
(Bundesarchiv, Bild 101I-139-1112-17 / Knobloch, Ludwig / CC-BY-SA 3.0)
นายพลไฮนซ์ กูเดเรียน เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1888 ที่เมืองคุล์ม (Kulm) ในแคว้นปรัสเซียตะวันตก (West Prussia) ของจักรวรรดิเยอรมนี (German Empire) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์ พ่อและปู่ของเขาเป็นนายทหารปรัสเซีย กูเดเรียนจึงได้รับอิทธิพลความเป็นทหารมาตั้งแต่เด็กๆ ในปี ค.ศ.1903 เขาเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในกรุงเบอร์ลิน และได้เป็นว่าที่นายร้อยของกองทัพบกเยอรมันในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1907 สังกัดกองพันทหารราบเบาฮันโนเฟอร์ที่ 10 (10th Hanoverian Light Infantry Battalion) ซึ่งพ่อของเขาเป็นผู้บังคับบัญชา กูเดเรียนก็ได้รับการประดับยศเป็นร้อยตรีในปี ค.ศ.1908 ก่อนจะย้ายไปสังกัดกองพันโทรเลขที่ 3 (3rd Telegraph Battalion) ที่นั่นกูเดเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่และได้โอกาสศึกษาหลักยุทธวิธีทางทหารเพิ่มเติมในวิทยาลัยทหารที่กรุงเบอร์ลิน (Berlin Military Academy) ด้วย เขาแต่งงานในปี ค.ศ.1913 มีลูกชายสองคนเกิดในปี ค.ศ.1914 และ ค.ศ.1918 ตามลำดับ
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นในปี ค.ศ.1914 กูเดเรียนดำรงตำแหน่งเป็นนายทหารสื่อสารและเป็นผู้บังคับบัญชาสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยโทในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1914 หลังจากนั้นเขาก็เป็นผู้รับผิดชอบภารกิจด้านข่าวกรองของกองทัพที่ 4 (4th Army) ของเยอรมันระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1915 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ.1916 ในช่วงเวลานี้เขาก็เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ก่อนจะเข้าร่วมสมรภูมิที่แวร์เดิง (Battle of Verdun) แม้กูเดเรียนจะเป็นนายทหารสื่อสาร ไม่มีโอกาสเข้าร่วมรบในแนวหน้ามากนัก แต่มีบางครั้งที่สถานีวิทยุของเขาถูกโจมตี และต้องปะทะหรือฝ่าวงล้อมข้าศึกออกมา กูเดเรียนจึงได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) หลังจากนั้นหน้าที่การงานในกองทัพของกูเดเรียนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงปี ค.ศ.1918 เขาก็แสดงให้ผู้บังคับบัญชาเห็นถึงความสามารถทางด้านยุทธวิธี และได้เข้าร่วมคณะเสนาธิการ กูเดเรียนเป็นหนึ่งในนายทหารเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับการยอมแพ้ของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1918
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง กูเดเรียนยังคงอยู่ในกองทัพเยอรมันซึ่งถูกลดขนาดลงตามสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles) ต่อไป เขามีบทบาทในการจัดตั้งกองกำลังขวาพิฆาตซ้ายไฟรคอร์ (Freikorps) เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ทางภาคตะวันออกของเยอรมนีและในแถบบอลติก หลังไฟรคอร์สลายตัวลง กูเดเรียนก็ได้เป็นครูฝึกในโรงเรียนนายร้อยที่กรุงเบอร์ลิน เขาเริ่มพัฒนาแนวคิดการใช้ยานยนต์ในสงครามเคลื่อนที่ (มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น War of Movement หรือ Mobile Warfare ฯลฯ) ต่อยอดจากแนวคิดของนักทฤษฎีทางทหารเช่น ร้อยเอกลิดเดลล์ ฮาร์ต (Liddell Hart), พลตรีฟุลเลอร์ (J. F. C. Fuller) เป็นต้น
ในปี ค.ศ.1927 กูเดเรียนได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรี เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารยานยนต์ มีรถบรรทุกและมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะ (ตามสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีไม่ได้รับอนุญาตให้มีรถถัง) และได้เป็นอาจารย์ในวิทยาลัยทหารที่กรุงเบอร์ลินด้วย แม้หน่วยของกูเดเรียนจะรับผิดชอบภารกิจด้านการขนส่งเป็นหลัก แต่เขาก็เริ่มทดลองนำรถมอเตอร์ไซค์และรถบรรทุกมาจำลองเป็นรถถัง โดยใช้ไม้และแผ่นเหล็กมาประกอบรอบตัวรถ เพื่อศึกษายุทธวิธี เขายังนำประสบการณ์การเป็นทหารสื่อสารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาประยุกต์ใช้ในการประสานงานระหว่างรถถัง ทหารราบ และปืนใหญ่โดยใช้วิทยุด้วย แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดมาก แม้ในช่วงเวลานี้เยอรมนีจะเริ่มพัฒนารถถังอย่างลับๆแล้วโดยใช้ชื่อรถแทรกเตอร์เป็นฉากบังหน้า แต่การทดสอบใดๆเกี่ยวกับรถถังจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมาก เพราะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย สุดท้ายเมื่อเยอรมนีไม่สามารถศึกษาทดลองยุทธวิธีการใช้รถถังภายในประเทศได้ ก็จำเป็นต้องหาทางเลี่ยงบาลีไปทดสอบในต่างประเทศแทน
ในปี ค.ศ.1929 กูเดเรียนมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมกองพันรถถัง Strv m/21-29 ของประเทศสวีเดน แม้กูเดเรียนจะศึกษาเรื่องรถถังมานานแล้ว แต่เขาพึ่งได้มีโอกาสทดลองขับรถถังเป็นครั้งแรกที่สวีเดนนี่เอง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เยอรมนีซึ่งถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ เพราะเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้เพิ่มความร่วมมือกับสหภาพโซเวียต ซึ่งถูกนานาชาติโดดเดี่ยวเช่นกันเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ หนึ่งในความร่วมมือระหว่างทั้งสองชาติคือโซเวียตจะให้เยอรมนีใช้พื้นที่บริเวณเมืองคาซาน (Kazan) ในการพัฒนารถถังอย่างลับๆ แลกกับการที่เยอรมนีต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้โซเวียตเป็นการตอบแทน กูเดเรียนได้ไปเยี่ยมชมรถถังเยอรมันที่พัฒนาขึ้นในโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1931 และพบว่ารถถังดังกล่าวยังคงอิงหลักนิยมในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เคลื่อนที่ได้ช้า และมีความซับซ้อนในการผลิตมากเกินไป เขาต้องการรถถังที่มีน้ำหนักเบาและมีความเร็วสูง เหมาะสำหรับสงครามเคลื่อนที่ รถถังเบา Panzer I จึงถือกำเนิดขึ้น
ในปี ค.ศ.1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ได้เป็นผู้นำเยอรมนี มีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และต้องการฟื้นฟูกองทัพเยอรมันขึ้นมาใหม่ ความร่วมมือกับโซเวียตถูกยกเลิก ฮิตเลอร์ขอให้กูเดเรียนจัดการสาธิตหน่วยรถถัง Panzer I ให้เขาชมที่สนามทดสอบในกรุงเบอร์ลิน ปรากฏว่าฮิตเลอร์ประทับใจมาก ออกคำสั่งให้กองทัพเยอรมันจัดหารถถังเข้าประจำการจำนวนมาก และจัดตั้งกองพลยานเกราะ (Panzer Division) ขึ้น 3 กองพล เป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายโดยเปิดเผย กูเดเรียนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพลยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Division) ขณะมียศเป็นพันเอกเท่านั้น และได้เลื่อนยศเป็นพลตรีในภายหลัง
ในปี ค.ศ.1936 กูเดเรียนเริ่มเขียนหนังสือชื่อ Achtung-Panzer! ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1937 มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักนิยมทางทหารแบบใหม่ ที่เน้นการใช้หน่วยยานเกราะที่มีอำนาจการยิงรุนแรง เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ร่วมกับหน่วยทหารราบ สนับสนุนโดยเครื่องบินรบและปืนใหญ่ในการเข้ายึดพื้นที่ ซึ่งต่อมาจะเป็นที่รู้จักในชื่อสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ที่น่าสนใจคือคำว่าสงครามสายฟ้าแลบนั้น กูเดเรียนไม่ได้เป็นคนคิดขึ้นและไม่มีอยู่ในตำราทางทหารของกองทัพเยอรมันด้วย แต่เป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้โดยนิตยสาร Time หลังจากการที่กองทัพเยอรมันบุกโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939
กูเดเรียนได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโทในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.1938 หนึ่งเดือนต่อมาเขาก็มีบทบาทในการผนวกออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี (Anschluss) หลังจากนั้นฮิตเลอร์ก็เลื่อนยศกูเดเรียนเป็นพลเอก ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังเคลื่อนที่เร็วของเยอรมัน (Chief of Mobile Troops) อย่างไรก็ตามแม้หลักนิยมการใช้ยานเกราะของเยอรมนีจะพัฒนาไปมาก แต่กูเดเรียนก็ยังต้องต่อสู้กับนายทหารเยอรมันคนอื่นๆที่ยังเชื่อในหลักนิยมแบบเก่า เช่น เสนาธิการฟรานซ์ ฮัลเดอร์ (Franz Halder) ซึ่งมองว่าทหารราบมีความสำคัญมากที่สุด
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1939 กูเดเรียนได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพน้อยที่ 19 (XIX Army Corps) มีหน่วยในสังกัดประกอบด้วยกองพลยานเกราะ 1 กองพลและกองพลทหารราบยานยนต์ 2 กองพล เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน หน่วยของกูเดเรียนก็ทำการรุกเข้าไปในพื้นที่ของแคว้นปรัสเซียตะวันตก บ้านเกิดของกูเดเรียน ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของโปแลนด์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เข้าไปจนถึงปรัสเซียตะวันออก ก่อนจะวกลงใต้ไปยังกรุงวอร์ซอ กองทัพเยอรมันสามารถเอาชนะโปแลนด์ได้อย่างรวดเร็ว กูเดเรียนได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight’s Cross) กองทัพน้อยที่ 19 ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นกลุ่มยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Group)

(Bundesarchiv, Bild 101I-382-0248-33A / Böcker / CC-BY-SA 3.0)
เมื่อกองทัพเยอรมันเตรียมบุกยุโรปตะวันตกในปี ค.ศ.1940 กูเดเรียนสนับสนุนให้ใช้แผนของนายพลเอริช ฟอน มันชไตน์ (Erich von Manstein) แทนที่แผนเหลือง (Case Yellow) ของพลเอกวัลเทอร์ ฟอน เบราชิทช์ (Walther von Brauchitsch) และเสนาธิการฟรานซ์ ฮัลเดอร์ ตามแผนมันชไตน์ (Manstein) กองทัพเยอรมันจะใช้กลุ่มกองทัพ บี (Army Group B) ซึ่งมีทหารราบเป็นกำลังหลักรุกเข้าไปในฮอลแลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ล่อให้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสออกมาปะทะด้วย จากนั้นก็จะใช้กลุ่มกองทัพ เอ (Army Group A) ซึ่งมียานเกราะเป็นกำลังหลักทำการรุกผ่านป่าอาร์เดน (Ardennes) ตลบหลังฝ่ายสัมพันธมิตร
เมื่อกองทัพเยอรมันเปิดฉากการรุกในยุโรปตะวันตก วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1940 กูเดเรียนก็เป็นผู้นำกำลังยานเกราะผ่านป่าอาร์เดน ข้ามแม่น้ำเมิส (Meuse) เจาะผ่านแนวป้องกันของฝรั่งเศสที่เมืองซีดาน (Sedan) จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่ชายทะเลด้วยความเร็วสูง ปิดล้อมทหารอังกฤษ, ฝรั่งเศส และเบลเยียมรวมกันกว่า 400,000 นายที่ดันเคิร์ก (Dunkirk) อย่างไรก็ตามเนื่องจากหน่วยยานเกราะเยอรมันทำการรุกอย่างรวดเร็วมาก จนทหารราบและหน่วยส่งกำลังบำรุงตามไม่ทัน ประกอบกับการตีโต้ของหน่วยรถถังอังกฤษที่อาร์ราส (Arras) ส่งผลให้ฮิตเลอร์ออกคำสั่งให้ยานเกราะเยอรมันหยุดการรุกไว้ชั่วคราว เปิดโอกาสให้อังกฤษสามารถอพยพทหารข้ามช่องแคบกลับไปได้
เมื่ออังกฤษถอนทหารออกจากดันเคิร์กและเบลเยียมยอมจำนน กองทัพเยอรมันก็มุ่งลงใต้บุกเข้าไปในฝรั่งเศส กลุ่มยานเกราะของกูเดเรียนทำการรุกจากแนวเวย์กังด์ (Weygand Line) ไปถึงบริเวณชายแดนสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 17 มิถุนายน โอบล้อมทหารฝรั่งเศสในแนวมายิโนต์ (Maginot Line) ขณะเดียวกันกองทัพเยอรมันก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่กรุงปารีส ฝรั่งเศสลงนามในสัญญาสงบศึกวันที่ 22 มิถุนายน ถือเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ที่สุดของสงครามสายฟ้าแลบ ที่สามารถพิชิตยุโรปตะวันตกได้อย่างราบคาบภายในเวลาเพียง 6 สัปดาห์

(Bundesarchiv, Bild 101I-769-0229-12A / Borchert, Erich (Eric) / CC-BY-SA 3.0)
หนึ่งปีต่อมา เมื่อกองทัพเยอรมันบุกสหภาพโซเวียตตามปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 กูเดเรียนก็นำกลุ่มยานเกราะที่ 2 สนับสนุนการรุกของกลุ่มกองทัพภาคกลาง (Army Group Center) เข้าไปในเบลารุสจนถึงเมืองสโมเลนสค์ กูเดเรียนเช่นเดียวกับนายทหารเยอรมันจำนวนมากต้องการบุกเข้ายึดกรุงมอสโกโดยเร็วที่สุด แต่ฮิตเลอร์กลับสั่งให้กลุ่มกองทัพภาคกลางหยุดการรุก แล้วให้กลุ่มยานเกราะของกูเดเรียนวกลงใต้ไปสนับสนุนกลุ่มกองทัพภาคใต้ (Army Group South) ยึดกรุงเคียฟและยูเครนให้ได้ก่อน กองทัพเยอรมันได้ชัยชนะงดงาม สามารถจับเชลยศึกโซเวียตที่กรุงเคียฟได้เกือบ 500,000 นาย แต่สหภาพโซเวียตก็ยังไม่ยอมแพ้ กลุ่มยานเกราะของกูเดเรียนจึงต้องวกกลับขึ้นเหนือไปช่วยกลุ่มกองทัพภาคกลาง เริ่มปฏิบัติไต้ฝุ่น (Operation Typhoon) บุกยึดกรุงมอสโกในเดือนตุลาคม
แม้กองทัพเยอรมันจะสามารถทำการรุกเข้าใกล้กรุงมอสโกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เริ่มประสบความสูญเสียอย่างหนัก ทหารเยอรมันต่างอ่อนล้าจากการต้องทำการรุกต่อเนื่องนานหลายเดือน หน่วยส่งกำลังบำรุงเริ่มตามหน่วยทหารในแนวหน้าไม่ทัน ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สุดท้ายการรุกของเยอรมันก็หยุดชะงักลงในเดือนธันวาคมบริเวณชานกรุงมอสโกนั่นเอง กองทัพโซเวียตเปิดฉากโจมตีตอบโต้โดยใช้ทหารกองหนุนจากไซบีเรียจำนวนมหาศาล ผลักดันกองทัพเยอรมันให้ถอยร่นกลับไป ฮิตเลอร์ออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันปักหลักสู้ห้ามถอยแม้แต่ก้าวเดียว แต่กูเดเรียนกลับสั่งให้ถอยทัพ สุดท้ายกูเดเรียนก็ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 25 ธันวาคม ปฏิบัติการไต้ฝุ่นล้มเหลว ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของกองทัพเยอรมัน
หลังความล้มเหลวของปฏิบัติการไต้ฝุ่น กูเดเรียนก็ว่างงานอยู่ประมาณหนึ่งปีเศษๆ ในเดือนกันยายน ค.ศ.1942 เมื่อจอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ถูกเรียกตัวกลับจากแอฟริกาเหนือเนื่องจากปัญหาสุขภาพ รอมเมลเสนอให้กูเดเรียนไปเป็นผู้บัญชาการทหารเยอรมันและอิตาลีในแอฟริกาเหนือแทนเขาแต่ถูกปฏิเสธ ต่อมาเมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้ในสมรภูมิสตาลินกราด (Battle of Stalingrad) ในปี ค.ศ.1943 ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งกูเดเรียนเป็นนายพลผู้ตรวจการณ์ของหน่วยยานเกราะ (Inspector General of Armoured Troops) รับผิดชอบดูแลการฟื้นฟูและพัฒนาหน่วยยานเกราะเยอรมัน ซึ่งมีกำลังรบร่อยหรอไปมาก แม้กูเดเรียนจะร่วมมือกับนายอัลเบิร์ต ชแปร์ (Albert Speer) รัฐมนตรีกระทรวงสรรพาวุธ ในการผลิตและพัฒนารถถังรุ่นใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สุดท้ายกองทัพเยอรมันก็สูญเสียยานเกราะที่กูเดเรียนฟื้นฟูขึ้นมาได้อย่างยากเย็นไปในสมรภูมิคูร์ส (Battle of Kursk) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1943

(Oberst Ludwig v. Eimannsberger/CC BY-SA 3.0)
เมื่อสถานการณ์ของกองทัพเยอรมันเริ่มเลวร้ายลงในทุกด้าน ในปี ค.ศ.1944 กูเดเรียนก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการกองทัพบก (Chief of the General Staff of the Army High Command) ต่อมาเมื่อเกิดความพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์ในวันที่ 20 กรกฎาคม (20 July plot) กูเดเรียนก็ถูกแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลทหาร ทำการปลดนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารฮิตเลอร์ ส่งไปให้ศาลประชาชน (People’s Court) ของพรรคนาซีลงโทษต่อไป กูเดเรียนจำเป็นต้องให้ความร่วมมือเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงว่าเขามีส่วนรับรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารฮิตเลอร์ขึ้น เพราะกลุ่มผู้ก่อการเคยติดต่อให้เขาเข้าร่วมด้วย แม้ตอนนั้นกูเดเรียนจะปฏิเสธไปแต่ก็ไม่ได้รายงานฮิตเลอร์เช่นกัน
หลังการกวาดล้างภายในกองทัพเยอรมันสิ้นสุดลง กูเดเรียนกลายเป็นนายทหารเยอรมันฝีมือดีไม่กี่คนที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่สถานการณ์ของเยอรมนีในช่วงปลายปี ค.ศ.1944 ถึงต้นปี ค.ศ.1945 นั้นเลวร้ายลงจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 ขณะที่กองทัพโซเวียตรุกคืบใกล้กรุงเบอร์ลินเข้ามาเรื่อยๆ กูเดเรียนก็โต้เถียงกับฮิตเลอร์อย่างรุนแรง ส่งผลให้ฮิตเลอร์โกรธมาก ออกคำสั่งให้กูเดเรียนลาพักไม่มีกำหนด แม้กูเดเรียนจะไม่ได้บัญชาการกองทัพอีก แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้กูเดเรียนสามารถออกจากกรุงเบอร์ลินได้ทันก่อนที่กองทัพโซเวียตจะเข้าล้อมเมือง กูเดเรียนยอมจำนนต่อกองทัพสหรัฐฯในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1945
กูเดเรียนถูกส่งตัวไปที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg) แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีพร้อมอาชญากรสงครามเยอรมันคนอื่นๆ เพราะไม่มีหลักฐานพอจะเอาผิดเขาได้ สหภาพโซเวียตต้องการให้สหรัฐฯส่งตัวกูเดเรียนให้โซเวียตไปดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงครามแต่ถูกปฏิเสธ หลังจากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้ควบคุมตัวกูเดเรียนไว้ในค่ายเชลยศึก พร้อมกับพยายามหาข้อมูลว่ากูเดเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามของเยอรมนีหรือไม่ สุดท้ายสัมพันธมิตรได้ให้กูเดเรียนอยู่ในพื้นที่คุมขังร่วมกับนายทหารเยอรมันอีก 2 นายคือลีโอ เกียร์ ฟอน ชเวปเปนบูร์ก (Leo Geyr von Schweppenburg) อดีตผู้บัญชาการกองทัพยานเกราะที่ 5 (5th Panzer Army) หรือกลุ่มยานเกราะตะวันตก (Panzer Group West) ในสมรภูมินอร์มังดี และจอมพลวิลเฮล์ม ริทเทอร์ ฟอน ลีบ (Wilhelm Ritter von Leeb) อดีตผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพภาคเหนือ (Army Group North) ในแนวรบด้านตะวันออก พร้อมกับดักฟังบทสนทนาของนายทหารทั้ง 3 นาย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาหลักฐานเอาผิดกูเดเรียนได้อยู่ดี กูเดเรียนถูกปล่อยตัวในปี ค.ศ.1948
ในปี ค.ศ.1950 กูเดเรียนตีพิมพ์หนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ Erinnerungen eines Soldaten ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1952 ชื่อหนังสือ Panzer Leader (เข้าใจว่าปัจจุบันยังไม่มีฉบับภาษาไทย)
กูเดเรียนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1954 ในเยอรมนีตะวันตก ขณะมีอายุ 65 ปี
สวัสดี
27.01.2022