
(Alf van Beem/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่คลิปการซ้อมรบของกองทัพยูเครน มีอาวุธหนักเข้าร่วมทั้งรถถัง T-80 หรือ T-64, ระบบจรวดต่อสู้รถถังอัตตาจร Shturm-S, ระบบวางทุ่นระเบิด PMZ-4 ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจคือแม้ยูเครนจะมีจรวดต่อสู้รถถังใช้งานอยู่หลายรุ่น ทั้งของเก่าจากยุคโซเวียต, รุ่นที่พัฒนาเอง รวมถึงที่ได้รับมาจากสหรัฐฯและพันธมิตร กองทัพยูเครนกลับยังคงใช้งานปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง MT-12 Rapira (Рапира ภาษารัสเซียแปลว่าดาบ Rapier) และ MT-12R Ruta ขนาด 100 มิลลิเมตร ของสหภาพโซเวียตจากยุค 70 – 80 อยู่
ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง MT-12 Rapira ขนาด 100 มิลลิเมตรของโซเวียต เข้าสู่สายการผลิตในปี ค.ศ.1970 พัฒนาต่อยอดมาจากปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง T-12 ซึ่งเข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 ใช้พลประจำปืน 7 นาย หนัก 3.1 ตัน ความกว้างปากลำกล้อง 100 มิลลิเมตร ความยาวลำกล้อง 63 คาลิเบอร์ ระยะยิงไกลสุด 8.2 กิโลเมตร (ขึ้นกับชนิดของกระสุน) อัตราการยิง 6 – 14 นัดต่อนาที การเคลื่อนย้ายที่ตั้งปกติจะใช้รถสายพานลำเลียงพล MT-LB
สำหรับปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง MT-12R Ruta ก็คือ MT-12 Rapira ที่ได้รับการอัพเกรดติดตั้งเรดาร์ RLPK-1 เพื่อช่วยค้นหาเป้าหมายในภาวะทัศนวิสัยไม่ดี เช่นกรณีที่มีควันหรือหมอกหนา เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตช่วงต้นทศวรรษ 1980
แม้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังตระกูล MT-12 จะเก่ามากแล้ว แต่ยูเครนไม่ใช่ประเทศเดียวที่ยังใช้งานปืนใหญ่ต่อสู้รถถังรุ่นนี้อยู่ ปัจจุบันกองทัพรัสเซียก็ยังมี MT-12 ประจำการอยู่เช่นกัน เห็นได้จากคลิปวิดีโอการซ้อมรบของหน่วยทหารปืนใหญ่สังกัดกองเรือภาคเหนือของรัสเซียที่พึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวานนี้เอง มีการใช้งานปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง MT-12 คู่กับปืนใหญ่อัตตาจร 2S3 Akatsiya ขนาด 152 มิลลิเมตร
หากเปรียบเทียบปืนใหญ่ต่อสู้รถถังเช่น MT-12 Rapira และจรวดต่อสู้รถถังเช่น 9M133 Kornet, BGM-71 TOW, FGM-148 Javelin ฯลฯ จรวดต่อสู้รถถังจะมีจุดที่เหนือกว่าตรงที่สามารถใช้งานได้ด้วยกำลังพลเพียง 1 – 2 นาย มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายที่ตั้งและทำการซ่อนพรางได้สะดวก รวมถึงมีระยะยิงไกลกว่าด้วย ต่างจากปืนใหญ่ที่ยิ่งความกว้างปากลำกล้องมากขึ้น ขนาดและน้ำหนักของปืนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยากต่อการเคลื่อนย้ายซ่อนพราง เป็นปัญหากับปืนใหญ่ต่อสู้รถถังรุ่นใหม่ๆมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว เป็นสาเหตุที่ประเทศต่างๆทยอยเลิกใช้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังเปลี่ยนไปใช้จรวดแทน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าปืนใหญ่ต่อสู้รถถังจะหาข้อดีไม่ได้เลย ข้อดีของปืนใหญ่ต่อสู้รถถังคือมีอายุการใช้งานยาวนาน กระสุนปืนใหญ่มีราคาถูกกว่าจรวดต่อสู้รถถัง อัตราการยิงสูงกว่า สามารถทำการยิงสนับสนุนในแนวหน้าได้ต่อเนื่อง ใช้งานได้อเนกประสงค์กว่า แม้ขีดความสามารถของปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง MT-12 จะไม่เพียงพอรับมือรถถังรุ่นใหม่ๆเช่น M1 Abrams หรือ T-90 แล้ว แต่ก็สามารถรับมือรถถังรุ่นเก่าๆเช่น T-55 ได้ กระสุนเจาะเกราะของ MT-12 ยังสามารถใช้ทำลายยานเกราะและยานพาหนะประเภทอื่นๆได้ด้วย แม้จรวดต่อสู้รถถังจะสามารถใช้ในภารกิจดังกล่าวได้เช่นกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบความคุ้มค่าแล้ว การใช้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง (อาจเทียบได้กับปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง – ปรส. ของหลายๆประเทศ) ในการจัดการเป้าหมายประเภทยานพาหนะและยานเกราะทั่วๆไป ควบคู่กับการใช้จรวดต่อสู้รถถังในการทำลายรถถังรุ่นใหม่ๆ ถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ามากกว่าการใช้จรวดต่อสู้รถถังเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีงบประมาณจำกัด อาจเป็นสาเหตุที่ทั้งรัสเซียและยูเครนยังคงใช้งานปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง MT-12 อยู่
สวัสดี
15.02.2022