ปืนกลอเนกประสงค์ PKM ขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของสหภาพโซเวียต

ภาพปืนกล PKM ขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกองทัพฟินแลนด์
(MKFI/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ปืนกลอเนกประสงค์ PKM ของสหภาพโซเวียต เข้าประจำการเมื่อปี ค.ศ.1969 พัฒนาต่อยอดมาจากปืนกล PK ซึ่งออกแบบโดยมิฮาอิล คาลาชนิคอฟ (Mikail Kalshnikov) ที่มีจุดเด่นเรื่องความทนทาน ใช้งานง่ายอยู่แล้ว ให้มีน้ำหนักเบา ใช้งานง่ายขึ้นอีก รวมถึงลดความซับซ้อนของสายการผลิต เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่ถูกใช้งานแพร่หลายทั่วโลก ทั้งในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต และกลุ่มติดอาวุธต่างๆ แม้แต่ประเทศยุโรปตะวันออกหลายประเทศซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิก NATO แล้วก็ยังใช้งานปืนกลรุ่นนี้อยู่

ปืนกล PKM ติดตั้งบนขาทราย มีน้ำหนักปืนเปล่า 7.5 กิโลกรัม มีขนาดยาว 1,160 มิลลิเมตร ความยาวลำกล้อง 645 มิลลิเมตร ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 54 mmR อัตราการยิงสูงสุด 600 – 800 นัดต่อนาที แต่ปกติจะทำการยิงที่อัตราการยิงประมาณ 250 นัดต่อนาที ใช้สายกระสุนขนาด 100 หรือ 200 นัดบรรจุในกล่อง ปืนกล PKM มีการติดตั้งศูนย์เล็งแบบศูนย์เหล็ก ปรับระยะได้ตั้งแต่ 100 ถึง 1,500 เมตร และสามารถติดตั้งกล้องเล็งเพิ่มเติมได้ มีระยะยิงหวังผล 800 เมตรเมื่อยิงใส่เป้าหมายเป็นพื้นที่และ 500 เมตรเมื่อยิงใส่เป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง ข้อด้อยของปืนกล PKM คือใช้ขนาดกระสุนต่างจากอาวุธปืนรุ่นอื่นๆ (ปืนตระกูล AK-47 และปืนกลเบา RPK ใช้กระสุนขนาด 7.62 x 39 มิลลิเมตร ขณะที่ปืนตระกูล AK-74 และปืนกลเบา RPK-74 ใช้กระสุนขนาด 5.45 x 39 มิลลิเมตร) ส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานในฐานะอาวุธอัตโนมัติของหมู่ทหารราบ (squad automatic weapon – SAW) ได้เต็มที่เหมือนปืนกลเบา M249 ของสหรัฐฯ

ปืนกล PKM ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านสมรภูมิทั้งสงครามเวียดนาม, ปฏิบัติการทางทหารของโซเวียตในอัฟกานิสถาน, สงครามอิหร่าน-อิรัก, สงครามอ่าวเปอร์เซีย, สงครามเชชเนีย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, สงครามซีเรีย เป็นต้น ปัจจุบันมีประจำการในกองทัพประเทศต่างๆหลายสิบประเทศทั่วโลกเช่น รัสเซีย ยูเครน อุสเบกิสถาน ทาจิกิสถาน เซอร์เบีย โรมาเนีย โปแลนด์ ฟินแลนด์ อิหร่าน อิรัก ซีเรีย อียิปต์ มองโกเลีย เวียดนาม ฯลฯ

สวัสดี

24.01.2022

ภาพปืนกล PKM ตั้งแสดงในงานครบรอบ 20 ปี กองทัพเรือฟินแลนด์ เมื่อปี ค.ศ.2012
(MKFI/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

แสดงความคิดเห็น