ขีดความสามารถจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า Grom ของโปแลนด์

ภาพจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า Grom ของโปแลนด์ ตั้งแสดงในนิทรรศการที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ค.ศ.2018
(VoidWanderer/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)

ในสมัยสงครามเย็นโปแลนด์เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหภาพโซเวียต สามารถผลิตยุทโธปกรณ์หลายอย่างได้เองภายในประเทศ หนึ่งในนั้นคือจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า (MANPADS) รุ่น Strela-2M (ชื่อในระบบ NATO คือ SA-7 Grail) ที่โปแลนด์ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาในช่วงยุค 70 อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ช่วงยุค 80 จรวด Strela-2M ก็เริ่มล้าสมัยแล้ว โซเวียตจึงเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีของจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่ารุ่นใหม่คือ 9K38 Igla ให้ แต่กลับเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโปแลนด์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกเสียก่อน โซเวียตจึงไม่ยอมให้สิทธิบัตรจรวด Igla กับโปแลนด์ ส่งผลให้โปแลนด์ตัดสินใจทำการพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่ารุ่นใหม่ที่มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับจรวด Igla เอง เริ่มโครงการในปี ค.ศ.1992 ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าหน่วยข่าวกรองโปแลนด์ลักลอบซื้อเอกสารการออกแบบจรวด Igla มาได้ อาศัยจังหวะที่สหภาพโซเวียตล่มสลายแล้วประเทศอดีตสหภาพโซเวียตต่างประสบปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแทบเอาตัวไม่รอด มีเทคโนโลยีอะไรอยู่ในมือก็เอามาขายหมด เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่ารุ่นใหม่ของโปแลนด์มาก โดยจรวดรุ่นใหม่นี้มีชื่อว่า Grom ภาษาโปแลนด์แปลว่าสายฟ้า เข้าประจำการในปี ค.ศ.1995 ในช่วงแรกๆยังต้องใช้อะไหล่บางชิ้นนำเข้าจากรัสเซีย แต่ต่อมาโปแลนด์ก็สามารถผลิตอะไหล่ได้เองทั้งหมด

จรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า Grom ของโปแลนด์ ออกแบบมาใช้จัดการกับเฮลิคอปเตอร์และอากาศยานที่มีเพดานบินต่ำ สามารถใช้งานได้ด้วยกำลังพลนายเดียว จรวดใช้เชื้อเพลิงแข็ง นำวิถีด้วยอินฟราเรด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 72 มิลลิเมตร ตัวจรวดมีน้ำหนัก 10.5 กิโลกรัม แต่เมื่อรวมน้ำหนักท่อยิงด้วยจะเป็น 16.5 กิโลกรัม ระยะยิง 5.5 กิโลเมตร จรวด Grom สามารถนำไปติดตั้งกับระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นอื่นๆเช่น ZSU-23-4MP Biała และ Poprad ได้ด้วย

ปัจจุบันโปแลนด์ได้ทำการพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า Grom รุ่นใหม่ที่มีความทันสมัยขึ้น มีชื่อว่า Piorun หรือ Grom-M เข้าประจำการเมื่อปี ค.ศ.2019

สวัสดี

04.02.2022

แสดงความคิดเห็น