบลเกรดมาถึง เขาก็ขู่ว่าถ้าผู้ว่าไม่ยอมแพ้ต่อเขาแต่โดยดี เขาก็จะออกคำสั่งให้ปืนใหญ่และเครื่องบินรบเยอรมันที่รออยู่แล้วถล่มกรุงเบลเกรดทันที ขณะเดียวกันทหารในกองร้อยของคลินเกนเบิร์กที่ทยอยข้ามแม่น้ำมาสมทบก็ขับรถหลายคันตระเวนไปรอบเมือง ระดมยิงใส่ที่ตั้งของทหารยูโกสลาฟ สร้างความสับสนไปทั่ว ทหารยูโกสลาฟหลายหน่วยพยายามตอบโต้แต่กลับยิงไปถูกฝ่ายเดียวกัน สุดท้ายผู้ว่ากรุงเบลเกรดและทหารยูโกสลาฟหลายหน่วยก็หลงเชื่อตามที่ร้อยเอกคลินเกนเบิร์กข่มขวัญไว้ว่ามีทหารเยอรมันจำนวนมากเข้ามาในกรุงเบลเกรดแล้ว จึงยอมแพ้แต่โดยดีในวันที่ 13 เมษายน เท่ากับว่าร้อยเอกคลินเกนเบิร์กสามารถยึดกรุงเบลเกรดพร้อมกับจับทหารยูโกสลาฟเป็นเชลยได้มากกว่า 1,000 นาย โดยใช้ทหารเยอรมันเพียง 10 นายและที่ตามมาสมทบในภายหลังอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น เมื่อกำลังหลักของกองทัพเยอรมันมาถึงก็ประหลาดใจมาก เพราะพวกเขาเตรียมแผนการยึดกรุงเบลเกรดมาเป็นอย่างดี แต่กลับไม่ต้องใช้แผนดังกล่าวแล้ว ต่อมาวันที่ 18 เมษายน ยูโกสลาเวียก็ยอมจำนนต่อกองทัพเยอรมัน ร้อยเอกคลินเกนเบิร์กได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight’s Cross)

หลังการสู้รบในยูโกสลาเวียสิ้นสุดลงไม่นาน ร้อยเอกคลินเกนเบิร์กก็มีโอกาสพบกับไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) สมาชิกระดับสูงของพรรคนาซีและหัวหน้าหน่วยเอสเอสที่ค่ายกักกันเมาเทาเซิน (Mauthausen concentration camp) แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก นอกจากภาพถ่ายร้อยเอกคลินเกนเบิร์กคู่กับฮิมม์เลอร์และคณะเท่านั้น จึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเขารับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่เยอรมนีก่อขึ้นมากน้อยแค่ไหน โดยในช่วงต้นปี ค.ศ.1941 ค่ายกักกันเมาเทาเซินยังใช้คุมขังนักโทษการเมืองเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นจะมีเชลยศึกโซเวียตรวมถึงสมาชิกกองโจรปาร์ติซาน (Partisan) ถูกส่งเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และเยอรมนีก็พึ่งจะเริ่มสังหารหมู่นักโทษในค่ายกักกันอย่างเป็นระบบหลังการประชุมที่วันเซ (Wannsee Conference) ในเดือนมกราคม ค.ศ.1942

ภาพฟริตซ์ คลินเกนเบิร์ก (คนซ้ายสุด) กับไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์และคณะที่ค่ายกักกันเมาเทาเซินในปี ค.ศ.1941
(Bundesarchiv, Bild 192-038 / CC-BY-SA 3.0)

หลังกองทัพเยอรมันยึดครองยูโกสลาเวียได้แล้ว ก็บุกกรีซต่อไป ก่อนจะเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซ่าบุกสหภาพโซเวียตในที่สุด ร้อยเอกคลินเกนเบิร์กได้เข้าร่วมในสมรภูมิหลายแห่งทั้งในแนวรบด้านตะวันออกและในแนวรบด้านตะวันตกหลังฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวัน D-Day และได้เลื่อนยศสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1944 ก็ได้เลื่อนยศเป็น Standartenführer เทียบเท่ายศพันเอก ก่อนจะได้เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบยานเกราะ เอสเอส ที่ 17 (17th SS Panzergrenadier Division Götz von Berlichingen) ในเดือนมกราคม ค.ศ.1945 อยู่ในสังกัดกองทัพน้อย เอสเอส ที่ 13 (XIII SS Army Corps) ป้องกันเมืองซาร์บรึคเคิน (Saarbrücken) จากการโจมตีของกองทัพอเมริกัน เขาเสียชีวิตระหว่างการสู้รบในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1945 ปิดฉากชีวิตของนายทหารเยอรมันที่สามารถใช้กำลังพลเพียงน้อยนิดที่สามารถเข้ายึดครองเมืองหลวงของยูโกสลาเวียและข่มขวัญทหารข้าศึกนับพันนายให้ยอมจำนนได้แต่เพียงเท่านี้

สวัสดี

16.01.2022

แสดงความคิดเห็น