
(U.S. Army photo by Sgt. David Turner, 214th Mobile Public Affairs Detachment)
มีข่าวจากสื่อ RT รายงานว่านาย Kusti Salm รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอสโตเนีย ประกาศว่าเอสโตเนียได้เตรียมฐานทัพทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ห่างจากชายแดนรัสเซียประมาณ 110 กิโลเมตร พร้อมรองรับกรณีที่ NATO จะส่งกองกำลังตอบโต้เร็ว (NATO rapid reaction force) จำนวน 5,000 นาย มาวางกำลังที่ประเทศเอสโตเนีย และถ้าค่ายทหารมีพื้นที่ไม่พอ เอสโตเนียก็พร้อมจะจัดตู้คอนเทนเนอร์และเต็นท์ให้ทหาร NATO ใช้เป็นที่พักชั่วคราว ระหว่างรอสร้างค่ายทหารเพิ่มเติม นาย Salm ยังเน้นย้ำด้วยว่า NATO ควรเสริมกำลังในแถบบอลติกเพื่อป้องปรามรัสเซีย
เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ นาย Alar Karis ประธานาธิบดีเอสโตเนียก็ให้สัมภาษณ์สื่อ Politico เรียกร้องให้ NATO เสริมกำลังทหารในประเทศเอสโตเนีย เพื่อป้องปรามรัสเซีย
การที่เอสโตเนียเรียกร้องให้ NATO เสริมกำลังประชิดชายแดนรัสเซียมากขึ้น ทั้งที่รัสเซียแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้กองกำลัง NATO เข้ามาประชิดชายแดนรัสเซีย เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่รัสเซียกำลังเจรจากับ NATO อยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจครับ เพราะเอสโตเนียและประเทศบอลติกอื่นๆเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานาน พึ่งจะประกาศเอกราชได้ครั้งแรกเป็นช่วงเวลาสั้นๆเมื่อจักรวรรดิรัสเซียล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ถูกรวมกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตอีกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (อาสาสมัครหน่วย SS ของนาซีเยอรมนีจำนวนมากก็มาจากแถบบอลติก) เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ประเทศเหล่านี้จึงมีท่าทีต่อต้านรัสเซียออกนอกหน้ามาตลอด
แม้มุมหนึ่ง เอสโตเนียจะมีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้ NATO เสริมกำลังในประเทศเอสโตเนีย เพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นการป้องปรามรัสเซีย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ของ NATO ประชิดชายแดนรัสเซียนั้นส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจในระดับมหภาค ประเทศที่เกี่ยวข้องจึงควรรักษาสมดุลและดำเนินนโยบายตรงจุดนี้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกกำลังตึงเครียด
สวีสดี
18.01.2022