
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)
ขณะที่ความตึงเครียดในยูเครนพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความกังวลของหลายฝ่ายว่ารัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่ มีการวิเคราะห์คาดการณ์กันไปต่างๆนานา ส่วนตัวผมกลับเห็นตรงข้าม ผมเชื่อว่ารัสเซียไม่ได้คิดจะบุกยูเครนตั้งแต่ต้น รัสเซียเพียงแต่ต้องการแสดงแสนยานุภาพป้องปรามยูเครนซึ่งได้รับการสนับสนุนยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่จากสหรัฐฯและตุรกี ไม่ให้ใช้กำลังกับดอนบาสเท่านั้น
รัสเซียเริ่มเสริมกำลังทหารประชิดชายแดนยูเครนครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2021 โดยประธานาธิบดียูเครน นาย Volodymyr Zelensky เป็นคนเริ่มกล่าวหารัสเซียก่อน ตามรายงานของสื่อ The Times of Israel ทีนี้คำถามสำคัญก็คือเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม กองทัพยูเครนได้ใช้โดรน Bayraktar TB2 ที่จัดหามาจากตุรกี โจมตีกองกำลังดอนบาสเป็นครั้งแรก มีลงข่าวในสื่อหลายสำนักเช่น RT หลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวในสื่อ The Drive ว่ากองทัพยูเครนได้ใช้จรวดต่อสู้รถถัง FGM-148 Javelin ที่ได้รับจากสหรัฐฯในดอนบาสด้วย ข้อมูลการใช้อาวุธรุ่นใหม่ของยูเครนนี้ นายทหารยูเครนล้วนเป็นคนเปิดเผยกับสื่อเอง

(Bayhaluk/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)
การที่กองทัพยูเครนใช้โดรน Bayraktar TB2 และจรวดต่อสู้รถถัง Javelin ในดอนบาสมีความสำคัญอย่างไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของการสู้รบในดอนบาส ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.2014 – 2015 ก่อน หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่จัตุรัสไมดัน ซึ่งสหรัฐฯและชาติตะวันตกให้การสนับสนุนกลุ่มนีโอนาซีโค่นล้มรัฐบาลยูเครนของนาย Viktor Yanukovich ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในไครเมียและภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งมีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่มาก นำไปสู่กระแสแยกตัวเป็นอิสระในหลายพื้นที่ โดยไครเมียได้ประกาศเอกราชเป็นแห่งแรกและทำประชามติขอรวมกับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็ตอบรับทันที เพราะต้องการรักษาจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลดำและฐานทัพเรือของกองเรือทะเลดำ (Black Sea Fleet) ที่เมืองเซวัสโตโปลไว้ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าท่ามกลางภาวะสุญญากาศและความไม่แน่นอนในยูเครน แต่สำหรับภาคตะวันออกของยูเครนนั้น รัสเซียไม่ได้มีแผนรองรับไว้ เมื่อรัฐบาลใหม่ของยูเครนซึ่งตะวันตกให้การสนับสนุนใช้กองทัพและกลุ่มติดอาวุธนีโอนาซีเช่น Azov Battalion เข้าปราบปราม กองกำลังท้องถิ่นจึงไม่สามารถต้านทานได้ต้องถอยร่นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือพื้นที่รอบเมืองโดเนทสค์ (Donetsk) และลูกังสค์ (Lugansk) เท่านั้น ตอนนี้รัสเซียถึงเข้าแทรกแซง โดยการส่งอาสาสมัคร ทหารรับจ้าง รวมถึงทหารรัสเซียที่ “ลาพักร้อน” ไปช่วยดอนบาสแบบลับๆ ไม่มีเครื่องหมายและเอกสารทางการ ใช้ยุทโธปกรณ์รุ่นเก่าจากยุคโซเวียตแบบเดียวกับของกองทัพยูเครนเช่นรถถัง T-64, รถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-80 ฯลฯ เป็นหลัก เพื่อจะอ้างได้ว่าเป็นอาวุธที่ยึดได้จากกองทัพยูเครน ส่วนอาวุธรุ่นใหม่ของกองทัพรัสเซียเช่นรถถังหลัก T-72B3, รถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A ฯลฯ จะปรากฏตัวเฉพาะเวลาจำเป็น อาจจะกล่าวได้ว่าการสู้รบในดอนบาสนั้นเป็น “สงครามลับ” ของรัสเซีย
แม้ความช่วยเหลือแบบลับๆของรัสเซียจะช่วยให้ดอนบาสรบชนะกองทัพยูเครน จนมีการทำข้อตกลงหยุดยิง Minsk II ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดอนบาสและรัสเซียเป็นฝ่ายชนะนั้น เกิดจากการที่กองทัพยูเครนในช่วงเวลานั้นอ่อนแอมาก เนื่องจากถูกละเลยมานาน ขาดแคลนงบประมาณ นอกจากนี้การที่ทหารรัสเซียที่มาช่วยดอนบาสนั้นต้องทำการรบโดยที่มีกำลังพลน้อยและมียุทโธปกรณ์โดยภาพรวมด้อยกว่าของกองทัพยูเครน โดยไม่มีการสนับสนุนทางอากาศ ก็ส่งผลให้ทหารรัสเซียหลายหน่วยรวมถึงพลร่ม (VDV) และสเปซนาซสูญเสียไม่น้อยเช่นกัน ทหารรับจ้างรัสเซียบางส่วนถึงกับขยาดไม่อยากถูกส่งไปดอนบาส เพราะการสู้รบกับกองทัพตามแบบนั้นไม่ง่ายเหมือนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางและแอฟริกา จะเห็นได้ว่าการที่รัสเซียจะช่วยดอนบาสโดยการทำสงครามลับต่อไปนั้นมีข้อจำกัดอยู่
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทัพยูเครนได้รับการฟื้นฟูปรับปรุงจนมีความเข้มแข็งขึ้นมาก มีการฟื้นสภาพและอัพเกรดอาวุธรุ่นใหม่ๆเข้าประจำการ เช่นรถถัง T-64BV รุ่นปี 2017, รถถัง T-72AMT เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจรวดต่อสู้รถถัง Javelin และโดรน Bayraktar TB2 นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลยทีเดียว

(Sgt. 1st Class Ben Houtkooper/ Public Domain)
หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ดอนบาสรบชนะยูเครนเมื่อปี ค.ศ.2014 – 2015 ได้ เป็นเพราะขณะนั้นรถถัง T-64 ของยูเครนไม่สามารถต่อกรกับรถถัง T-72B3 ของรัสเซียได้ แต่ปัจจุบันยูเครนมีรถถัง T-64BV รุ่นปี 2017 ซึ่งมีขีดความสามารถใกล้เคียงกับรถถัง T-72B3 แล้ว ยิ่งได้จรวดต่อสู้รถถัง Javelin มาเสริม ก็ส่งผลให้ข้อได้เปรียบเรื่องประสิทธิภาพรถถังของฝ่ายดอนบาสหมดไป แม้จำนวนรถถังและจรวด Javelin ของกองทัพยูเครนจะถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนยานเกราะของกองทัพรัสเซียทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าในสงครามลับนั้น รัสเซียสามารถส่งยานเกราะไปช่วยฝ่ายดอนบาสได้จำนวนจำกัด เพราะต้องรักษาความลับนั่นเอง จำนวนรถถังรุ่นอัพเกรดและจรวด Javelin ของยูเครนจึงเพียงพอต่อการรับมือยานเกราะของดอนบาสแล้ว (การที่อังกฤษส่งจรวดต่อสู้รถถัง NLAW ให้ยูเครนล่าสุดยิ่งส่งผลเสียต่อดุลทางทหารนี้ยิ่งกว่าเดิม)
ในส่วนของโดรน Bayraktar TB2 ของตุรกีนั้น สำหรับผู้อ่านที่ติดตามเหตุการณ์สู้รบในซีเรีย ลิเบีย และพื้นที่พิพาทแคว้นนาร์กอโน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณมาก แม้โดรน Bayraktar TB2 จะไม่ใช่อาวุธวิเศษ แต่การจะรับมือโดรนชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้เครือข่ายระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่จำนวนมาก วางกำลังสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างแน่นหนา ซึ่งไม่สามารถทำได้ตราบใดที่รัสเซียยังต้องการให้การสู้รบในดอนบาสเป็นเพียงสงครามลับต่อไป ที่ผ่านมากองกำลังของดอนบาสมีเพียงระบบป้องกันภัยทางอากาศยุคโซเวียตเช่น 9K35 Strela-10 และ 9K33 Osa ไม่กี่ระบบ พร้อมปืนต่อสู้อากาศยาน ZU-23-2 และ MANPADS อีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น กำลังแค่นี้อาจเพียงพอจะจัดตั้งเขตห้ามบิน (No-fly zone) ป้องกันไม่ให้เครื่องบินรบไม่กี่ลำของยูเครนเมื่อปี ค.ศ.2014 – 2015 เข้ามาในดอนบาสได้ แต่ปัจจุบันถือว่าไม่เพียงพอรับมือโดรน Bayraktar TB2 แล้ว
เมื่อการทำสงครามลับไม่เพียงพอจะช่วยเหลือดอนบาสได้ต่อไป นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะกองทัพยูเครนได้แล้ว ยังอาจส่งผลให้รัสเซียสูญเสียกำลังพลโดยเปล่าประโยชน์ด้วย รัสเซียจึงจำเป็นต้องป้องปรามไม่ให้เกิดการสู้รบในดอนบาสตั้งแต่ต้น เพราะถ้าเกิดการสู้รบขึ้น รัสเซียก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องส่งกองทัพเข้าแทรกแซงโดยเปิดเผยเหมือนสมัยสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย (Russo-Georgian War) เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2008 เท่านั้น เป็นที่มาของการเสริมกำลังทหารรัสเซียเข้าประชิดชายแดนยูเครน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะรัสเซียเคยใช้วิธีนี้กดดันยูเครนมาหลายครั้งแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือในช่วงที่สื่อตะวันตกพากันประโคมข่าวว่ารัสเซียเสริมกำลังจะบุกยูเครนนั้น ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.2021 นาง Maria Zakharova โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียก็เปิดเผยว่ายูเครนได้เสริมกำลังพลกว่า 125,000 นาย ครึ่งหนึ่งของกองทัพยูเครนทั้งหมดเข้าประชิดดอนบาส มีข่าวในสื่อ Reuters และจนถึงปัจจุบัน ขณะที่สื่อตะวันตกเช่น Daily Mail และ Bild ต่างวิเคราะห์คาดการณ์กันว่ารัสเซียจะทุ่มกำลังทหาร 100,000 นายบุกยูเครนตลอดแนวชายแดนรัสเซีย-ยูเครน มีการยกพลขึ้นบกริมชายฝั่งทะเลดำ รวมถึงมีการใช้กำลังทหารบุกมาจากเบลารุสอีกทางหนึ่งด้วย แต่ดูเหมือนว่ากองทัพยูเครนจะเน้นเสริมกำลังและอาวุธหนักไปที่ดอนบาสเพียงจุดเดียว ผู้บัญชาการกองกำลังดอนบาสเปิดเผยกับสื่อ TASS ว่าช่วงนี้กองทัพยูเครนมีความเคลื่อนไหวมากผิดปกติโดยเฉพาะพื้นที่ดอนบาส
กล่าวโดยสรุป ผมเชื่อว่ารัสเซียไม่ได้กำลังเตรียมบุกยูเครนแบบที่สื่อตะวันตกประโคมข่าว แต่เป็นการแสดงแสนยานุภาพป้องปรามไม่ให้กองทัพยูเครน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอาวุธรุ่นใหม่จากสหรัฐฯและตุรกีใช้กำลังกับดอนบาส เพราะถ้าเกิดการสู้รบรอบใหม่ในดอนบาส ทางเลือกเดียวของรัสเซียที่จะปกป้องดอนบาสได้คือต้องใช้กองทัพรัสเซียเข้าแทรกแซงเต็มรูปแบบ ไม่สามารถทำสงครามลับเหมือนเมื่อปี ค.ศ.2014 – 2015 ได้แล้ว แน่นอนว่าสงครามเต็มรูปแบบระหว่างรัสเซียและยูเครนจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในยุโรปและการเมืองโลก ดังนั้นการป้องปรามไม่ให้เกิดการสู้รบรอบใหม่ขึ้นตั้งแต่ต้น เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาจึงมีความสำคัญ
สวัสดี
26.01.2022