
ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 5 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีการฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯและชาติพันธมิตร การฝึกนี้ปกติจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และเป็นหนึ่งในการฝึกร่วมที่ใหญ่ที่สุด มีกำลังพลเข้าร่วมรวมกันนับหมื่นนาย เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยและสหรัฐฯนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
แม้การฝึกคอบร้าโกลด์จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่การฝึกในปีนี้ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสื่อและกลุ่มการเมืองของไทยมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆทั้งการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน การสู้รบในเมียนมาร์ และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกการฝึกคอบร้าโกลด์ในปีนี้ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโอไมครอน รวมถึงเป็นการรักษาความเป็นกลางของไทย ป้องกันไม่ให้สหรัฐฯลากไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสู้รบในเมียนมาร์และความขัดแย้งกับจีน โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ซึ่งมีกระแสข่าวว่าสหรัฐฯจะส่งกำลังพลเข้าร่วมการฝึกในปีนี้มากกว่า 10,000 นาย มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีการเปิดเผยออกมาแล้วว่าการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ได้ถูกลดขนาดลง โดยจะมีกำลังพลจากทั้งไทย สหรัฐฯ และชาติอื่นๆเข้าร่วมการฝึกรวมกันประมาณ 3,600 นายเท่านั้น (ในจำนวนนี้เป็นทหารไทยประมาณ 1,900 นาย) เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโอไมครอน ดังนั้นคนที่กังวลว่าสหรัฐฯจะทุ่มกำลังเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานทัพสู้กับจีนและเมียนมาร์ก็น่าจะผ่อนคลายลงไปได้บ้าง แต่ก็ต้องติดตามต่อไปว่าถ้าการสู้รบในเมียนมาร์และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนยังไม่สิ้นสุดลงในปีหน้า ประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาอีกหรือไม่
ส่วนตัวผมเห็นด้วยว่าไทยควรรักษาความเป็นกลาง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทั้งการสู้รบในเมียนมาร์ (ยกเว้นการป้องกันตัวและการช่วยเหลือผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรม) และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการฝึกคอบร้าโกลด์ เพราะการฝึกนี้ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ แม้แต่ตอนที่ไทยเกิดรัฐประหาร สหรัฐฯก็ยังไม่ยกเลิกการฝึกร่วมกับไทย ถ้าอยู่ๆไทยไปยกเลิกการฝึกหรือลดขนาดการฝึกลงโดยไม่มีเหตุสมควร ก็เสมือนกับเป็นการลดระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แทนที่ไทยจะรักษาความเป็นกลางได้ ผลอาจจะออกมาตรงกันข้ามแทน นอกจากนี้การฝึกคอบร้าโกลด์ปกติก็จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว มีการเปิดให้ประเทศอื่นๆส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาได้อยู่แล้ว ไม่ได้ปกปิดเป็นความลับอะไร ไม่มีความจำเป็นต้องกลัวจีนยิงขีปนาวุธมาลงอ่าวไทยแบบที่บางกลุ่มพยายามปั่นกระแสจนเกิดเหตุ ผมสนับสนุนให้จัดการฝึกคอบร้าโกลด์ต่อไปตามปกติ เพียงแต่ต้องจำกัดขอบเขตการฝึกไว้ ไม่ขยายออกไปจนเกินพอดีเท่านั้น
แม้การฝึกคอบร้าโกลด์จะไม่เป็นปัญหาในการรักษาความเป็นกลางของไทย ท่ามกลางความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยมีความสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากกว่าชาติอื่นๆมาก ยกตัวอย่างเช่นจีน ไทยมีการฝึกร่วมกับจีนหลักๆคือการฝึก Blue Strike ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปีและมีสเกลเล็กกว่า Cobra Gold มาก นอกจากนี้ก็มีการฝึกร่วม Falcon Strike ของกองทัพอากาศ และการฝึกย่อยอื่นๆซึ่งไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก สำหรับรัสเซียยิ่งแล้วใหญ่ กองทัพไทยยังไม่มีการฝึกร่วมกับรัสเซียแบบทวิภาคีเลย มีเพียงการฝึกร่วมระหว่างรัสเซียกับอาเซียนซึ่งจัดขึ้นนานๆครั้ง รวมถึงก่อนหน้านี้ไทยเคยส่งพลซุ่มยิงไปเข้าการแข่งขันกีฬาทหารนานาชาติ (International Army Games) เมื่อปี ค.ศ.2017 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
เมื่อไทยมีความสัมพันธ์ทางทหารกับจีนและรัสเซียค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ก็หมายความว่าความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับจีนและรัสเซียยังมีพื้นที่ให้ขยับขยายได้อีกมาก ดังนั้นแทนที่จะไปลดระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไทยควรรักษาสมดุลด้วยการเพิ่มความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียแทน ยกตัวอย่างเช่นปัจจุบันกองทัพเรือไทยได้จัดหาเรือรบและยุทโธปกรณ์จากจีนมากขึ้น ก็อาจจะยกระดับการฝึก Blue Strike เปลี่ยนเป็นจัดขึ้นปีละครั้งและเพิ่มขนาดการฝึกให้ใหญ่ขึ้น รวมถึงอาจจะให้กองทัพบกเข้าร่วมด้วยก็ได้ เพราะกองทัพบกไทยก็มียุทโธปกรณ์จากจีนใช้งานอยู่หลายรุ่นเช่น รถถัง VT-4, รถหุ้มเกราะล้อยาง VN-1, รถสายพานลำเลียง Type-85 ฯลฯ สำหรับกองทัพอากาศอาจจะลำบากหน่อย เนื่องจากสหรัฐฯไม่ยอมให้ไทยใช้เครื่องบินรบที่จัดหาจากสหรัฐฯในการฝึกร่วมกับจีน จึงมีตัวเลือกแค่เครื่องบินขับไล่ JAS-39 Gripen เท่านั้น
สำหรับการฝึกร่วมกับรัสเซียอาจจะมีตัวเลือกค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกองทัพไทยมียุทโธปกรณ์จากรัสเซียใช้งานอยู่ค่อนข้างน้อย อาจจะเริ่มด้วยการส่งกำลังพลเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทหารนานาชาติ (ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างลาว เวียดนาม เมียนมาร์เข้าร่วมเป็นประจำอยู่แล้ว) หลายๆรายการแล้วค่อยๆขยับขยายไป นอกจากนี้ยังมีอีก 2 หน่วยงานซึ่งผมคิดว่าสามารถใช้เพิ่มความร่วมมือกับรัสเซียได้คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และทหารพราน
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปภ. ได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย Kamov Ka-32 จากรัสเซียมาใช้งาน และได้โชว์ผลงานดับไฟป่าในหลายพื้นที่ และมีการจัดหาเพิ่มเติมอีก เมื่อ ปภ. ใช้เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยจากรัสเซียเป็นม้างานหลัก ถ้าให้ ปภ. เพิ่มความร่วมมือกับกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของรัสเซีย (EMERCOM) จัดการฝึกร่วม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในภารกิจค้นหากู้ภัย ดับไฟป่า ฯลฯ ก็จะเป็นประโยชน์มาก และเป็นการเพิ่มความร่วมมือกับรัสเซียไปในตัว
สำหรับทหารพราน หลายคนอาจมองว่ามีสถานะเป็นเพียงกำลังกึ่งทหาร สำหรับลาดตระเวนตามแนวชายแดน ทำการรบหน่วงเวลา รอกำลังหลักของกองทัพไทยไปสมทบเท่านั้น แต่การที่ทหารพรานมีการใช้ยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์ของค่ายคอมมิวนิสต์เดิม เช่นปืนเล็กยาวตระกูล AK-47 (ส่วนใหญ่เป็น Type-56 ผลิตในจีน) และเครื่องยิงจรวด RPG (ส่วนใหญ่เป็น Type-69 จากจีนเช่นกัน) ก็ทำให้หน่วยทหารพรานเป็นหนึ่งในตัวเลือกของไทยถ้าจะจัดการฝึกร่วมกับจีนและรัสเซียได้ (ส่วนตัวผมมองไปที่รัสเซียมากกว่า) ไหนๆกองทัพไทยก็ยังจัดหาปืนเล็กยาว AK รุ่นใหม่ๆคือ AK-104 และ AK-201 ให้ทหารพรานใช้งานอยู่แล้ว ถ้าจะให้ทหารพรานฝึกร่วมกับรัสเซียไปเลย พร้อมกับอุดหนุนยุทโธปกรณ์ประเภทอาวุธประจำกายหรืออาวุธประจำหน่วยของรัสเซีย เช่นปืนกลเบาตระกูล RPK, ปืนกลตระกูล PKM, เครื่องยิงจรวด RPG รุ่นใหม่ๆ ฯลฯ จัดหามาให้ทหารพรานใช้งานเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งพอเป็นพิธี โดยไม่ไปกระตุกหนวดกฎหมาย CAATSA ของสหรัฐฯเข้า ผมก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แลกกับการที่ไทยได้รัสเซียมาช่วยถ่วงดุลสหรัฐฯและจีนอีกประเทศหนึ่ง ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันรัสเซียมีอิทธิพลในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้นทั้งเมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม ดังนั้นการเป็นมิตรกับรัสเซียเพื่อถ่วงดุลกับเพื่อนบ้านก็มีความสำคัญเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป ถ้าไทยจะรักษาความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการสู้รบในเมียนมาร์ ไทยควรใช้วิธีเพิ่มความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย มากกว่าจะไปลดระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
สวัสดี
22.01.2022