
(Sgt. 1st Class Ben Houtkooper/ Public Domain)
มีข่าวจากสื่อ CBC และ CBS News รัฐมนตรีกลาโหมของสามประเทศบอลติก ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย แถลงร่วมกันประกาศจะส่งยุทโธปกรณ์รวมถึงจรวดต่อสู้รถถังและจรวดต่อสู้อากาศยานให้ยูเครน โดยเอสโตเนียจะส่งจรวดต่อสู้รถถัง FGM-148 Javelin ขณะที่ลัตเวียและลิทัวเนียจะส่งจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า (MANPADS) FIM-92 Stinger ด้านสหรัฐฯพอได้ข่าว นาย Anthony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯก็ออกมาประกาศสนับสนุนเต็มที่
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากยุทโธปกรณ์ผลิตในสหรัฐฯแล้ว เอสโตเนียยังมีแผนจะส่งปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 122 มิลลิเมตรแบบ D-30 ให้ยูเครนด้วย ปัญหาคือปืนใหญ่ดังกล่าวที่เอสโตเนียมีอยู่เป็นชุดที่ผลิตในเยอรมนีตะวันออก เอสโตเนียจัดหามือสามต่อจากฟินแลนด์ซึ่งจัดหาจากคลังเก่าของเยอรมนีอีกต่อหนึ่ง ถ้าเอสโตเนียจะส่งให้ยูเครนก็ต้องขออนุญาตเยอรมนีก่อน แต่ทว่าล่าสุดมีข่าวจาก The Wall Street Journal รายงานว่าเยอรมนีไม่อนุญาตให้เอสโตเนียส่งปืนใหญ่ดังกล่าวให้ยูเครน
เมื่อเยอรมนีไม่ยอมให้เอสโตเนียส่งปืนใหญ่ D-30 ให้ยูเครน ก็มีข่าวจากสื่อ Daily Sabah ว่านาย Dmytro Kuleba รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนออกมาวิจารณ์เยอรมนีว่าบ่อนทำลายความสามัคคีของชาติตะวันตก ส่งเสริมให้ปูตินบุกยูเครน

(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
ท่าทีที่แตกต่างกันของสหรัฐฯและเยอรมนีไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ สหรัฐฯเป็นคนก่อวิกฤตยูเครน ด้วยการสนับสนุนกลุ่มนีโอนาซีทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลยูเครนของนาย Viktor Yanukovych ที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลยูเครนที่จัดตั้งขึ้นหลังจากนั้นทั้งของนาย Petro Poroshenko และนาย Volodymyr Zelensky ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพื่อจะใช้ยูเครนเป็นฐานปิดล้อมกดดันรัสเซียจากทางตะวันตกเฉียงใต้ แม้สถานการณ์ในดอนบาสจะผ่อนคลายลงไปมาก แต่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาติตะวันตกรวมถึงตุรกีก็ติดอาวุธให้ยูเครนเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมใช้ปราบดอนบาส ส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถปกป้องดอนบาสด้วยการส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ยุคโซเวียตให้แบบลับๆได้อีก รัสเซียจึงต้องแสดงแสนยานุภาพ เคลื่อนกำลังเข้าใกล้ชายแดนยูเครนอยู่เนืองๆเป็นการป้องปรามไม่ให้กองทัพยูเครนโจมตีดอนบาส ไม่อย่างนั้นกองทัพรัสเซียจะเข้าแทรกแซงเหมือนสมัยสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย เดือนสิงหาคม ค.ศ.2008 ฝั่งสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกองทัพยูเครน ก็จะใช้โอกาสนี้โฆษณาชวนเชื่อว่ารัสเซียจะบุกยูเครน หาข้ออ้างส่งอาวุธให้ยูเครนกดดันรัสเซียมากขึ้น ทางด้านสามประเทศบอลติกนั้นต้องการหาเรื่องเป็นศัตรูกับรัสเซียพร้อมกับขอการสนับสนุนจากสหรัฐฯอยู่แล้ว จึงเข้ามาผสมโรงด้วย ตรงกันข้ามกับเยอรมนีที่ต้องการค้าขายกับรัสเซีย มีโครงการท่อก๊าซ Nord Stream 2 ที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ถูกบีบให้ต้องแสดงบทบาทในฐานะสมาชิก EU และ NATO กดดันรัสเซีย ท่าทีของเยอรมนีจึงออกมาครึ่งๆกลางๆ ด้านหนึ่งก็ออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าววิจารณ์รัสเซีย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมส่งอาวุธให้ยูเครนร่วมกับสหรัฐฯและพวก ให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์เท่านั้น เป็นต้น
สวัสดี
23.01.2022