
เรือพิฆาตชั้น Atago ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น (JMSDF) พัฒนาต่อยอดมาจากเรือพิฆาตชั้น Kongo ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke ของสหรัฐฯอีกทีหนึ่ง โดยนำมาขยายขนาดจนใกล้เคียงกับเรือลาดตระเวนชั้น Ticonderoga ของสหรัฐฯ รวมถึงปรับปรุงระบบเรดาร์, โซนาร์ และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัยขึ้น ญี่ปุ่นต่อเรือชั้นนี้ออกมา 2 ลำคือ Atago (DDG-177) เข้าประจำการเมื่อปี ค.ศ.2007 และ Ashigara (DDG-178) เข้าประจำการเมื่อปี ค.ศ.2008 ทดแทนเรือพิฆาตชั้น Tachikaze ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุค 70 เน้นใช้ในภารกิจป้องกันภัยทางอากาศเป็นหลัก โดยเฉพาะการป้องกันขีปนาวุธของประเทศเพื่อนบ้าน
เรือพิฆาตชั้น Atago มีลูกเรือ 300 นาย ระวางขับน้ำปกติ 7,700 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุด 10,000 ตัน มีขนาดยาว 165 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 6.2 เมตร มีความเร็วสูงสุด 30 นอต มีระบบอำนวยการรบ Aegis ติดอาวุธปืนเรือขนาด 127 มิลลิเมตร ความยาวลำกล้อง 62 คาลิเบอร์ ระยะยิง 38 กิโลเมตร, ระบบป้องกันระยะประชิด Phalanx CIWS จำนวน 2 แท่น, ท่อยิงแนวดิ่งจำนวน 96 ท่อยิงสำหรับสำหรับจรวดพื้นสู่อากาศ SM-2MR, SM-3 และจรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RUM-139 VL ASROC, จรวดต่อต้านเรือรบ Type 90 (SSM-1B) จำนวน 8 ท่อยิง ระยะยิง 150 กิโลเมตร และแท่นยิงตอร์ปิโด HOS-302 จำนวน 2 แท่นมีท่อยิงสำหรับตอร์ปิโด Mk.46 หรือ Type-73 รวม 6 ท่อยิง เรือพิฆาตชั้น Atago สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ SH-60K ได้ 1 ลำ
หลังจากญี่ปุ่นต่อเรือพิฆาตชั้น Kongo จำนวน 4 ลำและเรือพิฆาตชั้น Atago เข้าประจำการจำนวน 2 ลำแล้ว ต่อมาญี่ปุ่นพบว่าตัวเองยังมีความต้องการเรือพิฆาตที่มีระบบอำนวยการรบ Aegis เพิ่มอีก 2 ลำ เพื่อทดแทนเรือพิฆาตชั้น Hatakaze ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุค 80 ญี่ปุ่นจึงนำแบบเรือพิฆาตชั้น Atago มาปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นเรือพิฆาตชั้น Maya ต่อเข้าประจำการจำนวน 2 ลำ ระหว่างปี ค.ศ.2020 – 2021
สวัสดี
18.01.2022
