
(Navy Historical Foundation/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
เมื่อพูดถึงกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น (Imperial Japan Navy – IJN) คนส่วนใหญ่จะนึกถึงนายทหารระดับสูงเช่น พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ (Isoroku Yamamoto), พลเรือโทชูอิจิ นากุโมะ (Chūichi Nagumo) ฯลฯ แต่ความจริงแล้ว ญี่ปุ่นยังมีนายทหารชั้นผู้น้อยหลายนายที่มีความสามารถน่ากล่าวถึงเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือมิโนรุ เกนดะ (Minoru Genda) เสนาธิการกองเรือบรรทุกเครื่องบินคิโด บุไต (Kido Butai) ซึ่งมีบทบาทในการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) และชัยชนะของญี่ปุ่นในช่วงต้นสงครามแปซิฟิก (Pacific War) แม้จะเป็นเพียงนายทหารชั้นผู้น้อย แต่ความจริงแล้วเกนดะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดและยุทธวิธีการใช้เรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่น รวมถึงมีบทบาทในการจัดตั้งกองเรือคิโด บุไตให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว
มิโนรุ เกนดะ เกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1904 ที่เมือง Kake (ปัจจุบันคือเมือง Akiota) ในจังหวัด Hiroshima เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือในปี ค.ศ.1924 ต่อมาเขาก็ทำการฝึกขับเครื่องบินเป็นเวลา 11 เดือนระหว่างปี ค.ศ.1928 – 1929 หลังสำเร็จการฝึกแล้วก็ได้เป็นนักบินเครื่องบินขับไล่
ในปี ค.ศ.1931 เกนดะได้ไปประจำบนเรือบรรทุกเครื่องบินอาคากิ (Akagi) หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1932 เขาก็จัดตั้งฝูงบินผาดแผลง “คณะละครสัตว์บินได้ของเกนดะ” (Genda’s Flying Circus) ใช้เครื่องบินขับไล่ปีกสองชั้น Nakajima A2N ออกทำการแสดงทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อประชาสัมพันธ์กองบินทหารเรือ
เกนดะได้รับประสบการณ์ในการออกรบจริงระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (Second Sino-Japanese War) ในปี ค.ศ.1937 ก่อนจะกลับมาเป็นครูฝึกอาวุโสประจำกองบินทหารเรือโยโกสุกะ (Yokosuka Naval Air Group)
นับตั้งแต่เกนดะเป็นนักบินทหารเรือตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 ถึงทศวรรษ 1930 เขาก็เริ่มพัฒนาแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน นักการทหารส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมองว่าลำพังเรือบรรทุกเครื่องบินแค่ 1 – 2 ลำ แยกปฏิบัติการเดี่ยวๆหรือรวมกับเรือรบชนิดอื่นๆเป็นกองเรือ ก็สามารถทำการส่งเครื่องบินรบออกไปโจมตีทางอากาศที่ตั้งของข้าศึก หรือป้องกันตัวจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เป็นสาเหตุที่กองพลเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier Division) แต่ละกองของญี่ปุ่นจะมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำเป็นศูนย์กลาง เช่นกองพลเรือบรรทุกเครื่องบินที่ 1 (First Carrier Division) ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินอาคากิและคากะ (Kaga), กองพลเรือบรรทุกเครื่องบินที่ 2 (Second Carrier Division) ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินโซริว (Soryu) และฮิริว (Hiryu) เป็นต้น แต่เกนดะเป็นคนแรกๆที่มองว่าควรรวมเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวนมากเข้าด้วยกันเป็นกองกำลังเฉพาะกิจเพียงกองเดียว เพื่อให้สามารถส่งเครื่องบินรบออกปฏิบัติการพร้อมกันจำนวนมากได้ ซึ่งในอนาคตจะเป็นที่มาของกองเรือคิโด บุไต เขายังคัดค้านการต่อเรือประจัญบาน (battleship) ด้วยและมองว่าญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญกับเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำ (submarine) เรือลาดตระเวนเบา (light cruiser) และเรือพิฆาต (destroyer) มากกว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความอาวุโส และเกนดะเป็นเพียงนายทหารชั้นผู้น้อย ความคิดเห็นของเขาจึงไม่ได้รับความสนใจมากนัก
แนวคิดของเกนดะเริ่มได้รับความสนใจจากนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือญี่ปุ่น เมื่อสถานการณ์ระหว่างประเทศมีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นอาจจะต้องทำสงครามกับสหรัฐฯ พลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ เริ่มเตรียมการโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในหมู่เกาะฮาวาย (Hawaii) ของสหรัฐฯ และเกนดะก็เป็นหนึ่งในคณะนายทหารที่ยามาโมโตะเลือกให้มาเป็นผู้วางแผนการโจมตี แต่ก่อนที่การวางแผนจะเริ่มต้นขึ้น ในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ.1940 เกนดะก็ถูกส่งไปเป็นทูตทหารที่อังกฤษเสียก่อน ระหว่างอยู่ที่อังกฤษเขาได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การสู้รบทางอากาศเหนือเกาะอังกฤษ (Battle of Britain) ระหว่างกองทัพอากาศอังกฤษ (Royal Air Force – RAF) กับกองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) และได้ทำการบันทึกข้อมูล รวมถึงประเมินขีดความสามารถเครื่องบินขับไล่ Hawker Hurricane Mk I, Supermarine Spitfire Mk I ของอังกฤษและ Messerschmitt Bf 109 ของเยอรมันอย่างละเอียด เกนดะได้ข้อสรุปว่าเครื่องบินขับไล่ Mitsubishi A6M Zero ของญี่ปุ่นมีขีดความสามารถเหนือกว่าเครื่องบินขับไล่ของชาติยุโรป เมื่อเขาเดินทางกลับญี่ปุ่น ข้อมูลที่เขารวบรวมมาก็ถูกใช้ในการวางแผนการทำสงครามของญี่ปุ่นด้วย
เกนดะเข้าสังกัดกองพลเรือบรรทุกเครื่องบินที่ 1 และได้พบกับพลเรือเอกยามาโมโตะในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1941 เพื่อหารือแผนการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เกนดะสนับสนุนการรวมกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น 6 ลำคือ อาคากิ คากะ โซริว ฮิริว โชกากุ (Shoukaku) และซุยกากุ (Zuikaku) เข้าด้วยกันเป็นกองเรือคิโด บุไต สำหรับใช้โจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ และเป็นกำลังรบหลักของกองทัพเรือญี่ปุ่นสำหรับปฏิบัติการในอนาคตด้วย เขายังเป็นผู้ฝึกการใช้ยุทธวิธีใหม่ๆ เช่น การปล่อยตอร์ปิโดในพื้นที่น้ำตื้น การใช้เครื่องบินรบหลายชนิดจากเรือบรรทุกเครื่องบินหลายลำปฏิบัติการร่วมกัน ฯลฯ ให้กองเรือคิโด บุไต รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนให้กองบัญชาการเลือกนาวาเอกมิตสุโอะ ฟูจิดะ (Mitsuo Fuchida) เพื่อนร่วมรุ่นของเขาในโรงเรียนนายเรือให้เป็นผู้นำการโจมตีทางอากาศด้วย อาจกล่าวได้ว่าการวางแผนปฏิบัติการทางยุทธวิธีต่างๆของกองเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นนั้นแทบจะเป็นความรับผิดชอบของเกนดะทั้งหมด อย่างไรก็ตามเนื่องจากเกนดะเป็นเพียงนายทหารชั้นผู้น้อย การนำเสนอแนวคิดยุทธวิธีต่างๆของเขาต่อกองบัญชาการและนายทหารระดับสูงจึงต้องทำผ่านผู้บังคับบัญชาคือ พลเรือโทชูอิจิ นากุโมะ ผู้บัญชาการกองเรือคิโด บุไตและกองพลเรือบรรทุกเครื่องบินที่ 1 แม้วิธีการนี้จะส่งผลให้พลเรือโทนากุโมะเป็นฝ่ายได้ผลงานไป แต่ก็เป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้แนวคิดยุทธวิธีของนายทหารชั้นผู้น้อยได้รับการนำไปปฏิบัติจริง
วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ กองเรือแปซิฟิก (Pacific Fleet) ของสหรัฐฯได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่เรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 3 ลำของสหรัฐฯกลับรอดไปได้ และโครงสร้างพื้นฐานในฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ รวมถึงคลังน้ำมันไม่ได้รับความเสียหายมากนัก ส่งผลให้สหรัฐฯสามารถใช้เพิร์ล ฮาร์เบอร์เป็นฐานปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิกต่อไปได้ ถือเป็นความผิดพลาดของญี่ปุ่น ที่น่าสนใจคือจริงๆแล้วเกนดะและนายทหารญี่ปุ่นหลายนายก็ต้องการให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่หมู่เกาะฮาวาย และมีการเตรียมวางแผนไว้ควบคู่กับแผนการโจมตีทางอากาศ แต่แผนการส่วนนี้ถูกปฏิเสธเพราะต้องใช้กำลังพลและทรัพยากรมาก กองบัญชาการญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการยึดครองฟิลิปปินส์มากกว่า แต่เมื่อการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ผ่านไปแล้ว กองบัญชาการญี่ปุ่นถึงคิดได้ว่าตนพลาดโอกาสสำคัญในการบุกยึดฮาวายไป และเริ่มวางแผนบุกยึดฮาวายอีกครั้งโดยจะเริ่มปฏิบัติการระหว่างปี ค.ศ.1942 – 1943
ระหว่างที่กองเรือคิโด บุไตมุ่งหน้ากลับญี่ปุ่นหลังการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เกนดะก็คิดแผนการใหม่ขึ้นมาได้ เนื่องจากกองเรือที่ 4 (4th Fleet) ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจให้บุกยึดเกาะเวค (Wake) เผชิญการต่อต้านอย่างหนัก ไม่สามารถยึดเกาะได้ เกนดะจึงวางแผนว่าแทนที่กองเรือคิโด บุไตจะรีบตรงกลับญี่ปุ่น พวกเขาควรจะมุ่งหน้าไปที่เกาะทรัค (Truk) เพื่อเติมเสบียงและน้ำมัน จากนั้นก็แวะรับทหารที่ยกพลขึ้นบกเข้ายึดเกาะกวม (Guam) ก่อนหน้านี้ พร้อมกับกำลังพลที่กำลังจะถูกส่งไปยึดเกาะราบวล (Rabual) เปลี่ยนเป้าหมายไปสมทบกับกองเรือที่ 4 บุกยึดเกาะเวค เกาะมิดเวย์ (Midway) และหมู่เกาะจอห์นสตัน (Johnston) แทน เพื่อใช้เป็นฐานทัพในมหาสมุทรแปซิฟิกกลาง เตรียมบุกยึดหมู่เกาะฮาวายในอนาคต เขามองว่าต่อให้สหรัฐฯส่งเรือบรรทุกเครื่องบินที่เหลือมาขัดขวางก็ไม่มีทางสู้เรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่น 6 ลำพร้อมกันได้ ตอนแรกพลเรือโทนากุโมะสนับสนุนแผนการของเกนดะ แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนใจ ส่งเพียงเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำจากกองพลเรือบรรทุกเครื่องบินที่ 2 คือโซริวและฮิริวไปสนับสนุนการยึดเกาะเวคเท่านั้น ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินลำอื่นๆมุ่งตรงกลับญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นพลาดโอกาสในการยึดครองเกาะมิดเวย์ไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่านายทหารเรือระดับสูงของญี่ปุ่นไม่เข้าใจแนวคิดของเกนดะที่ต้องการให้รวมกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าด้วยกัน และเริ่มแยกกองพลเรือบรรทุกเครื่องบินออกปฏิบัติการเดี่ยวๆอีกครั้ง
หลังการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ผ่านไป เกนดะยังคงช่วยงานพลเรือโทนากุโมะบนเรือบรรทุกเครื่องบินอาคากิ จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1942 และต้องสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำคืออาคากิ คากะ โซริว และฮิริว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกองเรือคิโด บุไตในขณะนั้น (โชกากุและซุยกากุถูกส่งไปเข้าร่วมยุทธนาวีที่ทะเลคอรัลก่อนหน้านั้น จึงไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการที่มิดเวย์) ต่อมาเกนดะได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการกองบินที่ 11 (11th Air Fleet) ที่เกาะราบวล และได้เลื่อนยศเป็นนาวาเอก (Captain) ในปี ค.ศ.1944 ก่อนจะกลับญี่ปุ่นไปรับตำแหน่งในคณะเสนาธิการทหารเรือ

(Wikimedia Commons/ Public Domain)
เมื่อสหรัฐฯทำการรุกใกล้เข้ามาเรื่อยๆและเริ่มทิ้งระเบิดเกาะใหญ่ของญี่ปุ่น เกนดะก็มีบทบาทในการจัดตั้งกองบินทหารเรือที่ 343 (343rd Naval Air Group) เพื่อปกป้องญี่ปุ่นจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ รวบรวมกำลังพลจากนักบินขับไล่ฝีมือดี ใช้เครื่องบินขับไล่ที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของญี่ปุ่นคือ Kawanishi N1K2-J Shiden-Kai หรือที่นักบินสหรัฐฯตั้งชื่อเล่นว่า George มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับเครื่องบินขับไล่ F6F Hellcat, P-51 Mustang และ F4U Corsair ของสหรัฐฯ เกนดะมองว่าถ้านักบินญี่ปุ่นได้รับการฝึกเพียงพอและมีเครื่องบินรบที่ทันสมัยให้ใช้งาน ก็สามารถต่อกรกับเครื่องบินรบของสหรัฐฯได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การโจมตีแบบพลีชีพหรือกามิกาเซ่ (Kamikaze) แต่อย่างใด กองบินทหารเรือที่ 343 ทำการรบอย่างกล้าหาญจนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 หน่วยจึงถูกยุบไป ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าจากจำนวนนักบินของหน่วย 343 นาย เสียชีวิตในการรบถึง 91 นาย
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นถูกยุบ เกนดะถูกปลดประจำการและออกไปทำธุรกิจส่วนตัว จนกระทั่งมีการสถาปนากองกำลังป้องกันตนเอง (Japan Self-Defense Forces – JSDF) ขึ้นในปี ค.ศ.1954 เกนดะจึงได้กลับมาเป็นทหารอีกครั้ง มียศเป็นพลอากาศตรีในกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่น (Japan Air Self-Defense Force – JASDF) เขาเป็นผู้ผลักดันให้ญี่ปุ่นจัดหาเครื่องบินขับไล่ Lockheed F-104 Starfighter จากสหรัฐฯ โดยเขาได้ไปเยี่ยมชมบริษัท Lockheed และทดลองขับ F-104 ด้วยตัวเองที่รัฐแคลิฟอร์เนียด้วย หลังจากนั้นเขาก็ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ Legion of Merit จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ
เกนดะเกษียณจากกองทัพในปี ค.ศ.1962 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาสูงของญี่ปุ่น (House of Councillors) สังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party – LDP) เขาอยู่ในแวดวงการเมืองเป็นเวลานานกว่า 20 ปี จนกระทั่งเกษียณในปี ค.ศ.1986
เกนดะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1989 ที่กรุงโตเกียว ขณะมีอายุ 84 ปี วันที่เขาเสียชีวิตเป็นวันครบรอบ 44 ปี การยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น และเป็นวันก่อนหน้าวันเกิดครบรอบ 85 ปีของเขาพอดี
สวัสดี
02.02.2022