เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Hyuga ของญี่ปุ่น

ภาพเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ JS Hyuga (DDH-181) ของญี่ปุ่น ระหว่างฝึกร่วมกับสหรัฐฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.2009
(Reann S. Mommsen, U.S. Navy)

เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ (helicopter destroyer) ชั้น Hyuga ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น (JMSDF) ถูกพัฒนาขึ้นมาทดแทนเรือพิฆาตชั้น Haruna ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุค 70 ออกแบบมาเน้นใช้ในภารกิจต่อต้านเรือดำน้ำ (ASW) เป็นหลัก ญี่ปุ่นต่อเรือชั้น Hyuga ออกมา 2 ลำคือ DDH-181 Hyuga เข้าประจำการในปี ค.ศ.2009 และ DDH-182 Ise เข้าประจำการเมื่อปี ค.ศ.2011 ทั้ง 2 ลำตั้งชื่อตามเรือประจัญบานในชั้น Ise ของอดีตกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น (IJN)

แม้ญี่ปุ่นจะจัดเรือชั้น Hyuga เป็นเรือพิฆาตด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่เนื่องจากเรือลำนี้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเรือบรรทุกเครื่องบินเบา (light aircraft carrier) เช่น Giuseppe Garibaldi ของอิตาลีและ Príncipe de Asturias ของสเปน ส่งผลให้หลายคนเรียกเรือชั้น Hyuga ว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง (first Japanese aircraft carrier built since WWII)

เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Hyuga มีลูกเรือ 360 นาย ระวางขับน้ำปกติ 13,950 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุด 18,000 ตัน มีขนาดยาว 197 เมตร กว้าง 33 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร มีความเร็วสูงสุด 30 นอต ติดอาวุธประกอบด้วยท่อยิงแนวดิ่ง Mk 41 จำนวน 16 ท่อยิงสำหรับจรวดพื้นสู่อากาศ ESSM หรือจรวดต่อต้านเรือดำน้ำ ASROC, ระบบป้องกันระยะประชิด Phalanx จำนวน 2 ระบบ และท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 324 มิลลิเมตร 3 ท่อยิง 2 แท่น เรือชั้น Hyuga สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้สูงสุด 11 ลำ แต่ปัจจุบันฝูงบินประจำเรือประกอบด้วยเฮลิคอปเตอร์ SH-60K จำนวน 3 ลำและ MCH-101 จำนวน 1 ลำเท่านั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าเรือชั้น Hyuga ยังสามารถบรรทุกนาวิกโยธินได้ประมาณ 300 – 400 นาย แต่ขีดความสามารถของเรือชั้นนี้ในการสนับสนุนการยกพลขึ้นบก ถูกปิดเป็นความลับด้วยเหตุผลทางการเมือง

ตอนที่พึ่งต่อออกมาใหม่ๆ เรือชั้น Hyuga เป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันตำแหน่งดังกล่าวตกเป็นของเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Izumo ซึ่งเข้าประจำการในปี ค.ศ.2015

สวัสดี

17.01.2022

ภาพเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ JS Hyuga (DDH-181) ของญี่ปุ่น และกองเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington ของสหรัฐฯ หลังเสร็จสิ้นการฝึก Keen Sword 2013 (U.S. Navy photo by Chief Mass Communication Specialist Jennifer A. Villalovos/Released)

แสดงความคิดเห็น