
(U.S. Marine Corps Photo by Cpl. Justin T. Updegraff/Released)
มีข่าวจาก Army recognition และ Rossiyskaya Gazeta รายงานว่ากองทัพอิรักพึ่งได้รับมอบยานเกราะมือสองจากบัลแกเรีย ประกอบด้วยรถถัง T-72M1/M2 จำนวน 10 คันและรถรบทหารราบ BMP-1 จำนวน 20 คัน เป็นส่วนหนึ่งของสัญญามูลค่า 245 ล้านเหรียญที่อิรักลงนามกับบัลแกเรียเมื่อ เดือนมิถุนายน ค.ศ.2021 และในอนาคตก็จะมีการส่งมอบยุทโธปกรณ์ให้อิรักตามสัญญานี้เพิ่มเติมอีก
รถถัง T-72 ของบัลแกเรียจะมีอยู่ 2 รุ่นหลักๆครับคือ T-72M1 ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของรถถัง T-72A ของสหภาพโซเวียต (บัลแกเรียเคยเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอหรือ Warsaw Pact สมัยสงครามเย็น) กับรถถัง T-72M2 ซึ่งบัลแกเรียพัฒนาต่อยอดจาก T-72M1 โดยเสริมเกราะให้หนาขึ้นและติดตั้งกล้องมองกลางคืนกับอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนรุ่นใหม่เพิ่มเติม ผมใช้คำว่าอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน เพราะแหล่งข้อมูลที่ผมเจอใช้คำว่า thermal device ไม่ใช่ thermal sight ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า T-72M2 ของบัลแกเรียยังไม่มีกล้องจับความร้อนเหมือนรถถังรุ่นใหม่ๆครับ ยังใช้อินฟราเรดเหมือนรถถัง T-72 รุ่นเก่าๆอยู่ ข้อมูลรถถังรุ่นนี้หาค่อนข้างยากเพราะชื่อเหมือนรถถัง T-72M2 Moderna ของเชโกสโลวาเกียซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่า
สมัยซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) กองทัพอิรักเคยมีรถถังมากกว่า 5,500 คัน (ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นรถถัง T-62) แต่ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) และสงครามอิรัก ค.ศ.2003 (2003 invasion of Iraq) ปัจจุบันกองทัพอิรักมีรถถังประจำการอยู่ประมาณ 391 คันเท่านั้น เป็นรถถัง M1A1 Abrams ประมาณ 100 คัน (จริงๆแล้วอิรักมีรถถัง M1A1 จำนวน 321 คันแต่สูญเสียไปจำนวนมากระหว่างการสู้รบกับ IS ส่วนที่เหลือก็มีปัญหาในการซ่อมบำรุง), รถถัง T-90S จำนวน 73 คัน, รถถัง T-72M/M1 ประมาณ 168 คันและรถถัง T-55 อีกประมาณ 50 คัน นอกจากนี้ก็ยังมีรถถังรุ่นเก่าจากยุคซัดดัมรวมถึงราชสีห์แห่งบาบิโลน (Lion of Babylon) สำรองไว้ในคลังอีกจำนวนหนึ่ง สถานการณ์ของยานเกราะประเภทอื่นๆรวมถึงรถรบทหารราบก็ไม่ต่างกันมากนัก อิรักจึงมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูกำลังรบขึ้นมาใหม่เพื่อรับมือภัยคุกคามต่างๆ รวมถึงถ่วงดุลกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแต่สายโหดทั้งนั้นเช่นตุรกี อิหร่าน ฯลฯ เมื่อไม่กี่วันก่อนก็มีข่าวใน Defense News ว่าอิรักต้องการจัดหารถถัง T-90S จากรัสเซียเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามเนื่องจากอิรักมีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถจัดหายุทโธปกรณ์รุ่นใหม่มือหนึ่งจำนวนมากได้ ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่อาจมีผลกับการจัดหาอาวุธอีก (เช่นการใช้กฎหมาย CAATSA ของสหรัฐฯ) ดังนั้นการจัดหายานเกราะมือสองจากประเทศในยุโรปตะวันออก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของอิรัก ช่วยให้สามารถจัดหายานเกราะที่ทหารอิรักมีความคุ้นเคยอยู่แล้วได้ในราคาถูก แต่ก็ต้องทำใจว่าขึดความสามารถคงสู้ยานเกราะรุ่นใหม่ๆไม่ได้แล้ว เช่นรถถัง T-72M1 นั้นก็เป็นรุ่นเดียวกับที่กองทัพอิรักสมัยซัดดัมเคยใช้ ส่วน T-72M2 รุ่นอัพเกรดของบัลแกเรียก็ไม่ได้มีขีดความสามารถเหนือกว่า T-72M1 เดิมอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับรถรบทหารราบ BMP-1 ที่อิรักรับมอบมาพร้อมกันนั้นก็แทบไม่ได้อัพเกรดอะไรมาเลย แม้แต่รางปล่อยจรวดต่อสู้รถถัง 9M14 Malyutka หรือ AT-3 Sagger ซึ่งหลายประเทศรวมถึงอิรักเลิกใช้ไปแล้วก็ยังติดตั้งอยู่ ไม่ได้ถอดออก
สวัสดี
17.02.2022