
การที่อิรักจัดหารถถัง T-72M1/M2 จากบัลแกเรีย หลังจากเมื่อไม่กี่ปีก่อนก็พึ่งจัดหารถถัง T-90S จำนวน 73 คันจากรัสเซีย และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่อิรักจะจัดหา T-90S เพิ่มเติมอีก ส่งผลให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าทำไมอิรักยังจัดหารถถังค่ายโซเวียต/รัสเซียอยู่ ทั้งที่กองทัพอิรักก็มีรถถัง M1A1 Abrams จากสหรัฐฯอยู่แล้ว เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ
ก่อนอื่นผมจะพูดถึงขีดความสามารถของรถถัง M1A1 ก่อน หลายคนประทับใจรถถังรุ่นนี้เพราะผลงานในปฏิบัติการพายุทะเลทราย (Operation Desert Storm) ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) ในปี ค.ศ.1991 และการบุกอิรักในปี ค.ศ.2003 ซึ่งรถถังสหรัฐฯสามารถทำลายรถถังของอิรักได้เป็นจำนวนมาก โดยฝั่งสหรัฐฯมีความสูญเสียน้อยมาก อย่างไรก็ตามแม้รถถัง M1A1 จะมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเหนือกว่ารถถังโซเวียตในยุคเดียวกันอย่างรถถัง T-72B รุ่นปี 1989 หรือ T-80U ปัจจัยสำคัญที่สหรัฐฯสามารถทำลายรถถังอิรักได้เป็นจำนวนมาก เป็นเพราะรถถังอิรักส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นรถถังรุ่นเก่าเช่น T-54/55, T-62 และ Type-69 ขณะที่รถถังตระกูล T-72 ของอิรักก็เป็นรถถังรุ่นส่งออกที่ถูกดาวน์เกรดลงมาคือ T-72M/M1 ไม่ต้องพูดถึงเจ้าเหมียว เอ้ย ราชสีห์ Lion of Babylon ที่อิรักดันทุรังสร้างมา ซึ่งจริงๆแล้วไม่ควรนับญาติกับรถถัง T-72 ด้วยซ้ำ นอกจากรถถังอิรักจะเป็นรถถังรุ่นเก่าที่ขีดความสามารถเทียบไม่ได้กับรถถัง M1A1 รุ่นที่สหรัฐฯใช้เองแล้ว พลประจำรถถังของอิรักยังได้รับการฝึกไม่ดีพอด้วย จึงไม่มีโอกาสที่รถถังอิรักจะสู้สหรัฐฯได้เลยตั้งแต่แรก การที่สหรัฐฯเอาชนะอิรักได้อย่างง่ายดาย จึงไม่ได้ทำให้ M1A1 เป็นรถถังวิเศษอย่างที่หลายคนเข้าใจ
จุดเด่นของรถถัง M1A1 ของสหรัฐฯ คือเกราะป้องกันตัวที่เสริมด้วยแผ่นเกราะผลิตจากยูเรเนียมที่เสื่อมสภาพแล้ว ติดอยู่บริเวณด้านหน้าของป้อมปืนซึ่งเป็นจุดที่มีโอกาสถูกยิงมากที่สุด ช่วยให้เกราะบริเวณดังกล่าวมีความหนาขึ้นมาก แต่ในรถถังรุ่นส่งออกจะไม่มีการเสริมแผ่นเกราะยูเรเนียมดังกล่าวแต่อย่างใด ระบบป้องกันตัวของรถถัง M1A1 ของอิรักจึงถือว่าธรรมดามาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่อิรักสูญเสีย M1A1 จำนวนมากระหว่างการสุ้รบกับกลุ่ม IS
นอกจากขีดความสามารถรถถัง M1A1 ของอิรักจะถือว่าธรรมดาแล้ว ยังมีปัญหาในการซ่อมบำรุงด้วย เพราะกองทัพอิรักไม่สามารถซ่อมบำรุงรถถังรุ่นนี้ได้เอง ต้องพึ่งพาบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ และการดำเนินการต่างๆของบริษัทเหล่านี้ก็ขึ้นกับนโยบายของสหรัฐฯเป็นสำคัญ เป็นปัญหามากระหว่างการสู้รบกับกลุ่ม IS เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวทหารอิรักสู้กลุ่ม IS ไม่ได้เลย แตกทัพถอยหนีตลอด รัฐบาลอิรักต้องพึ่งพากองกำลังติดอาวุธนิกายชีอะห์เช่น Popular Mobilization Forces (PMF) หรือบางครั้งนิยมเรียกกันว่า Popular Mobilization Units (PMU) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านช่วยสู้กับกลุ่ม IS ไม่อย่างนั้นรัฐบาลอิรักอาจล่มสลายไปแล้ว แต่ก็หมายความว่าอิรักต้องส่งอาวุธหนักให้ PMU ใช้งาน รวมถึงรถถัง M1A1 ด้วย ส่งผลให้สหรัฐฯไม่พอใจมาก กลัวว่าเทคโนโลยีอาวุธของสหรัฐฯจะตกไปอยู่ในมืออิหร่าน จึงยกเลิกการซ่อมบำรุงรถถัง M1A1 ของอิรัก ความพร้อมรบของรถถัง M1A1 ของอิรักจึงลดลงมาก ข้อมูลล่าสุดระบุว่าปัจจุบันอิรักมีรถถัง M1A1 อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานประมาณ 100 คันเท่านั้นจากจำนวนรถถัง M1A1 ทั้งหมด 321 คันที่อิรักจัดหาจากสหรัฐฯ ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้นเอง
นอกจากเรื่องความพร้อมรบของรถถัง M1A1 ที่ต่ำเพราะต้องขึ้นกับนโยบายของสหรัฐฯแล้ว ยังมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย ย่อหน้าก่อนผมเอ่ยถึงอิหร่านไปแล้ว ขออธิบายก่อนว่าหลังจากที่สหรัฐฯบุกอิรักโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ไปแล้วนั้นสหรัฐฯไม่ได้ปกครองอิรักเด็ดขาดเหมือนญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อซัดดัมหมดอำนาจ จึงเกิดสุญญากาศขึ้นในอิรัก เปิดโอกาสให้อิหร่านแทรกตัวเข้ามาแทนที่ ประกอบกับคนอิรักส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อยู่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปอิทธิพลของอิหร่านจึงเข้มแข็งมาก รัฐบาลอิรักต้องหาทางถ่วงดุลระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามกัน หนึ่งในวิธีการที่อิรักจะใช้ถ่วงดุลได้ก็คือการดึงมหาอำนาจที่สามเข้ามา
ช่วงปลายปี ค.ศ.2015 กองทัพรัสเซียเข้าแทรกแซงสงครามซีเรีย ช่วยให้กองทัพรัฐบาลซีเรีย (Syrian Arab Army – SAA) กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ รัสเซียส่งยุทโธปกรณ์จำนวนมากเข้าไปทดสอบประสิทธิภาพในสนามรบจริงที่ซีเรีย หนึ่งในนั้นคือรถถัง T-90A ที่รัสเซียส่งให้ซีเรียใช้งานจำนวนหลายสิบคัน แม้รถถังรุ่นนี้จะไม่ใช่รถถังที่ทันสมัยที่สุด แต่ก็มีประสิทธิภาพเพียงพอในการสนับสนุนทหารซีเรียปราบปรามทั้งกลุ่มกบฏ กลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่ม IS ในซีเรียได้ ระบบป้องกันตัวของรถถัง T-90A ซึ่งประกอบด้วยเกราะคอมโพสิต เกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) รุ่น Kontakt-5 และระบบ Shtora-1 (หลายคนนิยมเรียกว่าตาแดง แต่ความจริงแล้วตัวเซนเซอร์ตาแดงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนี้เท่านั้น) มีประสิทธิภาพเพียงพอรับมือจรวดต่อสู้รถถังรวมถึง TOW ได้ ส่งผลให้ประเทศต่างๆสนใจจัดหาอาวุธจากรัสเซียมากขึ้น ปฏิบัติการในซีเรียยังส่งผลให้อิทธิพลของรัสเซียในตะวันออกกลางเข้มแข็งมากขึ้นด้วย อิรักจึงกระชับสัมพันธ์กับรัสเซีย และจัดหาอาวุธจากรัสเซียหลายอย่างรวมถึงรถถัง T-90S จำนวน 73 คันด้วย
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว รถถัง T-90S ของอิรักมีระบบป้องกันตัวเหนือกว่า M1A1 รุ่นส่งออก แม้ T-90S ของอิรักจะไม่มีตาแดง แต่ก็มีการเสริมเกราะทางด้านข้างของตัวรถคล้ายรถถัง T-72B3 รุ่นปี 2016 หรือ T-72B3M การใช้งานอาวุธของรัสเซียยังมีเงื่อนไขน้อยกว่าของสหรัฐฯ การซ่อมบำรุงก็ทำได้ง่ายกว่าเพราะทหารอิรักมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว
แม้อิรักจะเริ่มจัดหาอาวุธจากรัสเซียมาใช้งานหลายอย่างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบตามเป้า เนื่องจากอิรักมีงบประมาณจำกัด ประกอบกับสหรัฐฯขัดแย้งกับรัสเซีย นำไปสู่การที่สหรัฐฯออกกฎหมาย CAATSA มาขู๋คว่ำบาตรประเทศที่จัดหาอาวุธจากรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ส่งผลให้โครงการจัดหาอาวุธหลายอย่างของอิรักต้องเลื่อนออกไปชั่วคราว ในระหว่างนี้การจัดหาอาวุธค่ายโซเวียตเดิมจากประเทศยุโรปตะวันออกเช่นรถถัง T-72M1/M2 และรถรบทหารราบ BMP-1 จากบัลแกเรียชุดล่าสุด สามารถแก้ปัญหาข้อนี้ได้ เพราะอิรักจะได้อาวุธค่ายโซเวียตซึ่งทหารอิรักมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่ยุคซัดดัมแล้วมาใช้ขัดตาทัพไปก่อนในราคาถูก ในอนาคตเมื่ออิรักมีงบประมาณมากขึ้นหรือสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศเปิดโอกาสให้ อิรักก็อาจจัดหารถถังและยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆจากรัสเซียได้
สวัสดี
19.02.2022