The Gambler สมรภูมิโลกลืม หนังสั้นอิงประวัติศาสตร์สงครามไทย-ฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้ผมได้ดูหนังสั้น The Gambler สมรภูมิโลกลืม อิงประวัติศาสตร์สมรภูมิบ้านพร้าว ในช่วงสงครามอินโดจีนระหว่างไทยและฝรั่งเศส สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เผยแพร่ในช่อง Youtube ของ Siam Historical Cafe จัดทำโดยทีม A La Carte ร่วมกับกลุ่มนักจำลองประวัติศาสตร์ไทยเช่น 2483 Reenactment Group ใช้งบประมาณจากการระดมทุนจากบุคคลทั่วไป ประมาณห้าหมื่นกว่าบาท หลังดูจบแล้ว ผมขอยกนิ้วให้เลย ภาพรวมถือว่าทำออกมาดีมาก โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงข้อเท็จจริงว่านี่เป็นหนังสั้นสมัครเล่น มีงบประมาณน้อย คงจะคาดหวังฉากสู้รบสเปเชียลเอฟเฟคสุดอลังการไม่ได้ แต่เท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าคนไทยสามารถสร้างหนังอิงประวัติศาสตร์ได้ โดยเฉพาะถ้าได้ทีมงานที่ใจรัก มีความรู้ความสนใจในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และได้รับการสนับสนุนมากพอ มีทีมสนับสนุน คนเขียนบท คนทำเอฟเฟคต่างๆ ฯลฯ ก็น่าจะสามารถสร้างหนังที่มีคุณภาพในระดับที่แข่งขันกับต่างชาติได้ ผู้อ่านที่สนใจสามารถดูหนังสั้น The Gambler สมรภูมิโลกลืม ฉบับเต็มได้ในลิงค์ด้านล่างครับ

หนังสั้น The Gambler สมรภูมิโลกลืม ฉบับเต็มจากช่อง Siam Historical Cafe

โอเคครับ หลังจากแนะนำและวิจารณ์ตัวหนังสั้น The Gambler สมรภูมิโลกลืมอย่างคร่าวๆไปแล้ว หลังจากนี้ผมจะลงรายละเอียดประเด็นต่างๆเช่นชื่อเรื่อง ความสมจริงของเครื่องแบบและอุปกรณ์ประกอบฉาก ฯลฯ พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะเผื่อในอนาคต มีหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนสนใจ ให้การสนับสนุนต่อยอดหนังสั้นเรื่องนี้ไปเป็นหนังเรื่องยาวพร้อมกันไปในตัวด้วย บางประเด็นอาจจะยาวหรือมีรายละเอียดเยอะนิดหน่อย ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ

ขอเริ่มจากชื่อเรื่องก่อนนะครับ ชื่อ The Gambler ถ้าแปลภาษาอังกฤษตรงตัวก็คือนักพนันหรือนักเสี่ยงโชค ผมเข้าใจว่าทางทีมงานน่าจะสื่อถึงขุนนิมมานกลยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้วางแผนการตั้งรับของฝ่ายไทยในสมรภูมิบ้านพร้าวแห่งนี้ เนื่องจากท่านขัดคำสั่งของกองบัญชาการ ทำการจัดแนวรบใหม่จากข้อมูลที่ตัวท่านพบเห็นในพื้นที่สนามรบจริง ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรง ถ้าเกิดท่านตัดสินใจผิดพลาด อาจส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต่อให้ตัวท่านรอดชีวิตมาได้ ก็คงถูกตัดสินประหารชีวิต เหมือนเป็นการเสี่ยงโชค อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับชื่อ The Gambler เท่าไหร่ เพราะคนที่จะถูกเรียกว่านักเสี่ยงโชคได้นั้นน่าจะต้องมีนิสัยชอบเสี่ยงโชคอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่มาจากการตัดสินใจในสนามรบเพียงครั้งเดียว ผมไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขุนนิมมานกลยุทธ์มากนัก แต่ถ้าท่านมีนิสัยชอบเสี่ยงโชคจริง ในอนาคตถ้ามีการทำหนังเรื่องยาว ก็น่าจะมีฉากแสดงนิสัยชอบเสี่ยงโชคของท่านด้วย อาจจะเป็นเรื่องราวในวัยเด็กหรือในค่ายทหารก็ได้ (ถ้ามี) แล้วนำมาสู่ไคลแมกซ์ที่ท่านตัดสินใจเสี่ยงฝ่าฝืนคำสั่ง แต่ถ้านี่เป็นการตัดสินใจครั้งเดียวของท่าน ก็น่าจะเปลี่ยนชื่อหนังเป็น The Gamble หรือ The Gambling มากกว่า เพื่อสื่อถึงการเสี่ยงโชคในสมรภูมิครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับชื่อภาษาไทยว่าสมรภูมิโลกลืม ที่สื่อถึงตัวเหตุการณ์เหมือนกันด้วย

มาต่อกันที่ตัวละคร เท่าที่ผมอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมรภูมิบ้านพร้าว ดูเหมือนว่าแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่จะเน้นเอ่ยชื่อแต่ขุนนิมมานกลยุทธ์เท่านั้น แต่ถ้าจะทำหนังเรื่องยาว จะให้ทั้งเรื่องมีแต่ท่านคนเดียวคงเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็คงต้องสมมติตัวละครทหารในหน่วยขึ้นมา ให้แต่ละคนมีภูมิหลังและบทบาทน่าสนใจ รวมถึงอาจจะถือโอกาสใส่ตัวละครทหารฝรั่งเศสเข้าไป นำเสนอเรื่องราวจากฝั่งตรงข้ามบ้างก็ได้ ถ้าไม่กระทบกับการดำเนินเรื่อง เพราะส่วนตัวผมไม่อยากสร้างภาพฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพระเอกหรือตัวร้ายมากเกินไป แล้วก็ถ้าเกิดได้นักแสดงต่างชาติมารับบททหารฝรั่งเศสและทหารอาณานิคม ก็อาจจะช่วยให้หนังเรื่องนี้สามารถไปฉายในต่างประเทศได้ด้วย นอกจากนี้ถ้าสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับทหารผ่านศึกในสมรภูมิดังกล่าว และครอบครัวของท่านให้ความยินยอม (ปัจจุบันทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สองน่าจะเสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว) ก็อาจจะสร้างตัวละครอิงจากทหารผ่านศึกเลยก็ได้ เป็นการให้เกียรติและเผยแพร่เรื่องราวของพวกท่าน

ถัดมาเป็นเรื่องเครื่องแบบและอุปกรณ์ประกอบฉาก เนื่องจากนักแสดงส่วนใหญ่เป็นนักจำลองประวัติศาสตร์ ดังนั้นเรื่องรายละเอียดความถูกต้องของเครื่องแบบ อุปกรณ์ และอาวุธต่างๆแทบไม่มีที่ติเลย แต่ถ้าจะทำหนังยาวโดยเน้นความถูกต้องตรงตามประวัติศาสตร์นั้นจะมีผลเสียอยู่บ้างในเรื่องงบประมาณครับ เพราะชุดทหารในอดีตนั้นมีราคาแพงมาก เท่าที่ผมลองสืบราคาชุดเครื่องแบบ หมวกเหล็ก เหรียญตรา เครื่องสนาม ฯลฯ ของทหารประเทศต่างๆสมัยสงครามโลก ถ้าจะแต่งเต็มยศจริงๆอาจต้องใช้งบถึงหลักหมื่นบาท ยังไม่รวมตัวอาวุธซึ่งอาจต้องใช้เป็นปืน BB Gun หรือไม่ก็สั่งทำจำลองขึ้นเป็นพิเศษ (กรณีเป็นชุดทหารของหน่วยหรือประเทศที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักก็อาจต้องสั่งตัดเท่านั้น ไม่มีขายแบบสำเร็จรูป) ในกรณีของหนังเรื่องนี้ถ้าไม่ได้ใช้นักจำลองประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเครื่องแบบและของสะสมต่างๆเป็นของตัวเองอยู่แล้วมารับบท แต่ต้องจัดหาเครื่องแบบและอุปกรณ์ต่างๆใหม่หมด งบแค่ห้าหมื่นบาทไม่พอแน่นอน และจุดนี้ก็จะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องนึกถึงถ้าจะมีการทำหนังอิงประวัติศาสตร์การทหารของไทยในอนาคตครับ สมมติว่าหนังมีทุนสร้าง 50 ล้านบาทไม่รวมค่าโฆษณา ซึ่งงบเท่านี้ก็ถือว่าสูงมากสำหรับหนังไทยแล้ว (มีข้อมูลจากนิตยสาร Positioning ระบุว่าหนังค่าย GDH เรื่องหนึ่งปกติจะมีทุนสร้างประมาณ 20 – 30 ล้านบาทเท่านั้น ไม่รวมค่าโฆษณา) ถ้าจ่ายเป็นค่าเครื่องแบบและอาวุธราคาชุดละ 10,000 บาท มีนักแสดงทั้งตัวเอกและตัวประกอบรับบททหารรวมกัน 50 คน ซึ่งจำนวนนี้ผมคิดว่าน้อยที่สุดแล้วสำหรับฉากสู้รบสเกลใหญ่ๆ แค่นี้ก็ต้องใช้งบถึง 500,000 บาทหรือ 1% ของงบทั้งหมดแล้ว ถือว่าสูงพอสมควรทีเดียว ไหนจะอาวุธหนัก รถถัง ปืนใหญ่อีก ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องค่าตัวนักแสดงและทีมงาน ค่าสถานที่ถ่ายทำ ค่าสเปเชียลเอฟเฟค ฯลฯ เลย เรื่องนี้พอจะแก้ไขได้โดยการจ้างกลุ่มนักจำลองประวัติศาสตร์ ซึ่งมีของพร้อมอยู่แล้วมารับบทอย่างน้อยที่สุดก็ตัวประกอบ (ถ้าจะทำหนังเรื่องยาว คนที่จะรับบทตัวเอกก็คงต้องเป็นนักแสดงมืออาชีพ) แต่เนื่องจากการจำลองประวัติศาสตร์ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร และเป็นงานอดิเรกที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับระดับรายได้ของคนไทยส่วนใหญ่ ก็ต้องดูด้วยว่าจำนวนนักจำลองประวัติศาสตร์มีเพียงพอรับบทหรือไม่ ถ้ามีไม่พอ โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ต้องใช้ตัวแสดงมาเข้าฉากจำนวนมาก สุดท้ายทีมงานก็คงต้องเจียดงบไปซื้อเครื่องแบบและอุปกรณ์มาเพิ่มเองอยู่ดี ก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วย เรียกได้ว่าหนังอิงประวัติศาสตร์นั้นต้นทุนสูงมากทีเดียว ถ้าไม่ประสบความสำเร็จจริงหรือได้ไปฉายต่างประเทศด้วย โอกาสขาดทุนสูงมาก และในกรณีเลวร้ายคือหนังมีทุนสร้างแค่ 10 ล้านบาท พอๆกับหนังไทยส่วนใหญ่ เรื่องความถูกต้องสมบูรณ์ของชุดเครื่องแบบและอุปกรณ์ต่างๆคงลืมไปได้เลย อย่างมากก็คงใช้ได้แค่เกรดรีโปรจีน (ถ้านึกภาพไม่ออก ลองหาคลิปละครจีนรบกับญี่ปุ่นใน Youtube ดู เกรดประมาณนั้นแหละครับ) แล้วก็ขอยืมปืนไรเฟิล M1 Garand จากคลังของทหารมาเนียนเข้าฉากเอา

ต่อมาก็เรื่องอนิเมชั่นที่ทีมงานนำมาใช้แทนการถ่ายทำฉากสู้รบจริง เฉพาะตัวอนิเมชั่นผมคิดว่าทำออกมาใช้ได้เลย ทั้งภาพ สี เทคนิคเคลื่อนไหวต่างๆ ภายใต้งบและเวลาที่จำกัด แต่ก็ต้องยอมรับตามตรงว่าพอหนังสั้นตัดฉากจากคนแสดงไปเป็นอนิเมชั่น ก็ทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปพอสมควร ผมคิดว่าทางที่ดีน่าจะทำเป็นอนิเมชั่นทั้งเรื่องไปเลย หรือไม่ก็แก้บทใหม่ หาทางลดฉากสู้รบลง เปลี่ยนไปนำเสนอด้วยวิธีอื่นมากกว่า ทีนี้ถ้าจะมีการทำเป็นหนังเรื่องยาว แล้วไม่มีอนิเมชั่นเลยก็ต้องบอกว่าเสียดายฝีมือของทีมงาน ดังนั้นผมคิดว่าถ้าเปลี่ยนเป็นใช้อนิเมชั่นเฉพาะกับการเล่าเหตุการณ์ในอดีตหรือฉากจำลองแผนการต่างๆ ที่เป็นเรื่องในความคิดของตัวละคร ก็น่าจะใช้ได้ ยกตัวอย่างตอนที่ขุนนิมมานกลยุทธ์ วางแผนวางกับดักทหารฝรั่งเศส ก็เปลี่ยนไปใช้อนิเมชั่นจำลองเหตุการณ์ในความคิดของขุนนิมมานกลยุทธ์ แล้วฉากรบจริงก็ใช้คนแสดง สเปเชียลเอฟเฟคต่างๆเต็มที่เลยก็น่าจะได้อยู่

พูดถึงเหตุการณ์ในอดีต ผมคิดว่าผู้อ่านที่เคยดูหนังอิงประวัติศาสตร์ มักจะคุ้นเคยกับการนำภาพหรือวิดีโอเหตุการณ์จริงในอดีตมาประกอบการปูพื้นเรื่องราวในตอนต้นเรื่องอยู่ เช่นหนังที่เกี่ยวกับสงครามแปซิฟิค ก็มักจะต้องเริ่มปูพื้นที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ แล้วเล่าประวัติศาสตร์คร่าวๆมาจนถึงจุดเริ่มต้นของสมรภูมิในหนัง เป็นต้น ปัญหาสำคัญคือภาพและวิดีโอที่ว่ามักจะยังมีลิขสิทธิ์ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นของเว็บ Stock Photo ต่างๆเช่น Getty Images, Alamy ฯลฯ หรือไม่ก็คลังข้อมูลของสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น German Federal Archives ของเยอรมนี, RIA Novosti Archives ของรัสเซีย ฯลฯ ซึ่งการจะนำมาใช้ประกอบหนังในเชิงพาณิชย์ ก็จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา (เป็นสาเหตุว่าทำไมหนังสือประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษจำนวนมากมีรูปแค่นิดเดียว) ก็ต้องมาดูกันว่าจากทุนสร้างหนังเท่าที่มี สามารถแบ่งมาใช้ตรงส่วนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ก็อาจทำเป็นอนิเมชั่นแทนไปเลยก็ได้ เป็นการเตรียมปรับอารมณ์ให้ผู้ชมเลยว่าหนังเรื่องนี้จะมีการใช้อนิเมชั่นประกอบนะ

พูดถึงภาพและวิดีโอประกอบไปแล้ว มาต่อกันที่เพลงประกอบหนังหรือ Soundtrack กันบ้าง ถ้าจะลงทุนทำหนังเรื่องยาว ผมอยากให้มีการจ้างนักแต่งเพลงและวงดนตรีทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้เรื่องเดียวเป็นการเฉพาะไปเลย ไม่ใช่เอาไปรียูสรีไซเคิลกันแบบเพลงและหนังไทยหลายๆเรื่อง สาเหตุหนึ่งที่หนังต่างประเทศหลายเรื่องประสบความสำเร็จ คนส่วนใหญ่ยังดูหรือจำได้อยู่ ก็เพราะมีเพลงประกอบของตัวเองเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครนี่แหละ Star Wars มีเพลงของตัวเอง Pirates of the Caribbean มีเพลงของตัวเอง James Bond มีเพลงของตัวเอง หนังอิงประวัติศาสตร์เช่น Dunkirk ก็มีเพลงของตัวเอง สอดคล้องไปกับบรรยากาศและอารมณ์เฉพาะของหนัง ช่วยให้หนังเหล่านี้ประสบความสำเร็จ หนังไทยก็ควรทำแบบเดียวกัน ลงทุนเพิ่มนิดหน่อย และเป็นการช่วยสนับสนุน นักแต่งเพลงและศิลปินนักร้อง นักดนตรีของไทยให้มีงานและรายได้มากขึ้นด้วย

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผมโดยรวมก็คงจะมีเท่านี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ ส่วนตัวผมสนับสนุนการสร้างหนังอิงประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การรบของกองทัพไทยสมัยใหม่ ตั้งแต่สงครามอินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นมาก พูดไปแล้วก็แอบนึกถึงโครงการของนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการส่งเสริมการสร้างหนังอิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังมีอยู่หรือไม่ คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ถ้ายังมีโควตาหนังและงบประมาณเหลือ ผมก็สนับสนุนให้ต่อยอดหนังสั้น The Gambler สมรภูมิโลกลืม สร้างเป็นหนังเรื่องยาวให้สมเกียรติยศไปเลย ไหนๆผมก็เขียนบทความมายืดยาวขนาดนี้แล้ว (ฮา)

สวัสดี

06.02.2022

แสดงความคิดเห็น